12 ต.ค. 2020 เวลา 04:55 • กีฬา
สโมสรฟุตบอลอิตาลี ตอนนี้ 30% ขายกิจการให้ทุนต่างชาติมายึดครอง มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศที่อนุรักษ์นิยมขนาดนั้น วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่าย
ในเวลานี้ สิ่งที่แฟนบอลอิตาลี มีความกังวลใจคือสโมสรฟุตบอลในประเทศ ค่อยๆถูกเทกโอเวอร์ โดยกลุ่มทุนต่างชาติ ซึ่งในประวัติศาสตร์ร้อยกว่าปีตั้งแต่ก่อตั้งกัลโช่ เซเรีย อา ไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้มาก่อน
1
อธิบายคือในอดีต สโมสรฟุตบอลของอิตาลีจะถูกแบ็กอัพด้วยนักธุรกิจประจำเมือง แต่ละทีมจะมีเจ้าของเป็นเศรษฐีที่เอาเงินตัวเองลงมาสร้างทีมฟุตบอล
ยกตัวอย่างในยุคเซเว่น ซิสเตอร์ จะเห็นภาพชัดที่สุด ทีมแกร่งอย่างยูเวนตุสมีเจ้าของคือตระกูลอันเยลลี่ ซึ่งเป็นเศรษฐีในเมืองตูริน เจ้าของกิจการรถยนต์ FIAT (เฟี้ยต)
เอซี มิลาน มีเจ้าของคือซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลี ซึ่งเป็นชาวมิลานโดยกำเนิด หรือโรม่า มีเจ้าของคือตระกูลเซนซี่ เจ้าพ่อธุรกิจน้ำมัน ซึ่งเป็นชาวโรม ขณะที่ปาร์ม่ามีเจ้าของคือตระกูลแทนซี่ เจ้าของบริษัทอาหาร Parmalat ซึ่งก็เป็นชาวปาร์ม่า
นี่คือสิ่งที่แฟนบอลคุ้นชินมาตลอด ว่าฟุตบอลอิตาลี จะมีลักษณะนี้ เจ้าของทีมคือเศรษฐีท้องถิ่น มันมีความอนุรักษ์นิยมบางๆแฝงอยู่ ว่าฟุตบอลอิตาลี ก็ต้องถูกดำเนินการด้วยชาวอิตาลี พวกเขาไม่มีความคิดจะยกสมบัติ และจิตวิญญาณเหล่านี้ให้กับคนชาติอื่น
อย่างไรก็ตาม จากในอดีตที่ไม่มีสักสโมสรที่มีเจ้าของต่างชาติ แต่ปัจจุบัน เซเรีย อา มีถึง 6 สโมสร ที่มีเจ้าของเป็นชาติอื่นไปแล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก
6 ทีมจาก 20 ทีมในลีกสูงสุด คิดเป็น 30% เลยทีเดียว
1
เริ่มจากโบโลญญ่า ในปี 2014 ถูกเทกโอเวอร์โดย โจอี้ ซาปูโต้ นักธุรกิจชาวแคนาดา
ตามด้วยในปี 2016 อินเตอร์ มิลาน ถูกเทกโอเวอร์โดย กลุ่มทุนซูหนิง บริษัทเอกชนจากจีน ที่ทำให้พวกเขามีทุนมหาศาลนำมาซื้อตัวผู้เล่นได้หลายคน
เช่นเดียวกับคู่ปรับสำคัญเอซี มิลาน ที่ถูกเทกโอเวอร์โดย หลี่ หยงหง นักธุรกิจจากจีน ก่อนที่หลี่ หยงหงจะบริหารไม่ไหว ปล่อยสโมสรต่อให้เอลเลียตต์ เมเนจเมนต์จากสหรัฐอเมริกามาเป็นเจ้าของใหม่ ในปี 2018
ปี 2019 ร็อคโค่ ค็อมมิสโซ่ เจ้าของธุรกิจเคเบิ้ลทีวีในสหรัฐอเมริกา เข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรฟิออเรนติน่า
ล่าสุดในปีนี้ แดน ฟรีดกิ้น มหาเศรษฐีจากเท็กซัส ตัวแทนผู้ผลิตรถยนต์โตโยต้าในภาคใต้ของอเมริกา จ่ายเงิน 591 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้ออาแอส โรม่า ต่อจากเจมส์ ปัลล็อตต้า นักธุรกิจอเมริกันอีกคน
และอีกหนึ่งทีมคือปาร์ม่า ที่ตอนนี้ถูกไคล์ เคราส์ เจ้าของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ Kum and Go (คัมแอนด์โก) ชาวสหรัฐฯ จัดการเทกโอเวอร์ไปเรียบร้อยอีกหนึ่งทีม รวมเป็น 6 ทีมเข้าไปแล้ว
ในสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย เศรษฐีเจ้าของทีมสัญชาติอิตาลี หลายๆคนก็แบกรับการลงทุนไม่ไหวแล้ว คือการทำทีมฟุตบอล มันเหมือนละเลงเงิน ถ้าทีมคุณไม่ประสบความสำเร็จจริงๆ ก็ทำกำไรยาก ดังนั้นพอมีทุนต่างชาติเข้ามายื่นข้อเสนอ เจ้าของเดิมจึงไม่ลังเลใจ ปล่อยขายไปง่ายๆ
1
แต่คำถามที่แฟนบอลอิตาลีสนใจคือ ทำไมฟุตบอลอิตาลี ถึงกลายมาอยู่ในความสนใจของกลุ่มทุนต่างชาติเอาในตอนนี้?
ทั้งๆที่ตามปกติแล้ว เวลาคนชาติอื่นคิดจะเทกโอเวอร์ มักจะคิดถึงอังกฤษก่อน เพราะเป็นประเทศที่สื่อสารง่ายด้วยภาษากลาง แต่ตอนนี้เทรนด์เริ่มขยับมาเป็นกัลโช่ เซเรียอา ณ เวลานี้ ฟุตบอลอิตาลีมีอะไรน่าดึงดูดขนาดนั้นเลยหรือ?
ใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป จำนวนสโมสรที่ถูกเทกโอเวอร์โดยต่างชาติ มีดังนี้
- พรีเมียร์ลีก อังกฤษ (15 จาก 20 ทีม)
อาร์เซน่อล, แอสตัน วิลล่า,เชลซี, คริสตัล พาเลซ, เอฟเวอร์ตัน, ฟูแล่ม, ลีดส์, เลสเตอร์, ลิเวอร์พูล, แมนฯซิตี้, แมนฯยูไนเต็ด, เซาธ์แฮมป์ตัน, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน และ วูล์ฟแฮมป์ตัน
- ลีกเอิง ฝรั่งเศส (7 จาก 20 ทีม)
บอร์กโดซ์, ล็องส์, ลิลล์, มาร์กเซย, โมนาโก, นีซ และ เปแอสเช
- เซเรีย อา อิตาลี (6 จาก 20 ทีม)
โบโลญญ่า, ฟิออเรนติน่า, อินเตอร์ มิลาน, เอซี มิลาน, ปาร์ม่า และ โรม่า
1
- ลาลีกา สเปน (4 จาก 20 ทีม)
เอลเช่, กรานาด้า, บาเลนเซีย และ เรอัล บายาโดลิด
- บุนเดสลีกา (1 จาก 18 ทีม)
ไลป์ซิก
แน่นอน พรีเมียร์ลีก คือลีกนานาชาติ ใครๆก็อยากมาลงทุนด้วย ปัจจุบันมีเจ้าของหลายเชื้อชาติมากๆ ทั้งจีน, อเมริกา, อิตาลี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, รัสเซีย แม้กระทั่งไทย ในปัจจุบันเหลือแค่ 5 สโมสรจาก 20 ทีมที่มีเจ้าของเป็นคนอังกฤษแท้ๆ
อันดับ 2 ยังเป็นลีกเอิงฝรั่งเศส แต่อันดับ 3 นี่สิ คืออิตาลี ที่ตอนนี้แซงลาลีกาขึ้นมาจี้ลีกเอิงติดๆแล้ว
นักวิเคราะห์ชาวอิตาลี พยายามอธิบายปรากฎการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นได้เพราะอะไรกันแน่
[ 1-ราคาสมเหตุสมผล ]
การซื้อสโมสรสักทีม ทีมที่คิดจะขายก็จะตั้งราคาให้สูงที่สุด แต่คนที่อยากซื้อก็ต้องการซื้อในราคาที่ประหยัดมากที่สุดเช่นกัน
สำหรับลีกที่ขายทีมกันแพงที่สุดคือลีกอังกฤษ ซึ่งมีราคามหาโหดมาก นั่นเพราะเจ้าของทีมรู้อยู่แล้วว่า ลีกได้รับความสนใจจากทั่วโลก
เทียบกันให้เห็นภาพ ใครจะคิดว่าราคาซื้อขายของเซาธ์แฮมป์ตันกับปาร์ม่า จะต่างกัน 1 เท่าตัวพอดี
คือผลงานในสนาม เซาธ์แฮมป์ตัน กับ ปาร์ม่า ก็มีศักยภาพไม่ได้ต่างกันมาก ทั้งคู่ออกสตาร์ตซีซั่นมา แพ้ 2 นัดในลีกเท่ากัน แต่มูลค่าของทีมนั้นต่างกันลิบลับ
ตอนที่โจเซป ดาโกรซ่า นักธุรกิจอเมริกัน จะขอเทกโอเวอร์สโมสรเซาธ์แฮมป์ตัน เขาต้องจ่ายเงินถึง 200 ล้านปอนด์ เพื่อซื้อหุ้นส่วนทั้งหมดของทีม มาเป็นของตัวเอง ซึ่งหากเทียบกับราคาที่ไคล์ เคราส์ ซื้อปาร์ม่าในปีนี้ ตัวเลขยังไม่ถึง 100 ล้านปอนด์ด้วยซ้ำ นั่นแปลว่า ถ้าคุณอยากได้ทีมในอังกฤษ คุณต้องจ่ายเงินแพงมากๆ
1
และส่วนใหญ่ทีมในลีกสูงสุดอังกฤษเจ้าของก็ไม่ค่อยขายทีมกัน ถ้าคุณอยากเป็นเจ้าของทีมในพรีเมียร์ลีก ต้องไปซื้อตั้งแต่ทีมเล่นในลีกล่าง จากนั้นก็ค่อยๆไต่เต้าขึ้นมายังลีกสูงสุด คล้ายๆกับเคสของเลสเตอร์, ลีดส์ และวูล์ฟแฮมป์ตัน เป็นต้น
แต่สำหรับเซเรีย อา ในราคาที่น้อยกว่ากันครึ่งนึง คุณสามารถซื้อสโมสรชั้นดีได้เลย คุณสามารถซื้อปาร์ม่า ที่เล่นในเซเรียอาอยู่แล้ว ซึ่งการได้ของดีราคาเหมาะสมก็เป็นเหตุผลให้ธุรกิจต่างชาติมองว่า เออ จะไปจ่ายหนักๆในอังกฤษทำไม เมื่อคุณหาทีมดีๆในอิตาลีก็ได้นี่
2
คริสตัล พาเลซ โดนเทกโอเวอร์ในปี 2019 ด้วยราคา 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในปีเดียวกัน ฟิออเรนติน่า ถูกเทกโอเวอร์ในราคา 180 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถ้าว่ากันด้วยชื่อชั้น ฟิออเรนติน่า ยังดูดีกว่าพาเลซอีก แต่คุณสามารถซื้อได้ในราคาเซฟลง 100 ล้านดอลลาร์
ดังนั้นพรีเมียร์ลีกอาจจะนิยมก็จริง แต่ด้วยตัวราคาที่สูงมากมหาศาล ทำให้นักลงทุนจึงมองหาตลาดใหม่มากขึ้น ที่แม้จะได้รับความนิยมน้อยกว่า แต่ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้มากกว่า
[ 2- ประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า ]
ถ้าตัดพรีเมียร์ลีกออกไป ก็จะเหลือแค่ 4 ลีกใหญ่ที่นักธุรกิจจะพิจารณามาลงทุน นั่นคือ ลีกเอิง, กัลโช่, ลาลีกา และ บุนเดสลีกา
ความยากของบุนเดสลีกา คือมีกฎ 50+1 บล็อกอยู่ โดยเจ้าของต่างชาติหนึ่งเดียวของลีกเยอรมัน คืออาร์แบ ไลป์ซิก ที่เป็นธุรกิจจากออสเตรีย ดังนั้นถ้ากลุ่มทุนต่างชาติ จะเข้ามาซื้อทีมมันจะสามารถทำได้ยากมาก และต้องใช้เวลาเยอะ ไม่มีใครอดทนได้มากพอขนาดนั้น บุนเดสลีกาจึงถูกปัดตกไป
1
เป้าหมายของการซื้อทีม คือการทำสโมสรให้สร้างกำไร และวิธีที่ทีมฟุตบอลจะทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำที่สุด คือการได้ไปเล่นในรายการยุโรป ถ้าเป็นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกได้ก็ยิ่งดี มันจะทำให้มูลค่าของทีมเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
เคสอย่างเลสเตอร์ ซิตี้ ทีมที่เริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย ตอนวิชัย ศรีวัฒนประภา ซื้อสโมสรต่อจากมิลาน มันดาริช ในปี 2010 ราคาอยู่ที่ 40 ล้านปอนด์เท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้ แค่ซื้อนักเตะดีๆสักคนในปัจจุบันยังไมได้ด้วยซ้ำ แต่พอเลสเตอร์ประสบความสำเร็จ ได้แชมป์ลีก และได้ไปเล่นแชมเปี้ยนส์ลีก มูลค่าทีมในปัจจุบันอยู่ที่ 200 ล้าน ซึ่งเป็นสโมสรฟุตบอลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 22 ของโลก
ดังนั้นนักลงทุนมองว่าถ้าซื้อทีมได้แม่นยำ ถูกต้อง แล้วทีมกระโดดไปแชมเปี้ยนส์ลีกได้เมื่อไหร่ ก็ทำเงินรวยเละเหมือนกัน คำถามคือในสามลีก อิตาลี, สเปน และ ฝรั่งเศส จะไปซื้อลีกไหนดีล่ะ
สเปนนั้น นักลงทุนมองว่าโอกาสประสบความสำเร็จยาก เพราะโควต้าแชมเปี้ยนส์ลีก 3 จาก 4 ก็รู้กันว่าถูกจองไว้แล้วโดย เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า และ แอตเลติโก้ มาดริด ในแต่ละปี จะมีทีมสอดแทรกขึ้นมา 1 ทีม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเซบีญ่า หรือบาเลนเซีย สลับๆกันไป
1
ดังนั้นถ้าสมมุติเทกโอเวอร์สักสโมสร โอกาสที่จะแย่งชิงโควต้าชปล. มันเป็นอะไรที่ยากมากๆ
ขณะที่ในลีกเอิงฝรั่งเศส อาจจะง่ายกว่าสเปนก็จริง แต่โควต้าในชปล. ก็มีแค่ 3 ทีมเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยกว่าลีกใหญ่ลีกอื่น ความยากก็เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น ลีกอิตาลี จึงดูมีแนวโน้มที่ลงตัวมากสุด สำหรับนักลงทุน กล่าวคือกัลโช่ เซเรียอา มีสล็อตของแชมเปี้ยนส์ลีกถึง 4 ที่นั่ง โอเคว่าใน 1 ปี จะมียูเวนตุสล็อกไว้ 1 ทีม แต่กับทีมอื่น อันดับสามารถขึ้นลงได้ตลอด อินเตอร์, โรม่า, นาโปลี, ลาซิโอ, เอซี มิลาน แม้แต่อตาลันต้า คือแต่ละปี จะมีทีมเซอร์ไพรส์ที่ทะลวงไปเล่นแชมเปี้ยนส์ลีกได้เสมอ
ดังนั้น นักลงทุนก็มองว่า การซื้อทีมในอิตาลีดูคุ้มค่า ราคาไม่แพงเกินควร และมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า เป็นอะไรที่ตอบโจทย์พอดี
[ 3-เซเรียอาต้องการเงิน เพื่อยกระดับของสโมสร ]
นักวิเคราะห์มองว่า ในขณะที่ลีกอื่นๆ จะไม่มีใครแทรกแซงเรื่องกระบวนการเทกโอเวอร์ แต่ในอิตาลีจะต่างออกไป โดยทางสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี จะเน้นย้ำกับสโมสรเลยว่า นักธุรกิจทุกคนที่เข้ามา มีเงื่อนไขคือต้องช่วยสร้างสาธารณปูโภคใหม่ๆให้กับทีม ไม่ว่าจะการสร้าง หรือต่อเติมสนามใหม่ และการรีโนเวทพื้นที่รอบๆสนามแข่งขันให้ทันสมัยขึ้น
ในอิตาลีนั้นหลายๆทีม ยังใช้สนามดั้งเดิมที่ใช้งานมาหลายสิบปี โดยขาดการบูรณะ และบำรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้น เหตุผลง่ายๆคือ พวกเขาไม่มีเงินทุนพอ พอมีเงินสักก้อนก็ต้องเอาไปลงกับการซื้อตัวนักเตะ เพื่อประคองทีมให้อยู่ในลีกสูงสุดต่อไป ดังนั้นจึงไม่มีทุน ที่จะเอาไปปรับปรุงสนาม
นอกจากนั้นสนามส่วนใหญ่ของทีมในอิตาลีก็เช่าสภาเมือง ดังนั้นถ้าสภาเมืองไม่คิดจะรีโนเวทให้เอง สโมสรก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นหน้าที่ของสโมสรหรือ ที่ต้องมาจ่ายเงินตรงนี้ ดังนั้นมันก็เลยกั๊กๆกันแบบนี้ และทีมก็ต้องใช้สนามโบราณที่ขาดการบำรุงต่อไปเรื่อยๆ
ดังนั้นทางสหพันธ์ฯ จึงมองว่า เมื่อคุณจะปล่อยให้เขาเทกโอเวอร์แล้ว จำเป็นต้องใส่เงื่อนไขมาด้วย ว่าจะพัฒนาสนามแข่งขันให้อัพเกรดมากขึ้น คือไม่ใช่ปล่อยขายแล้วให้ชาวต่างชาติเข้ามากอบโกยเงินแล้วก็ไป แบบนี้สโมสรและชาวเมืองก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
วิธีการนี้ ถือว่าได้ผล ตัวอย่างเช่นโรม่า ที่ถูกเทกโอเวอร์โดยแดน ฟรีดกิ้น ก่อนที่จะจ่ายเงินซื้อสโมสรได้ ฟรีดกิ้นต้องเข้าประชุมกับนายกเทศมนตรีกรุงโรม และต้องจ่ายเงินก้อน 170 ล้านยูโร แยกมาเป็นพิเศษ เพื่อให้เมืองนำไปสร้างทางรถไฟ และสถานีรถไฟแห่งใหม่ ที่บริเวณใกล้เคียงกับสนามแข่งขัน
หรืออย่างเอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน ที่ถูกเทกโอเวอร์แล้วทั้งคู่ เจ้าของทั้งสองสโมสรก็ต้องช่วยกันออกเงิน เพื่อสร้างคอมเพล็กซ์แห่งใหม่ ใจกลางเมืองมิลาน พร้อมบูรณะซานซีโร่ใหม่ ให้ทันสมัยมากขึ้น ลดจำนวนที่นั่งลง จากเดิม 8 หมื่น เหลือแค่ 6 หมื่นเท่านั้น แต่เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง
ในเมื่อทุนในประเทศ มีไม่พอจะสร้างสิ่งต่างๆเหล่านี้ ทางสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี จึงยินดีให้นักธุรกิจต่างชาติเอาเงินมาลงทุนได้ แต่ก็มีเงื่อนไขคือสโมสรและเมือง ต้องได้อะไรกลับมาเช่นกัน
1
สามเหตุผลประกอบกัน นักลงทุนมองว่าสโมสรในอิตาลีคุ้มค่าคุ้มราคาที่สุด แฟนบอลเองก็อยากให้ทีมยกระดับไปข้างหน้า ขณะที่สหพันธ์ฯ ก็อยากให้สนามและสาธารณูปโภคต่างๆ มีการอัพเกรดขึ้น ดังนั้นเราจึงค่อยๆเห็นการเทกโอเวอร์ มากขึ้นเรื่อยๆ ในฟุตบอลอิตาลี ณ เวลานี้
จริงๆ ถามว่าเจ้าของต่างชาติ เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลถือว่าแปลกไหม ลองคิดภาพตาม ถ้าหากเจ้าของทีมในไทย อย่างเมืองทอง, ท่าเรือ, บุรีรัมย์ เป็นชาวต่างชาติ แล้วเวลาที่เราซื้อตั๋วเข้าชม หรือซื้อของที่ระลึกกับสโมสรก็อาจรู้สึกเหมือนกันว่า อ้าว เงินที่เราจ่ายไป มันก็ไหลออกไปนอกประเทศสิ
1
รวมถึงเจ้าของใหม่ เราก็ไม่มีทางรู้ว่าเขาจะเปลี่ยนวัฒนธรรมอะไรของสโมสรหรือเปล่า ดังนั้น ที่อิตาลีที่คุ้นเคยกับการปกครองโดยเศรษฐีท้องถิ่นมาตลอด จึงมีความกังวลใจอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม ในโลกฟุตบอลยุคปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ามันสู้กันด้วยเงินทุนแล้ว ถ้าคุณคิดจะยกระดับทีม มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ใช้เงิน ดังนั้นการเทกโอเวอร์ ณ เวลานี้ ก็ถูกยอมรับได้ในที่สุด และเชื่อว่า ในอิตาลีจะมีสโมสรถูกเทกโอเวอร์มากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่า 6 ทีมในปัจจุบันแน่ๆ
จริงๆแล้ว เจ้าของต่างชาติจะถูกยอมรับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณให้ใจกับทีมมากแคไหน ทำให้ทีมพัฒนาขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหรือเปล่า
เพราะการเป็นคนต่างชาติ จะทำให้คุณถูกคนท้องถิ่นตั้งแง่ตั้งแต่แรก ว่าอยากเข้ามากอบโกย ดังนั้นมันจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของคนใหม่ที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง
ถ้าคุณเป็นแบบเลสเตอร์ ทำทีมเลื่อนชั้นจนกลายเป็นแชมป์ลีก เป็นสโมสรแถวหน้าอีกครั้งแบบนี้ แฟนๆก็จะรักและชื่นชมคุณ แต่ถ้าคุณมาเพื่อหวังสูบเงินเป็นหลัก เป็นสโมสรเป็นบ่อเงินบ่อทองเพื่อส่งเงินกลับประเทศตัวเอง แบบนี้ก็ไม่แปลกที่จะโดนต่อต้าน
1
เพราะสุดท้ายแล้ว แฟนบอลไม่ได้กลัวการเทกโอเวอร์ แต่กลัวสโมสรโดนนักธุรกิจหน้าเลือด ซื้อทีมไปเพื่อหวังเอาแต่กอบโกยเข้ากระเป๋าตัวเองต่างหาก
#SERIEA
โฆษณา