9 ต.ค. 2020 เวลา 04:38 • ธุรกิจ
3 ทักษะสำคัญของการมองอนาคต
เมื่อการมองระยะสั้นหรือมองปัจจุบันไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาใหญ่ที่มีความเป็นซับซ้อนและเป็นพลวัต วิธีการมองอนาคตจึงถูกนำมาใช้มากขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งระดับนโยบายรัฐและกลยุทธ์ของธุรกิจ
อย่างไรก็ตามการมองอนาคตมิได้จำกัดการใช้เฉพาะสำหรับนักวิชาการหรือนักธุรกิจเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามการมองอนาคตเป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการเผชิญกับความท้าทายและเก็บเกี่ยวโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต บทความนี้จะกล่าวถึงทักษะสำคัญที่ควรฝึกฝนเพื่อเพิ่มความสามารถในการมองอนาคต
การมองอนาคต (Foresight) คือ การวิเคราะห์ คาดการณ์ และอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคต หรือเพื่อใช้ออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์
การมองอนาคตจำเป็นต้องใช้ 3 ทักษะที่สำคัญคือ การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และจินตนาการ (Imagination) และสุดท้าย คือการสื่อสาร (Communication)
องค์ประกอบที่หนึ่ง การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking คือ ความพยายามหรือความตั้งใจที่จะคิด ทำความเข้าใจ และตัดสินสิ่งต่าง ๆ โดยอาศัยการตั้งคำถาม การวิเคราะห์เชิงเหตุผลจากหลักฐานหรือข้อสนับสนุนต่างๆ โดยปราศจากความลำเอียงหรือการใช้ความเชื่อแบบเดิมมาใช้ในการตัดสินปัญหา
องค์กรจำนวนมากต่างให้ความสำคัญและทุ่มเทกับการพัฒนาทักษะด้านนี้ให้กับพนักงาน เพราะการเข้าใจปรากฎการณ์หรือสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นได้ถูกต้องและลุ่มลึกกว่า ย่อมเป็นแหล่งที่มาสำคัญของความได้เปรียบในการแข่งขันและความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือนโยบายได้สอดคล้องกับโจทย์ความต้องการมากที่สุด
องค์ประกอบที่สอง ความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creativity คือ ทักษะหรือความสามารถในการนำความรู้ ประสบการณ์ที่มีมาประยุกต์เพื่อสร้างเป็นแนวคิดหรือไอเดียใหม่ๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้แก้โจทย์หรือปัญหาได้ดีขึ้นกว่ารูปแบบเดิม
การที่จะพัฒนาทักษะด้านนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในปัจจุบัน เนื่องจากผู้คนมักติดกับดัก การทำงานรูปแบบองค์กร และมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่ตายตัวตามโครงสร้างบริษัท ดังนั้นการหาโอกาสในการพัฒนาตนเอง เช่น การได้เดินทางท่องเที่ยว หรือการอบรมเสริมความรู้ด้านต่างๆ การสนทนาแลกเปลี่ยนกับผู้คนกลุ่มอื่นๆ ย่อมช่วยเสริมสร้างการพัฒนาทักษะดังกล่าว
องค์ประกอบที่สาม จินตนาการ หรือ Imagination คือ ความสามารถในการสร้างภาพในสมอง ซึ่งภาพที่สร้างขึ้นเหล่านี้ไม่ได้รับรู้ผ่านการมองเห็น การได้ยิน หรือผ่านวิธีการรับรู้วิธีอื่น ๆ
หลายท่านอาจมองว่าการมีจินตนาการเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ในความเป็นจริงเราจะพบว่าบุคคลที่สร้างอุปกรณ์หรือแนวคิดที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลก ล้วนเริ่มต้นสิ่งต่างๆเหล่านั้นจากจินตนาการทั้งสิ้น
และสุดท้ายสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การสื่อสาร หรือ Communication ซึ่งในหลายครั้งปัญหาที่พบมักมีสาเหตุจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกันซึ่งเป็นผลจากการสื่อสารที่ผิดพลาด ทำให้องค์กรเสียประโยชน์หรือโอกาสในการพัฒนาองค์กรจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน
จากเนื้อหาข้างต้นจะเห็นได้ว่า การมองอนาคต เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว สามารถฝึกฝนได้ด้วยตนเอง การติดอยู่กับคำว่า “แบบเดิมดีกว่า” หรือ “ปัจจุบันสำคัญกว่า” จึงเป็นการละทิ้งโอกาสและประโยชน์ที่จะได้รับจากการมองอนาคตไปอย่างน่าเสียดาย
อ่านบทความอื่น ๆ และสนใจปรึกษาข้อมูลแนวคิดการมองอนาคตเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Fanpage: FuturISt@NIDA
Tel: 0803487505
โฆษณา