11 ต.ค. 2020 เวลา 13:40 • ประวัติศาสตร์
สีส้มปะทะสีฟ้า
ในการปฏิวัติสีส้มในอูเครน
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
เมื่อวานรับใช้ถึงการรวมตัวของประชาชนที่ล้มเลิกการปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ในเชโกสโลวะเกียอย่างนิ่มนวลที่เรียกกันว่า ‘การปฏิวัติกำมะหยี่’ แล้ว
วันนี้ ผมขอต่อด้วยการชุมนุมทางการเมืองอย่างสันติวิธีของประชาชนอูเครนที่เป็น ‘การปฏิวัติสีส้ม’ ระหว่าง 22 พฤศจิกายน 2004 - 23 มกราคม 2005 ซึ่งประชาชนยืนหยัดต่อสู้จนประสบชัยชนะ
การเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ.2004 กลุ่มอำนาจเดิมหนุนผู้สมัครที่ชื่อวิคเตอร์ ยานูโควิช แต่พวกเคลื่อนไหวที่ใช้เสื้อและธงสีส้มหนุนนายวิคเตอร์ ยูเชนโค
เมื่อโพลออกมาว่านายยูเชนโคจะชนะการเลือกตั้ง ก็มีการวางยาพิษทีซีดีดีไดออกซิน จนยูเชนโคล้มป่วยและถูกนำตัวไปรักษาที่ออสเตรียนานเกือบเดือน
แม้ไม่ตาย แต่แกก็เสียโฉม หน้าตาและเนื้อตัวตัวเต็มไปด้วยแผลตะปุ่มตะป่ำ สีผิวก็เปลี่ยน ร่างกายก็อ่อนแอ
รัฐบาลโจมตีว่ายูเชนโคไปลอกหน้าเสริมสเน่ห์และแพ้ครีมบำรุง จากนั้นก็ให้เจ้าหน้าที่รัฐไปไล่จับนักศึกษาสีส้มถึงหอพัก เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยคนไหนถูกจับได้ว่าเป็นสีส้ม ก็ถูกไล่ออกจากบ้านพักกลางฤดูหนาว
ผลการเลือกตั้งรอบแรก 31 ตุลาคม 2004 ไม่มีใครได้คะแนนถึงร้อยละ 50 จึงต้องมีการเลือกตั้งรอบที่สองเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2004
มีข่าวลือว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น 8.5 หมื่นคนทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งปลอม 2.8 ล้านใบ ในแต่ละหีบมีใบลงคะแนนมากกว่าผู้ใช้สิทธิ ทำให้นายยานูโควิชซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลชนะและ กกต. ก็รีบเร่งประกาศผลเลือกตั้ง
นางนาตาลยา ดมีทรัค ผู้แปลข่าวเป็นภาษามือทางโทรทัศน์สื่อสารถึงผู้ชมว่าไม่เชื่อในคำแถลงของ กกต. แถมยังส่งภาษามือบอกว่าคนที่ชนะคือนายยูเชนโค
นางดมีทรัคทำเท่านี้เองครับ คนก็ออกมารวมกันที่จตุรัสไมดันกลางกรุงคีฟ ตอนนั้น หิมะตกหนัก ทุกคนวิ่งหาอะไรก็ตามที่เป็นสีส้มติดไม้ติดมือไปด้วย ใส่เสื้อผ้าสีส้ม ผ้าพันคอสีส้ม ติดโบสีส้ม ลูกโป่งสีส้ม ฯลฯ
https://www.beyondintractability.org/reflection/mazyar-orange
การชุมนุมของประชาชนยาวนานต่อเนื่องตั้งแต่ 22 พฤศจิกายน 2004 ข้ามปีใหม่ไปจนถึง 23 มกราคม 2005
ส่วนประชาชนที่หนุนรัฐบาลและที่มีใจโน้มเอียงไปทางเผด็จการ เป็นพวกที่ชอบระบอบอำนาจนิยม ออกมาหนุนนายยานูโควิช พวกนี้ใช้สัญลักษณ์สีฟ้า
พวกสีฟ้าเกณฑ์คนออกมาเหมือนกัน แต่มากันกะหรอมกะแหรม แกนนำแต่ละคนพูดจาขาดตกบกพร่องไม่น่าเชื่อถือ สุดท้ายพวกสีฟ้าซึ่งมีแต่พวกคนแก่ก็กระย่องกระแย่งฝ่าความหนาวกลับบ้านกันหมด
ยูเชนโคก็ประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และบุกเข้าไปในรัฐสภาที่กำลังเปิดประชุมและกล่าวปฏิญาณตนเป็นประธานาธิบดี
รัฐบาลสั่งให้ทหารและตำรวจปราบยูเชนโคและผู้ชุมนุม แต่ทหารและตำรวจไม่รับคำสั่ง
ประชาชนต่างต่อสู้แบบอารยะขัดขืน
พวกสีฟ้าขู่ว่าถ้าพวกสีส้มไม่ยอมรับผลเลือก ตั้งพวกตนจะแยกประเทศเอาดินแดนไปรวมกับรัสเซีย
มีการเผชิญหน้ากันระหว่างพวกสีส้มกับพวกสีฟ้า พวกสีส้มกลัวแพ้ ไปรวมกันที่จัตุรัสไมดันมากกว่า  2 แสนคน
ศาลสูงเห็นว่าสถานการณ์อย่างนี้จะทำประเทศแย่ จึงประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และให้มีเลือกตั้งใหม่ 26 ธันวาคม 2004 ทำให้ผู้คนต้องไปเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 คราวนี้มีผู้ร่วมสังเกตการณ์จากต่างประเทศเข้าไปช่วยดูการเลือกตั้งถึง 1.3 หมื่นคน
https://news.cgtn.com/news/2019-11-22/New-hope-for-Ukraine-15-years-after-Orange-Revolution-LPx5gASGdy/index.html
ร้อยละ 52 ของผู้มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 28 ล้านคน เทคะแนนให้ยูเชนโคฝ่ายสีส้ม ส่วนสีฟ้าได้คะแนนเพียงร้อยละ 44.2
การปฏิวัติสีส้มยืนหยัดนานถึง 17 วัน อูเครนจึงหลุดจากการปกครองของรัฐบาลที่หนุนอำนาจนิยม.
โฆษณา