10 ต.ค. 2020 เวลา 13:30 • ประวัติศาสตร์
เปลี่ยนแปลงอย่างนุ่มนวล
ล้มระบอบคอมมิวนิสต์โดยไม่เสียเลือดเนื้อ
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
เพื่อนไลน์ไอดี @ntp59 ขอให้ผมเขียนถึงการปฏิวัติที่ไม่รุนแรงสัก 2 แห่ง
ผมขอเริ่มรับใช้ด้วยการปฏิวัติกำมะหยี่ที่หลายคนเรียกว่า Velvet Revolution บางคนเรียก Gentle Revolution ที่หมายถึง ‘การปฏิวัติอันนุ่มนวล’ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง 16-29 พฤศจิกายน 1989 ที่กรุงปราก เชโกสโลวะเกีย
https://www.rferl.org/a/czechoslovakia-prague-velvet-revolution-communism/26689967.html
การปฏิวัติครั้งนี้ไม่มีการนองเลือด แต่สามารถเปลี่ยนระบอบการปกครองจากคอมมิวนิสต์เป็นประชาธิปไตย
ใครจะนึกเล่าครับ ว่าการรวมตัวของนักศึกษาปัญญาชนซึ่งรวมกันเป็น Civic Forum จะสามารถสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเชโกสโลวะเกียได้
จุดมุ่งหมายตอนแรกของนักศึกษาปัญญาชนซึ่งตอนนั้นโดนด่าว่าเป็นพวก dissidents แปลเป็นไทยก็คือ ‘พวกนอกรีต’ เพื่อต้องการให้ปลดพวกผู้นำคอมมิวนิสต์รุ่นเก่าออก และให้มีการปฏิรูปการเมือง ให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรี และปล่อยนักโทษทางการเมือง
ขณะที่นักศึกษาและประชาชนเดินไปที่จัตุรัสเวนเซสลัซ รัฐบาลสั่งให้ตำรวจมายืนกั้นทุกถนนหนทาง แม้เผชิญหน้ากัน ผู้นำมวลชนก็ประกาศขอให้ทั้งสองฝ่ายไม่ใช้กำลัง แต่มีการแจกเทียนและให้ทุกคนนั่งลงและจุดเทียน พร้อมกับร้องเพลงกล่อมขวัญ ชูพวงกุญแจ ลูกกุญแจขึ้นเหนือศีรษะให้มีเสียงกุญแจลั่นดังไปทั่ว พร้อมตะโกนว่า ‘มิโลออกไป’
‘มิโล’ ในที่นี้ก็คือ นายมิโลช ยาเกช เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวะเกีย
รัฐบาลนำตำรวจหน่วยพิเศษมาทุบตีนักศึกษาที่นั่งแถวหน้าเมื่อ 17 พฤศจิกายน 1989 เรื่องนี้ทำให้เกิดกระแสลามกระจายขยายตัว คนที่ไม่เคยอยากจะออกมาประท้วงก็ออกมาร่วมด้วย
สมัยนั้นยังไม่มีการถ่ายภาพได้อย่างง่ายดายเหมือนสมาร์ทโฟนสมัยนี้ นักศึกษาต้องใช้กล้องวิดีโอบันทึกภาพและแบ่งนักศึกษาส่วนหนึ่งเอาคลิปพวกนี้ไปฉายให้ผู้คนตามชนบทในต่างจังหวัด
https://www.rferl.org/a/czechoslovakia-prague-velvet-revolution-communism/26689967.html
พวกนักเรียน นักศึกษา และประชาชนเห็นภาพที่ตำรวจตีนักเรียนนักศึกษาที่นั่งอยู่แถวหน้า ก็โกรธและเดินทางมุ่งสู่กรุงปราก
นายยาเกชเห็นว่าไม่น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ก็โผล่หน้ามาทางจอทีวี ประกาศว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา ประชาชน แต่ยังยืนยันว่าจะปกป้องระบอบสังคมนิยม
ผู้อ่านท่านคงจะเคยได้ยินชื่ออเล็กซานเดอร์ ดูบเชก นะครับ นายคนนี้เคยเป็นผู้นำปฏิรูปประเทศในเหตุการณ์ ‘ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก’ เมื่อตอนปลายทศวรรษ 1960 หลังจากนั้น แกก็เก็บตัว เก็บมานานและออกมาร่วมกับกลุ่มพวกนอกรีต ทำให้กลุ่มนี้มีพลังมากขึ้น
ทหารซึ่งโดยปกติไม่เกี่ยวดองหนองยุ่งการเมืองอยู่แล้วก็ออกแถลงการณ์ว่า กองทัพจะไม่ทำร้ายประชาชนและเรียกร้องให้ยุติความเคลื่อนไหว และขอให้มีการเจรจากัน
รัฐบาลเชโกสโลวะเกียอ่อนข้อลงเยอะ บอกว่าจะผ่อนปรนการเกณฑ์ทหาร จะลดภาษีให้นักศึกษา จะจำกัดอำนาจของตำรวจ
แต่ประชาชนก็ยังตะโกน ‘มิโลออกไปๆ’
สมาชิกพรรคคอมมิวนสิต์จึงต้องขอให้พรรคปลดนายมิโล ยาเกช แล้วให้คาเรล อูร์บาเนค ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์หัวปฏิรูปมาเป็นแทน
แต่สถานการณ์ก็ไม่เงียบ หนังสือพิมพ์ปราฟดาของพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวะเกียประกาศหนุนพวกนอกรีต
อ้าว เอาละเว้ย พรรคคอมมิวนิสต์ล้มเหลวในการควบคุมประเทศแล้ว
พรรคคอมมิวนิสต์แก้สถานการณ์ด้วยการปลดแกนนำหัวอนุรักษ์ทั้งหมด แต่ยังยืนยันความชอบธรรมในการดูแลประเทศ
คำพูดที่ว่าจะยังยืนยันฯ ทำให้คนมาชุมนุมที่กรุงปรากถึง 8 แสน
ที่กรุงบราติสลาวามากถึง 1 แสน
ผู้คนต่างออกมาเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรี
บางคนตะโกนให้ยกเลิกระบอบคอมมิวนิสต์
28 พฤศจิกายน 1989 รัฐบาลรู้ว่าสู้ประชาชนไม่ไหว ก็ยอมยกเลิกมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ โดยตัดข้อความที่ว่า ‘พรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทหลัก’ และ ‘ลัทธิมาร์กซ์-เลนินเป็นอุดมการณ์หลักของประเทศ’ ออกจากรัฐธรรมนูญ
จากนั้น รัฐบาลก็ยอมให้มีการเลือกตั้ง 29 ธันวาคม 1989
หัวหน้ากลุ่มนอกรีตคือนายวาซลาฟ ฮาเวล อายุ 53 ปี ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์
ส่วนนายดูบเชกได้เป็นประธานสภา
https://medium.com/typewriterintl/czech-republic-celebrating-freedom-with-the-typewriter-b859976f4d21
เป็นการสิ้นสุดระบอบคอมมิวนิสต์ในเชโกสโลวะเกีย
สิ้นสุดด้วยความสงบ.
โฆษณา