9 ต.ค. 2020 เวลา 14:32 • หนังสือ
ศูนย์พยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ผมเพิ่งเคยได้ยินว่ามีศูนย์พยาบาล “ผู้ป่วยระยะสุดท้าย” แค่ฟังชื่อผมก็รู้สึกสยองอยู่ในใจแล้ว
ผมมาที่ศูนย์พยาบาลนี้เป็นครั้งแรก ตอนที่สอบเข้าเป็นอาจารย์ของมหาลัย เงื่อนไขก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์สอนที่นี่ ต้องมาเป็นอาสาสมัครที่นี่ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ก่อน ผมยังจำภาพวันนั้นได้อย่างชัดเจน
...
บุรุษพยาบาลท่านหนึ่ง กำลังสวมถุงมือและช่วยสวนทวารให้กับคนแก่คนหนึ่งที่ถ่ายอุจาระยาก ผมรีบเบือนหน้าหนีและเอามือปิดจมูกโดยไม่รู้ตัว แต่คนที่อยู่ในห้องนี้ต่างไม่สะทกสะท้านกับเหตุการณ์นี้เลย เมื่อรู้สึกตัว ผมก็รีบเอามือลง
จู่ ๆ ก็มีคนเอามือมาแตะที่เอวของผม
“มาครั้งแรกเหรอพ่อหนุ่ม?”
คน ๆ นั้นก็คือลุงเจ็ด อายุ 72 ปีแล้ว เขานั่งอยู่บนล้อเข็น โดยทั่วไปคนที่อายุขนาดนี้ ก็ต้องถูกเรียกว่าคุณปู่ แต่สำหรับที่นี่ ใคร ๆ ต่างก็เรียกเขาว่าลุงเจ็ดกันทั้งนั้น
ลุงเจ็ดเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะสุดท้าย ตอนที่แก
ย้ายมาอยู่ที่ศูนย์พยาบาลที่นี่ใหม่ ๆ หมอบอกว่าแกจะมีชีวิตอยู่ได้
ไม่เกิน 3 เดือน แต่แกอยู่ที่นี่มา 4 ปีกว่าแล้ว ลุงเจ็ดบอกให้ผมช่วยเข็นแกออกไปรับแสงแดดบนดาดฟ้าของอาคาร
ผมรู้ว่าแกมีเจตนาให้ผมออกจากห้องนี้แบบไม่น่าเกลียด
...
เมื่อผมเข็นลุงเจ็ดเข้าไปในลิฟต์ แกก็ถอนหายใจเฮือกใหญ่
“ไอ้หยา ผู้อำนวยการบอกว่า เราทุกคนที่อยู่ที่นี่จะต้องตายอย่างสมเกียรติ แต่คนแก่อย่างเรา ๆ จะเอาเกียรติมาจากไหน?”
ผมบีบมือจับล้อเข็นไว้แน่น ไม่รู้จะพูดอะไรออกไปดี
ลุงเจ็ดเอ่ยขึ้นทำลายความเงียบว่า
“นายชื่ออะไร? เป็นอาจารย์ใหม่ที่จะมาสอนที่มหาลัยใช่หรือเปล่า? นายไม่ใช่คนที่นี่ใช่ไหม? แล้วบ้านเดิมอยู่ที่ไหนละ?”
ผมกำลังจะตอบ ลุงเจ็ดก็โพล่งออกมาว่า
“ไม่กล้าพูดเหรอ? บ้านนายยากจนหรือเป็นลูกชาวนาเหรอ?”
ถูกอย่างที่ลุงเจ็ดพูด ผมเกิดมาจากครอบครัวฐานะยากจนจากทางตะวันตกเฉียงเหนือ
ตอนเด็ก ๆ ผมใส่เสื้อผ้าชุดเดียวแทบจะไม่มีเปลี่ยน ผมสอบชิงทุนตั้งแต่ประถมจนถึงปริญญา
เมื่อจบปริญญา ก็สอบติดเป็นครูโรงเรียนในเมือง ผมจึงย้ายชื่อเข้ามาอยู่ในทะเบียนราษฎร์ในเมือง
ผมคือความภาคภูมิใจของพ่อแม่ แต่พ่อแม่ไม่ใช่ความภาคภูมิใจของผม ผมกลับบ้านครั้งสุดท้ายตอนเรียนอยู่ปี 4
คืนนั้น ผมนอนอยู่ในห้องโทรม ๆ ของบ้าน ผมสาบานกับตัวเองว่าผมจะไม่กลับมาที่นี่อีก
...
ตอนเรียนปี 4 ผมเริ่มมีความรัก มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมไม่ทันระวัง เล่าเรื่องแฟนให้พ่อได้ยินเข้า
พ่อนั่งรถไฟชั้นประหยัด 2 วันกับอีก 1 คืนมาหาผม แถมยังเอาพุทธาจีนถุงใหญ่มาฝากแฟนผมด้วย
ผมพาพ่อไปที่ตึกอำนวยการ และไม่ยอมให้พ่อได้พบหน้าแฟนสาวของผม พ่อบอกว่า
“แม่ของลูกเป็นห่วง ไม่รู้ว่าลูกคบผู้หญิงแบบไหน จึงให้พ่อมาดูหน้าว่าที่ลูกสะใภ้”
ผมเอาถุงพุทธาจีนยัดกลับไปที่เป้เก่า ๆ ที่พ่อแบกมาจากบ้าน และพูดกับพ่อว่า
“อย่าออกมาให้ผมขายหน้าเพื่อน ๆ นะ บอกแม่ว่าไม่ต้อง
ห่วงผม ห่วงตัวเองก่อนก็แล้วกัน”
วันรุ่งขึ้น พ่อก็เดินทางกลับบ้านนอก
...
จากนั้นมา ผมกับที่บ้านก็ติดต่อกันน้อยลง แต่จริง ๆ มันเป็นความต้องการของผมนั่นแหละ การพบหน้ากับลุงเจ็ดครั้งแรก แกก็เดาใจผมออกจนทะลุปรุโปร่ง
“คนเรา หากรักดีและขยันหมั่นเพียร ก็เปลี่ยนฐานะและภาพลักษณ์ได้ แต่ไม่อาจเปลี่ยนพ่อเปลี่ยนแม่ได้ พวกฉันแก่แล้ว ไม่มีความสำคัญอีกต่อไปแล้ว ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่น่ารำคาญใช่ไหม?”
ลุงเจ็ดพูอดออกมา หลังจากเห็นผมนั่งไปนาน ผมแกล้งหัวเราะกลบเกลื่อน ไม่รู้จะพูดยังไงดี
วันนี้เป็นวันหยุด ที่ศูนย์พยาบาลมีญาติของคนไข้เข้ามาเยี่ยมไข้กันมากมาย แต่ไม่เคยมีญาติคนใดมาเยี่ยมลุงเจ็ดเลยสักคน เวลานี้ของทุกวัน แกมักจะขอให้อาสาสมัครช่วยพาแกขึ้นไปที่บนดาดฟ้าเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์
บุรุษพยาบาลบอกกับผมว่า แกมีลูกหลายคน แต่อยู่ที่ต่างประเทศกันหมด
เมื่อ 4 ปีก่อน ตอนที่แกป่วยหนัก ลูก ๆ ของแกเคยบินกลับ
มาและส่งตัวแกมาอยู่ที่ศูนย์พยาบาลแห่งนี้ จากนั้นแกก็ไม่เคยเห็นหน้าของลูก ๆ อีกเลย
...
วันหนึ่ง ผมนำผ้าปูที่นอนขึ้นไปตากที่ดาดฟ้า และก็เจอลุงเจ็ดนั่งเหม่ออยู่ที่บนดาดฟ้านั้น
“คิดอะไรอยู่เหรอครับลุง เสียใจที่ส่งลูกไปอยู่ซะไกลเหรอครับ?”
ผมแซวแกเล่น แกยักไหล่และพูดแบบไม่แยแสว่า
“ฉันไม่ใช่คนแก่ทั่วไป ฉันเป็นคนส่งลูก ๆ ไปเรียนต่าง ประเทศเอง! ตั้งแต่พวกเค้าเรียนอยู่ประถม ฉันก็วางเป้าหมายว่าจะส่งไปเรียนถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดให้ได้ แต่แม้จะไม่ได้เรียนฮาร์วาร์ด ก็ได้ไปเรียนต่างประเทศกันทุกคน”
“ลุงไม่คิดถึงลูกๆเหรอครับ?” ผมถาม
“พวกเค้าอยู่สุขสบายก็ดีแล้ว ทุกเดือนไม่ลืมโทรหาฉัน ก็นับว่ากตัญญูแล้วแหละ!”
...
วันนั้นผมเป็นคนเปลี่ยนผ้าปูเตียงให้ลุงเจ็ด ผมเห็นถุงบ๊วยอยู่ใต้หมอนก็เลยหยิบขึ้นมาดู ข้างในมีบ๊วยที่น่าจะออกราอยู่เม็ดหนึ่ง ก็เลยจะเอาไปทิ้งถังขยะ
“อย่านะ นั่นมันของรักของหวงของลุงเจ็ด จะเอาของแก
ไปทิ้งไม่ได้นะ!” บุรุษพยาบาลตวาดผมเสียงหลง
“นี่เป็นถุงบ๊วยที่ลูกสาวของแกให้ตอนที่ส่งแกมาอยู่ที่นี่ ตอนนั้นแกก็กินวันละเม็ด จนเหลือเม็ดสุดท้าย ยังไงแกก็ไม่ยอมกิน เก็บไว้ใต้หมอนมา 4 ปีแล้ว ไม่มีใครกล้าทิ้งของแกหรอก”
ผมฟังเสร็จก็หันหลังเดินเข้าห้องน้ำ ไม่รู้น้ำตามันไหลมาจากไหนมากมาย
ผมอยู่กับลุงเจ็ดที่ศูนย์พยาบาลไม่นานนัก แต่แกดีต่อผมมาก อาจเป็นเพราะผมชอบฟังตอนแกบ่นก็เป็นได้
...
ช่วงอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคม ผมก็มาเป็นอาสาสมัครที่ศูนย์พยาบาลเหมือนเดิม เมื่อเข้าประตูศูนย์ฯ ก็เห็นรถรับศพของสำนักประกันสังคมคันหนึ่งจอดอยู่หน้าอาคาร ผมรีบเดินขึ้นไปที่ชั้น 2 หัวใจของผมเต้นเร็วและมือเย็นไปหมด
หน้าห้องของลุงเจ็ดมีคนยืนออกันอยู่เต็มไปหมด แล้วก็มีเตียงเข็นคนไข้ที่มีผ้าขาวคลุมไว้เข็นออกจากห้องมา
ผมรีบวิ่งไปดูที่ห้อง ก็เห็นลุงเจ็ดนั่งนั่งเงียบอยู่ในห้องไม่พูดไม่จาอะไร ผมถึงได้ถอนหายใจโล่งอก
วันนั้น ลุงเจ็ดมีท่าทีที่เหนื่อยล้าและเงียบมากกว่าปกติ
ผมคอยอยู่ดูแลแกไม่ห่าง พอชวนแกคุยแกก็ถามคำตอบคำ ไม่เหมือนเดิม
เย็นวันนั้น ก่อนที่ผมจะกลับบ้าน ลุงเจ็ดเอ่ยปากกับผม แกวาดนิ้วเป็นเลข 8
“ฉันส่งเพื่อนร่วมห้องมา 8 คนแล้ว อีกไม่นานก็คงถึงคิดของฉันแล้ว”
ผมรีบเอื้อมมือไปจับมือแกไว้ แต่ก็ไม่รู้จะพูดปลอบแกยังไง ผมพยุงแกขึ้นเตียงนอน จากนั้นก็จัดแจงห่มผ้าให้แก
“ลุงเจ็ดไม่ต้องคิดมากนะครับ ลุงเจ็ดร่างกายแข็งแรงออกขนาดนี้ ” แกจับมือผมเขย่าเบา ๆ
“เธอเป็นเด็กกตัญญู พ่อแม่ของเธอมีลูกอย่างเธอ ช่างโชคดีจริง ๆ”
ผมถูกคำว่า “กตัญญู”เสียบทิ่มไปที่หัวใจ จนน้ำตาเริ่มคลอเบ้าตา
ผมนะเหรอที่กตัญญู? พ่อแม่ที่บ้านนอกของผมโชคดีจริง ๆ เหรอ? ท่านกำลังรอผมเหมือนที่ลุงเจ็ดกำลังรอลูก ๆ อยู่ใช่หรือเปล่า? พูดคุยโอ้อวดชื่นชมลูกของตัวเองต่อหน้าผู้คน แต่ลับ
หลัง ต้องกล้ำกลืนความโดดเดี่ยวอ้างว้างที่ไม่มีใครรู้!
ณ เวลานั้น ผมยืนอยู่ข้างเตียงของลุงเจ็ด แต่กลับเห็นภาพของพ่อที่ซูบผอมนอนอยู่ตรงนั้นแทน
ค่ำวันนั้น ผมโทรกลับไปที่บ้าน พ่อเป็นคนรับโทรศัพท์ น้ำเสียงของแกทั้งตื่นเต้นและดีใจ
“เป็นไงบ้างลูก สบายดีไหม? พ่อกับแม่กลัวว่าแกยุ่ง ก็เลยไม่กล้าโทรมารบกวน”
“ผมสบายดีครับพ่อ” ผมกลั้นเสียงไม่ให้สะอื้น
...
วันหนึ่ง ขณะที่ผมสอนอยู่ ผู้อำนวยการศูนย์ฯก็โทรเข้ามาหาผม
“ลุงเจ็ดอาการไม่สู้ดีนัก แกอยากพบคุณ รีบมาได้ไหม?”
ผมรีบไปที่ศูนย์ฯหลังจากที่วางสายจากผู้อำนวยการ
เดินมาถึงหน้าห้อง ผมเห็นลุงเจ็ดนอนอยู่บนเตียง ก็อดร้องไห้ไม่ได้
สภาพของแกไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้แก่ ๆ เหี่ยว ๆ ท่อนหนึ่ง
ผมถามผู้อำนวยการว่าโทรหาลูก ๆ ของแกหรือยัง? ท่านก็พยักหน้าว่าโทรแล้ว
ผมจึงเดินเข้าไปหาแกในห้อง
“ลุงเจ็ดครับ ผมมาเยี่ยมครับ”
แกค่อยเหลือบตามองมาที่ผม จากนั้นก็ยกมืออย่างยากลำบากชี้ไปที่หมอน ผมนิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วก็นึกออกว่าแกคงหมายถึงถุงบ๊วยใต้หมอนถุงนั้น
ผมรีบสอดมือเข้าไปหยิบถุงบ๊วยและหยิบบ๊วยเม็ดสุดท้ายออกมาให้แกดู แกชี้มือให้ผมเอาบ๊วยใส่ปากของแกด้วยสายตาวิงวอน
ผมจึงนำบ๊วยที่เสียแล้วเม็ดนั้นใส่ปากให้แกตามที่แกขอ แกยิ้มออกมาอย่างพอใจ แกพยายามดูดกินเม็ดบ๊วยด้วยความยากลำบากด้วยพละกำลังที่มีอยู่ สุดท้าย แกก็ถอนหายใจเฮือกใหญ่บอกกับผมว่า
“ฉันมันโง่สิ้นดี ฉันวางแผนเตรียมสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก ๆ แต่ไม่เคยวางแผนให้กับตัวเองเลย!”
ลุงเจ็ดจากไปอย่างสงบในเย็นวันนั้น แม้พวกเราจะอยู่
เป็นเพื่อนแกจนวินาทีสุดท้าย แต่คนที่แกอยากพบหน้าที่สุด ไม่มีแม้แต่คนเดียว!
...
คำพูดก่อนตายของลุงเจ็ดประโยคนี้ ทำให้ผมคิดย้อนกลับมาพิจารณาตัวเอง ผมพยายามหนีจากความยากจน ผมพยายามวางแผนให้ชีวิตมีความสุขสบายมากยิ่งขึ้น ผมวาดหวังให้ตัวเองมีสังคมที่ใคร ๆ ก็ยอมรับนับหน้าถือตา แต่ผมกลับทิ้งให้พ่อแม่ที่คาดหวังในตัวผมมากที่สุดผิดหวังเสียใจครั้งแล้วครั้งเล่า
ปิดเทอมภาคฤดูร้อนในปีนั้น ผมเดินทางกลับบ้าน เมื่อเข้าประตูบ้านไป พ่อยังไม่กลับมาจากนา แม่กำลังก่อฟืนทำอาหารเย็น
เมื่อแม่เห็นผมเดินเข้าบ้านมา แม่ยืนตะลึงไปนานสองนาน
“ลูกแม่ ลูกกลับมาแล้ว แม่จะไปตามพ่อที่นา!”
ผมเดินไปคุกเข่ากอดแม่ไว้
“แม่ครับ ผมขอโทษ!”
ผมร้องไห้กอดแม่ไว้แน่น ละอายใจในสิ่งที่ผมทำไม่ดีกับท่านไว้ตลอดเวลาที่ผ่านมา
“ขอโทษ ” คำ ๆ นี้คือสิ่งที่ผมติดค้างพ่อกับแม่ไว้นานแสนนาน หากไม่มีลุงเจ็ด ไม่รู้ว่าผมจะสำนึกได้เมื่อไหร่
#รักไม่มีสิ้นสุด
นุสนธิ์บุคส์
โฆษณา