18 ต.ค. 2020 เวลา 23:00 • สุขภาพ
ลำไส้ใหญ่ผิดปกติหรือไม่ รู้ได้ด้วยการส่องกล้อง
Cr. Sriphat Medical Center
เมื่อแพทย์ตรวจพบอาการผิดปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง
รวมทั้งสงสัยภาวะเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ การตรวจหาความผิดปกตินั้น สามารถทำได้โดย “การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่”
อ.นพ.ชัยวรรธน์ ประดิษฐ์ทองงาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารและตับ
อธิบายว่า การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการตรวจเยื่อบุลำไส้ใหญ่
โดยใช้กล้องขนาดเล็กที่พับงอได้ ใส่ผ่านทางทวารหนักเข้าไปในลำไส้ใหญ่
ซึ่งกล้องมีขนาดความยาวประมาณ 180 เซนติเมตร
เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเยื่อบุผนังลำไส้ด้านใน
ตั้งแต่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายบริเวณทวารหนักไปจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้น
หรือส่วนต่อของลำไส้ใหญ่กับลำไส้เล็ก
โดยนอกจากใช้กล้องส่องทำการตรวจได้แล้ว
แพทย์ยังสามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา
หรือตัดเอาติ่งเนื้อที่มีขนาดไม่ใหญ่มากออกมาได้โดยผ่านกล้องส่องนี้ด้วย
ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจ
1. ผู้ที่มีอาการผิดปกติของระบบลำไส้ใหญ่ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด หรือเป็นเลือดสด ท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเสียเรื้อรัง เป็นต้น
2. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ที่มีการขับถ่ายผิดไปจากเดิม
- ผู้ที่มีญาติทางสายโลหิตใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือผู้ที่มีการเจ็บป่วยเรื้อรังของลำไส้บางอย่าง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าคนอื่น
3. ผู้ที่รับการตรวจเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้ง (barium enema) หรือการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT colonography) แล้วพบความผิดปกติ
4. ผู้ที่รับการตรวจอุจจาระ พบเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ
5. ผู้ที่เคยมีประวัติมีก้อนในลำไส้ใหญ่มาก่อน
6. ผู้ที่ขอรับการตรวจเพื่อการรักษา เช่น ตัดติ่งเนื้อ (polyp) จากลำไส้ ทำหัตถการหยุดเลือดที่ออกในลำไส้ใหญ่ หรือนำสิ่งแปลกปลอม (foreign body) ออกจากลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปตรวจลำไส้ใหญ่
1.แจ้งให้แพทย์ทราบ เมื่อท่านมีประวัติหรือความผิดปกติ ดังนี้ ประวัติการแพ้ยา ,
มีปัญหาโรคหัวใจ โรคปอด , ตั้งครรภ์ , มีประวัติการส่องกล้องก่อนหน้านี้ ,
ประวัติการทานยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือดแข็งตัว เป็นต้น รวมทั้งหากท่านมีโรคประจำตัวและต้องทานยาอยู่เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่า ท่านจำเป็นต้องงดยาในวันตรวจหรือไม่
2. ปฏิบัติตามคำแนะนำในการเตรียมลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องการใช้ยาระบาย เพื่อให้การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทำได้อย่างปลอดภัย และสามารถทำการวินิจฉัยโรคได้ชัดเจน โดยปราศจากผลแทรกซ้อน การมีอุจจาระค้างอยู่ ก่อให้เกิดผลเสีย คือ อาจไปบังบริเวณรอยโรค หรือถ้าอุจจาระมีมาก จะทำให้การใส่กล้องส่องตรวจเป็นไปได้ยาก หรืออาจต้องยกเลิกการตรวจครั้งนั้นไป
3. หลังจากการกินยาระบาย ให้งดอาหารและน้ำดื่ม จนกว่าจะทำการตรวจแล้วเสร็จ
4. ให้ญาติมาด้วยในวันนัดตรวจ เพื่อฝากของมีค่าในระหว่างรับการตรวจ และรอรับผู้ป่วยกลับภายหลังการตรวจ
5. ในกรณีที่แพทย์ต้องใช้ยาระงับความรู้สึก เพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลายขณะตรวจ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการง่วงเป็นระยะเวลาหนึ่งภายหลังการตรวจ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีญาติมาด้วยเพื่อนำผู้ป่วยกลับบ้าน
มีขั้นตอนการตรวจอย่างไร
1. เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล จะเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ทางโรงพยาบาลจัดเตรียมให้ โดยต้องถอดแว่นตา นาฬิกา คอนเทคเลนส์ ฟันปลอมและของมีค่าฝากไว้ที่ญาติ
2. ผู้ป่วยลงนามในใบยินยอมรับการตรวจรักษาด้วยการส่องกล้องตรวจ กรณีที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้ผู้ปกครองลงนามอนุญาตแทน และรับทราบความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการตรวจหรือรักษา
3. ผู้ป่วยจะได้รับสารละลาย (น้ำเกลือ) ทางหลอดเลือด
4. ผู้ป่วยจะได้รับการจัดท่าให้นอนตะแคงซ้าย สะโพกชิดขอบเตียง งอเข่าทั้งสองข้างชิดอก
5. แพทย์จะฉีดยาระงับความรู้สึกเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและง่วง จากนั้นแพทย์จะทำการสอดใส่กล้องส่องตรวจ เมื่อพบสิ่งผิดปกติ แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ขณะตรวจผู้ป่วยอาจรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระหรือแน่นอึดอัดท้อง เนื่องจากแพทย์เป่าลมให้ลำไส้ขยาย เพื่อให้การส่องกล้องตรวจเห็นได้ชัดเจน และแพทย์จะดูดลมออกหลังจากส่องตรวจเสร็จ
6. ระยะเวลาในการส่องกล้องตรวจประมาณ 20-45 นาที หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับการดูแลในห้องพักฟื้น และแพทย์จะแจ้งผลของการส่องกล้องให้กับผู้ป่วยหรือญาติต่อไป
** การให้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดจะทำเฉพาะผู้ป่วยที่มีผู้ติดตามมาด้วยเท่านั้น
ปฏิบัติตัวอย่างไร ภายหลังการตรวจ
1. ผู้ป่วยที่รับตัวไว้ในห้องพักฟื้นจะนอนพักประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อสังเกตอาการภายหลังจากการได้รับยาระงับความรู้สึกระหว่างการตรวจ และเพื่อสังเกตว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวดีแล้วก็สามารถดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารได้ และให้ญาติรับกลับบ้านได้ โดยทางโรงพยาบาลไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยขับยานพาหนะเอง
2. ภายหลังส่องกล้อง ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่น อึดอัดท้อง เจ็บบริเวณท้องน้อยหรือทวารหนัก อาการเหล่านี้จะค่อยๆทุเลาลงและหายไปเมื่อได้เรอหรือผายลมแล้ว
3. ผู้ป่วยอาจจะมีเลือดปนอุจจาระออกมาเล็กน้อยได้ ถ้ามีเลือดออกมามากผิดปกติให้พบแพทย์โดยด่วน
4. หลังการตรวจหากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องมาก ท้องแข็ง มีไข้สูง ให้รีบมาพบแพทย์ทันที
5. ผู้ป่วยไม่ควรทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร การขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมภายใน 24 ชั่วโมงหลังตรวจ เนื่องจากยาระงับความรู้สึกอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจและอาจจะมีปฏิกิริยาต่างๆ ต่อร่างกายได้
บทความเรื่อง
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) โดย อ.นพ.ชัยวรรธน์ ประดิษฐ์ทองงาม และทีมงานศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
โฆษณา