21 ต.ค. 2020 เวลา 01:30 • ปรัชญา
ในช่วงเวลาที่กระแสสังคมพร่ำบอกให้ทุกคนออกจากคอมฟอร์ทโซนและท้าทายตัวเองด้วยการออกมาเป็นเจ้าของกิจการ อะไรที่ทำให้หญิงสาวผู้ทะเยอทะยานและตั้งใจจะเอาชนะในทุกการแข่งขันเลือกเส้นทางการเป็นพนักงานออฟฟิศ? ติดตามได้ที่นี่
วันนี้ Career Fact จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับพี่แนตตี้ กัญญาณัฐ ปิติเจริญ หญิงสาวมหัศจรรย์อดีตพนักงานยุคบุกเบิกของ Google และ Facebook ทีมไทย ผู้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง Marketing Solutions Lead ของบริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะเวลาการทำงานไม่ถึง 10 ปี เธอจะมาเล่าถึงเรื่องราวของความทะเยอทะยาน ความมั่นใจ และความสำเร็จที่สามารถบรรลุได้ด้วยการเป็นพนักงานออฟฟิศที่ทั้งท้าทายและน่าภาคภูมิใจไม่แพ้กับการเป็นเจ้าของกิจการ
1
#รากฐานในวัยเด็กคือความเก่งและความกล้า
“ถ้า 4.00 คือคะแนนเต็ม อะไรที่น้อยกว่า 4.00 ก็คือไม่เต็ม”
1
เป็นคำพูดของคุณแม่ที่หล่อหลอมให้พี่แนตตี้เสพติดการเอาชนะและการเป็นที่หนึ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทั้งในแง่การเรียนและการแข่งขัน สมัยที่เธอยังเรียนอยู่ ในระหว่างที่รอคุณพ่อมารับกลับบ้าน สิ่งที่เด็กคนอื่นทำอาจจะเป็นการคุยเล่นกับเพื่อนหรือเล่นมือถือ ทว่าสิ่งที่พี่แนตตี้ทำคือเข้าห้องสมุดและนั่งอ่านสารานุกรมเป็นเล่ม ๆ ความขยันตั้งใจของพี่แนตตี้ออกดอกออกผลเมื่อจบไฮสคูลด้วยเกรด 3.88 ซึ่งถือว่าสูงสุดของรุ่นและได้รับเลือกให้เป็น Valedictorian หรือผู้แทนนักเรียนที่ออกมากล่าวสุนทรพจน์ในวันอำลา
1
นอกจากความเก่งแล้ว สิ่งที่ทุกคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมีก็คือความกล้า พี่แนตตี้ก็เช่นกัน เมื่อก่อนเธอรู้สึกว่าตัวเองเรียนดีแต่ไม่มีความกล้าแสดงออก จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอทลายกรอบความคิดแบบเด็กเอเชียทั่วไปคือการไปแลกเปลี่ยนภายใต้โครงการ AFS ที่รัฐ Missouri ประเทศสหรัฐอเมริกา พี่แนตตี้ในวัย 16 ปีสังเกตเห็นความกล้าแสดงออกของนักเรียนที่นั่น แม้พวกเขาอาจจะเรียนไม่เก่ง แม้คำตอบที่ตอบไปอาจจะผิด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาเกรงกลัวความผิดพลาดแต่อย่างใดเพราะทุกคนเชื่อว่าสามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้นได้
#คิดนอกกรอบ
หลังจากกลับถึงประเทศไทย พี่แนตตี้มีโอกาสได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับโลกอย่าง English Speaking Union (การแข่งพูดสุนธรพจน์ ความยาว 5 นาที) พี่แนตตี้ผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยในระดับไฮสคูล หัวข้อการแข่งขันในตอนนั้นคือ “New Horizon, New Frontier” หรือ “มุมมองใหม่ ความคิดใหม่”
1
“Let’s talk about sex.”
นี่คือสิ่งที่เธอเลือกที่จะพูดต่อหน้ากรรมการและผู้ชมที่นั่งอยู่ในหอประชุม นอกจากการไปแลกเปลี่ยนจะสอนให้รู้จักกล้าแสดงออก Sex Education ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พี่แนตตี้ได้เรียนรู้และต่อยอดเป็นความสงสัยว่าทำไมคนไทยถึงไม่สามารถพูดคุยและให้ความรู้เรื่องเซ็กส์ออกมาอย่างเปิดเผยได้ แน่นอนว่าการเลือกหัวข้อ “ต้องห้าม” เช่นนี้ก็เกือบทำให้เธอหลุดจากการเป็นตัวแทนประเทศ แต่โชคดีที่ก็มีคนเห็นความกล้าในการหยิบหัวข้อสุดขั้วของเธอ และคิดว่าเธอเหมาะกับการเป็นตัวแทนเสียงคนรุ่นใหม่ ตามหัวข้อการแข่งขัน “มุมมองใหม่ ความคิดใหม่” ซึ่งสุดท้ายเธอก็พิสูจน์ตัวเองด้วยการคว้ารางวัลที่ 2 ของโลกกลับมาได้
1
#ความฝันแรกคืออาชีพนักข่าว
1
เมื่อถึงเวลาต้องเลือกสายอาชีพ พี่แนตตี้นึกถึงจุดแข็งด้านการพูดของตัวเองและภาพนักข่าวสาวประจำช่อง BBC ที่พูดภาษาอังกฤษสำเนียงบริทิชสุดเก๋และตัดสินใจเลือกเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคอินเตอร์ แต่ภาพความฝันอันสวยงามก็เป็นอันจบลงเมื่อมีโอกาสเรียนวิชา News Reporting วิชาดังกล่าวทำให้เธอเรียนรู้ว่ากว่าจะมีโอกาสทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวประจำช่องใหญ่ๆ อย่าง BBC, CNN, หรือ Al Jazeera ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย คุณต้องเริ่มจากการทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการแบกกล้องไปถ่ายทำ การแต่งหน้า การเขียนสคริปต์ การตัดต่อ และอาจจะไม่ได้รับเลือกให้ออกอากาศด้วยซ้ำ เธอยกตัวอย่างเหตุการณ์ตอนเธอต้องไปทำข่าวน้ำท่วม เธอต้องแบกทุกอย่างไปลุยน้ำที่นั่นด้วยตัวเองโดยไม่มีใครมาช่วย ซึ่งนั่นก็ทำให้พี่แนตตี้ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง เธอเล่าติดตลกว่าเป็นเพราะเธอติดสบาย เธอจึงเริ่มหาความฝันอันใหม่ สิ่งที่ลอยเข้ามาในหัวเธอตอนนั้นคืออาชีพ Consultant (ที่ปรึกษาทางธุรกิจ) เธอเริ่มทำกิจกรรมนอกวิชาเรียนทั้งการแข่งโต้วาทีและการแข่งขัน Business Plan ที่แม้เดิมทีจะจัดเพื่อนิสิตคณะบัญชีโดยเฉพาะ แต่เธอก็ยังรวบรวมความกล้าขอเข้าร่วมกับกลุ่มเด็กคณะบัญชีที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนอยู่หลายต่อหลายครั้ง
#พบกับความผิดหวัง
การคลุกคลีกับคนในวงการแข่งเคสธุรกิจทำให้ได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า MBB หรือตัวย่อของ 3 บริษัท (McKinsey, Boston Consulting Group, และ Bain) ที่ปรึกษาทางธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก พี่แนตตี้บอกกับตัวเองว่าเธอจะต้องเข้าทำงานหนึ่งในสามที่นี้ให้ได้ เธอได้ยื่นใบสมัครไปทั้ง 3 ที่ ทว่าก็ต้องพบเจอกับความผิดหวัง เพราะแม้จะจบด้วยเกรดที่สูงถึง 3.88 และได้เกียรตินิยมเหรียญทองของคณะ เป็นนักเรียนดีเด่นที่นำพาชื่อเสียงมาสู่คณะ ทั้งยังมีประวัติการแข่งเคสธุรกิจมากมาย บริษัทเหล่านี้ก็ยังปฏิเสธเธออย่างไม่ลังเลเนื่องด้วยจบมาไม่ตรงสาย ในตอนนั้นเธอเองรู้สึกท้อแท้มาก เพราะความพยายามทั้งหมดแทบจะสูญเปล่า บริษัทไม่ได้วัดกันที่ผลงาน แต่หากเป็นวิชาที่เรียนมา พี่แนตตี้ที่ยังไม่ยอมแพ้ต่อเส้นทางนี้จึงตัดสินใจว่าจะอัพเรซูเม่ให้เก๋ยิ่งขึ้น ซึ่งทางออกคือการไปเรียนต่อปริญญาโทในมหาลัยชื่อดัง แน่นอนว่าพ่อแม่ของเธอที่มีความคาดหวังสูง ก็บอกว่า หากเธอต้องการไปเรียนต่อที่อังกฤษ คำตอบมีแค่ Oxford หรือ Cambridge เท่านั้น ทำให้พี่แนตตี้จึงพยายามอย่างมากในการเตรียมความพร้อม และสุดท้ายสอบติดที่มหาวิทยาลัย Cambridge นั่นเอง
หลักสูตร MPhil in Management ที่มหาวิทยาลัย Cambridge เป็นหลักสูตรสำหรับผู้ที่เรียนด้านอื่นมาแต่ต้องการทำงานในสาย Consulting โดยทางคณะการันตีว่าภายใน 9 เดือนจะมีบริษัทกลุ่ม MBB หรือบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอื่นๆ มาทาบทามให้ไปร่วมงานแน่นอน อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ระหว่างเรียนก็ทำให้พี่แนตตี้ต้องเปลี่ยนเป้าหมายอีกครั้งหลังจากเธอพบว่าเพื่อนของเธอเป็นคนประเภท “N-A-T-O” (No Action Talk Only) เธอเกรงว่าจะต้องเจอคนแบบนี้อีกในที่ทำงาน จึงเริ่มเปลี่ยนใจมาค้นหาสุดยอดบริษัทที่น่าร่วมงานและมีบุคลากรเก่งๆอยู่ ซึ่งก็เป็นที่มาของความฝันครั้งใหม่ที่ Google และ Facebook
#จากการโดนปฏิเสธสู่การเป็นผู้ถูกเลือก
หลังเรียนจบเธอได้รับข้อเสนอจากสองบริษัทในฝัน เมื่อถามถึงขั้นตอนการสมัคร เธอตอบว่าเธอทำตามขั้นตอนทั่วไปเลย การเตรียมสัมภาษณ์ก็ตามข้อมูลที่หาได้ตามอินเทอร์เน็ต ในขณะนั้นเธอต้องเลือกระหว่างทำงาน Facebook ที่ Dublin หรือ Google ที่ Singapore สุดท้ายเลือก Google เพราะพ่อแม่เธอถามว่า Dublin อยู่ที่ไหน(ฮา) พี่แนตตี้ได้เข้าร่วมทีม Global Customer Experience ซึ่งเป็นทีมที่ล้วนประกอบไปด้วยเด็กจบใหม่จากเครือ Ivy League และมหาลัยชั้นนำทั่วโลก หน้าที่คือพัฒนาฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของ Google ในเอเชียให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปราว 1 ปี ทาง Facebook ก็เริ่มสนใจตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และก่อตั้งทีมประเทศไทยขึ้นมา เธอจึงแอบลางานวันหนึ่งเพื่อไปสัมภาษณ์งานที่ Facebook ซึ่งตั้งอยู่ติดกับ Google เธอเล่าติดตลกว่าช่วงนั้น คนทั้งแผนกพร้อมใจกันลาป่วย (แอบไปสัมภาษณ์งาน) ซึ่งสุดท้ายคนที่ถูกเลือกก็คือพี่แนตตี้นั่นเอง
1
#BornRich #EntrepreneurRich #EmployeeRich
พี่แนตตี้เริ่มงานที่ Facebook ในตำแหน่ง Account Manager มีหน้าที่ดูแลลูกค้า Top 100 ที่ลงโฆษณาใน Facebook มากที่สุดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของบริษัท, ผู้ประกอบการ SME หรือคนธรรมดา โดยงบโฆษณาของลูกค้าที่ดูแลนั้นมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาทต่อไตรมาสเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นหากใช้สมมุติฐานว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้ใช้งบประมาณการตลาดเป็น 20% ของยอดขาย หากลองคำนวณออกมาจะพบว่าพวกเขาเหล่านี้ก็คือเศรษฐีแอบเงียบดี ๆ นี่เอง ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขาเหล่านี้เป็นคนอาศัยนอกกรุงเทพ มีนิสัยติดดิน ไม่แต่งตัวหวือหวา เธอบอกว่าตอนนัดเจอกับพวกเขาที่กรุงเทพ หลายคนพึ่งจะเคยขึ้นรถไฟฟ้าเป็นครั้งแรกด้วยซ้ำ แต่การมีโอกาสได้ร่วมงานกับเจ้าของธุรกิจหลักร้อยล้านแบบนี้ กลับไม่ได้ช่วยจุดไฟในตัวเธอให้อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองแต่อย่างใด พี่แนตตี้เล่าเรื่องเจ้าของธุรกิจคนหนึ่งให้เราฟังว่า เขาไปเดินงาน Mobile Expo และถอนเงินทั้งหมดในบัญชีเป็นจำนวน 10,000 บาทออกมา แล้วใช้เงินจำนวนนั้นซื้อสมาร์ทโฟนสามเครื่องหลังต่อราคามาเรียบร้อย จากนั้นขอพื้นที่เล็ก ๆ ด้านข้างบูธอื่นแล้วตั้งแผงขายเครื่องละ 4,000 บาทเพื่อให้ได้กำไร โดยที่เขาไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่ เขารู้เพียงอย่างเดียวว่าต้องขายให้ได้เพราะเขาจะไม่มีค่ารถกลับบ้าน พี่แนตตี้ค้นพบว่าคุณสมบัติที่เจ้าของกิจการขาดไม่ได้หากต้องการประสบความสำเร็จคือ “ความกล้าได้กล้าเสีย ความด้านได้อายอด และการไม่ปล่อยให้ทุกโอกาสหลุดมือ” ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะมี
2
เธอตกผลึกทางความคิดได้ว่าในชีวิตคนเรามีทางที่จะประสบความสําเร็จทางการเงินอยู่ 3 ทางคือ 1. Born Rich 2. Entrepreneur Rich 3. Employee Rich กล่าวคือ คุณเกิดมารวย คุณทำธุรกิจจนรวย หรือคุณเป็นพนักงานจนรวย ซึ่งข้อสุดท้ายนี้มักจะเป็นสิ่งที่ทุกคนมองข้าม แต่สำหรับพี่แนตตี้ เธอรู้จักและเข้าใจนิสัยของตัวเองดี ว่าไม่มีความกล้าบ้าบิ่นมากพอจะประสบความสำเร็จในเส้นทางการทำธุรกิจ ดังนั้น เธอจึงเลือกที่จะเติบโตในเส้นทางที่เหมาะกับตัวเอง นั่นคือการเป็นพนักงานบริษัท
เธอเชื่อว่าการเป็นพนักงานที่ค่อยๆ ไต่เต้าตาม Corporate Ladder นั้น ในด้านเงินเดือน ชื่อเสียง หรือตำแหน่ง ก็ถือเป็นความก้าวหน้าและความสำเร็จแบบหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อหน่ายตามที่สังคมว่าไว้แต่อย่างใด
1
“ทุกวันนี้มีแต่ Startup เกิดใหม่ ทุกคนอยากเป็น The Next มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แต่การเป็นพนักงานมันโดน Underrated มากๆ” เธอกล่าว
#ครั้งแรกในฐานะTeamLead
หลังจากทำงานที่ Facebook สิงคโปร์มาซักพัก เธอมีโอกาสได้ย้ายมาทำงานที่ Facebook ประเทศไทยต่ออีก 1 ปี ในฐานะที่เป็น 1 ในพนักงาน 3 คนแรกของ Facebook ทีมไทย ที่นี่เธอได้พบกับเป้าหมายใหม่ในชีวิต ซึ่งเป้าหมายถัดไปของพี่แนตตี้คือการนำ Culture ต่างๆ ที่ได้เรียนรู้จาก Google และ Facebook มาประยุกต์ใช้กับการทำงาน และส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการคุยแบบ 1-1 Meeting หรือการให้เวลาคุยตัวต่อตัวกับลูกทีมทุกคนทุกอาทิตย์ หรือความเป็น Googleyness ที่ทุกคนอยู่กันอย่างครอบครัว เมื่อทำพลาดก็แค่รับฟีดแบคกลับไป เธอมองว่าวัฒนธรรมเหล่านี้คืออาวุธลับที่ทั้งสองบริษัทใช้ในการทำให้ตัวเองเป็นที่หนึ่ง และคนไทยน่าจะได้ใช้ประโยชน์จากมันและมีมาตรฐานคุณภาพด้านบุคลากรที่ดีขึ้น พี่แนตตี้ประเดิมการเป็นหัวหน้าทีมครั้งแรกด้วยตำแหน่ง Marketing Solutions Lead ในบริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความท้าทายคือในทีมจะมีทั้งคนที่อายุน้อยกว่าและมากกว่า เธอจึงต้องคอยเรียนรู้ปรับวิธีจัดการตามความเหมาะสมของลูกทีมแต่ละคน
“ถึงแม้ว่าการทำงานคนเดียว เราจะวิ่งเร็วกว่าการทำงานเป็นทีมก็ตาม แต่ว่าหากเราสร้างทีมให้แข็งแกร่งแล้ว เราจะวิ่งได้ไกลขึ้นกว่าการวิ่งคนเดียวแน่นอน” พี่แนตตี้กล่าว
แม้ว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีม เธอก็ยังไม่ทิ้งนิสัยชอบการแข่งขัน เธอบอกว่าการแข่งขันนั้นมีอยู่ทุกที่และทุกองค์กร โดยเฉพาะเรื่องของ Office Politics สำหรับ Employee Rich การเล่นการเมือง และ “อยู่ให้เป็น” คือเคล็ดลับการประสบความสำเร็จ
#เคล็ดลับการเป็นEmployeeRich
เมื่อพูดถึงการแข่งขัน ก็ย่อมต้องนึกถึงการโกงหรือการเล่นนอกเกมเพื่อเอาชนะ ทางเราจึงอดถามพี่แนตตี้ไม่ได้ว่าเคยเล่นนอกเกมบ้างหรือเปล่า พี่แนตตี้ตอบกับพวกเราว่าการโกงมีแบบดำและแบบขาว การโกงแบบดำหรือทุจริต แน่นอนว่าพี่แนตตี้ไม่เคยทำ แต่ถ้าแบบขาวหรือที่เธอเรียกมันว่า Office Politics Game เธอมองว่ามันเป็นทักษะที่จำเป็นทักษะหนึ่งเลยด้วยซ้ำหากต้องการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ตัวอย่างง่ายๆ คือ พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่เมื่อทำผิดพลาดมักจะมองแต่ในแง่ลบเสมอ แต่อาจลืมไปว่าความผิดพลาดนั้นมีด้านบวกยังไงบ้าง ทักษะการใช้เรื่องที่นำ Failure มาเป็น Learning เพื่อให้คนในองค์กรได้เรียนรู้และไม่ทำผิดพลาดอีกนั้น เป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญมากๆ
1
พี่แนตตี้บอกว่า “เราต้องเรียนรู้ที่จะเล่น Office Politics เพราะสุดท้ายในการไต่ Corporate Ladder ไปให้จุดสูงสุดนั้นคนที่เก่งที่สุดอาจจะไม่ใช่คนที่มีตำแหน่งสูงที่สุดเสมอไป”
#นิสัยชอบเอาชนะที่กลายเป็นแรงผลักดัน
เมื่อถามถึงคติที่พี่แนตตี้ยึดถือ เธอตอบอย่างรวดเร็วว่า “Strive for Perfection” สำหรับ Career Path ก็เช่นกัน แม้จะเคยทำงานในสองบริษัท Tech ยักษ์ใหญ่ พี่แนตตี้ก็ไม่เคยหยุดมองหา Challenge ในขั้นต่อไปเพื่อพัฒนาให้ตัวเองเติบโตขึ้น ในขณะเดียวกัน สิ่งที่มาพร้อมกับการชอบเอาชนะคือการกลัวความล้มเหลว กลัวความพ่ายแพ้ กลัวได้คะแนนไม่เต็ม เมื่อก่อนหากมีการสอบ เธอก็จะเตรียมพร้อมด้วยการจัดตารางอ่านหนังสือล่วงหน้า เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด ปัจจุบันในฐานะผู้นำทีม เธอยังคงแบ่งปันสิ่งที่เธอเชื่อให้กับคนในทีม และให้ทุกคนสามารถค้นพบเป้าหมายของตัวเองได้ เหมือนที่เธอได้เจอแล้ว ซึ่งนั่นก็คือการไปถึงความสำเร็จแบบ Employee Rich ให้ได้นั่นเอง
“การโตมาด้วยแรงกดดันตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้ถึงแม้ว่าจะชนะหรือได้ที่ 1 มานับไม่ถ้วนก็ยังรู้สึกชอบในการแข่งขันอยู่เสมอ หากเรายังมีลมหายใจอยู่ ชีวิตมันก็จะต้องสู้ในสนามถัดๆ ไปเรื่อยๆ นั่นแหละ มันเป็นวิธีที่แนตตี้ใช้กับการพัฒนาตัวเอง” เธอกล่าวทิ้งท้าย
#careerfact
………………
สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ต่อได้ที่ Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว (อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเท้นท์ดีๆ)
Subscribe Career Fact - https://bit.ly/CareerFactYT
1
โฆษณา