12 ต.ค. 2020 เวลา 08:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เมื่อ "เวียดนาม" ผู้ชนะสงครามการค้า ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ถูกสหรัฐฯ ตั้งข้อหา
1
- สหรัฐฯ เปิดการไต่สวนการค้า กรณีนโยบายค่าเงินดองของเวียดนาม ที่อาจมีการประเมินค่าต่ำเกินไป
- เศรษฐกิจเวียดนาม ไตรมาส 3 ปี 2563 เติบโต 2.62% (YoY) แม้ครึ่งปีแรกจะทรุดตัว
- เวียดนามเป็น 1 ใน 10 รายชื่อเฝ้าจับตาของสหรัฐฯ ว่าอาจมีการบิดเบือนค่าเงิน
2
ในเวลานี้แทบจะพูดได้เต็มปากว่า "เวียดนาม" มีความโดดเด่นมากที่สุดในอาเซียน ถนนทุกสายต่างวิ่งเข้าหา เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวในปีนี้ หลังการค้าและอุตสาหกรรมการผลิตกลับมาฟื้นตัวจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้หยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง ล่าสุด ไตรมาส 3 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ "จีดีพี" (Gross Domestic Product: GDP) พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 2.62% และรัฐบาลยังคาดการณ์อีกว่า เศรษฐกิจทั้งปีนี้ของ "เวียดนาม" จะเติบโต 2% ถึง 2.5% ทีเดียว
อะไรที่ทำให้ "รัฐบาลเวียดนาม" มั่นใจขนาดนั้น?
เรามาย้อนดูตัวเลขอันแสนประทับใจในปีนี้ของ "เวียดนาม" กันหน่อย...เริ่มกันที่ 9 เดือนแรกปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เศรษฐกิจเติบโต 2.12% การส่งออกเพิ่มขึ้น 4.2% นำเข้าลดลง 0.8% อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย 3.85% เกือบถึงเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้คือ 4%
และพอมาดูแค่เดือนกันยายน การส่งออกก็ดีดเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 18% เทียบกับที่นักเศรษฐศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 6.5% ส่วนการนำเข้าก็เพิ่มขึ้น 11.6% (เดิมประมาณไว้ว่า +4%) และดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 2.98% จากปีก่อน
1
ตัวเลขเหล่านี้ของ "เวียดนาม" เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ถ้ามองกลับไปตั้งแต่ช่วง "สงครามการค้า" เริ่มปะทุ...จนทวีความรุนแรง ก็จะเห็น "ตัวเลข" ที่น่าสนใจมากกว่านั้นอีก ที่บอกได้ว่า "เวียดนาม" เป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากการแล่นเรือหลบหลีก "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
- เมื่อ "เวียดนาม" กลายเป็นผู้ชนะสงครามการค้า
คงไม่ต้องอธิบายว่า "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้นรุนแรงแค่ไหน อย่างช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ความตึงเครียดยิ่งทวีคูณ บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Apple, Nintendo, Google ต่างพากันหนีออกจากจีน ย้ายโรงงาน ย้ายฐานการผลิตไปตั้งที่ "เวียดนาม" เพราะหวังจะได้สิทธิพิเศษทางการค้ากับสหรัฐฯ เหมือนเดิม (หรืออาจจะดีกว่า...) จนทำให้การส่งออกสินค้าจากเวียดนามไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แค่ 11 เดือนแรกของปีที่แล้ว การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็เพิ่มขึ้นถึง 76%
จนมาถึงปัจจุบัน "เวียดนาม" ก็ยังเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวโลก ว่าเป็นหนึ่งใน "ผู้ชนะ" เพียงไม่กี่รายใน "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งก่อนหน้าโควิด-19 จะแพร่ระบาดในเดือนมกราคม มีการประมาณการว่า ปี 2563 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตสูงกว่าปี 2562
แน่นอน...เมื่อ "โดดเด่น" ก็ต้องถูกจับตามอง!
"เวียดนาม" เองก็เช่นกัน หนีไม่พ้น!
ผลข้างเคียงจาก "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้ "เวียดนาม" กลายเป็น "ผู้ชนะ" แบบไม่ตั้งตัว และดันตัวเลขการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี ...จนท่านผู้นำ "โดนัลด์ ทรัมป์" ต้องหันขวับ เปิดบัญชีเช็กตัวเลขโดยด่วน นำไปสู่...การเปิดสอบสวน "เวียดนาม" ในข้อหา "บิดเบือนค่าเงิน!"
- เมื่อ "เวียดนาม" ตกเป็นผู้ต้องสงสัย รอสหรัฐฯ พิพากษา
"วอชิงตันจะดำเนินการเปิดสอบสวนพฤติกรรม นโยบาย และอัตราแลกเปลี่ยนของเวียดนาม ที่อาจมีส่วนทำให้การประเมินค่าเงินต่ำเกินจริง และส่งผลเสียกับการค้าและธุรกิจของสหรัฐฯ"
ถ้อยความส่วนหนึ่งภายในแถลงการณ์ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม บ่งบอกสถานการณ์ตอนนี้ได้ว่า... "เวียดนาม" กำลังตกเป็น "ผู้ต้องสงสัย" ในข้อหาร้ายแรง "บิดเบือนค่าเงิน!"
ทำไมอยู่ดีๆ "เวียดนาม" ถึงตกเป็น "ผู้ต้องสงสัย"
เรื่องมันเริ่มจากตรงนี้...
เมื่อการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มีจำนวนมากกว่าการนำเข้า ...ปัญหามันเลยเกิด โดยมี "มูลค่าค่าเงิน" เป็นตัวแปรสำคัญในความสมดุลนี้ ยิ่งค่าเงินอ่อน สินค้าที่ส่งออกราคาก็จะถูก ชาวอเมริกันก็ซื้อเยอะ กลับกันสินค้าสหรัฐฯ ที่นำเข้าเวียดนามกลับแพงขึ้น ก็ทำให้ซื้อน้อยลง
สุดท้ายกลายเป็นว่า "เวียดนาม" เกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูงสุดเป็นอันดับ 4 รองจากจีน, เม็กซิโก และสวิตเซอร์แลนด์ โดยเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว "ทรัมป์" ถึงกับออกมาหวด "เวียดนาม" อย่างหนักว่า "เลวร้ายยิ่งกว่าจีน!"
ไม่เพียงเท่านั้น คณะบริหารทรัมป์ยังฟาดภาษีศุลกากรไปที่ผลิตภัณฑ์เหล็กของเวียดนามด้วย เพราะคลางแคลงใจว่า จีนอาจเป็นผู้ผลิต เพียงแต่รีแบรนด์ใหม่ว่าผลิตในเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษทางภาษีสินค้าส่งออกจากจีน
ย้อนกลับไปตั้งแต่ "ทรัมป์" เข้ารับตำแหน่งในปี 2560 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสะสมกับเวียดนามสูงถึง 3.83 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.19 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 3.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.22 ล้านล้านบาท ในปี 2561 ก่อนจะเพิ่มมาเป็น 5.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.73 ล้านล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว และนับตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงเดือนกรกฎาคม ก็ขาดดุลการค้าสะสมกว่า 3.48 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.08 ล้านล้านบาท
นี่เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ได้ว่า เมื่อจบสิ้นปี 2563 ตัวเลขขาดดุลการค้าสะสมอาจสูงกว่าปีที่ผ่านมา
และนี่ยังเป็นชนวนเหตุให้ "เวียดนาม" กลายเป็น "ผู้ต้องสงสัย"
- เปิดการสอบสวนภายใต้กฎหมายการค้า 1974 : Section 301
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยใช้ Section 301 สอบสวนจีนมาแล้ว เพื่อตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้ามูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านบาท และนับเป็นการเริ่มต้นเปิดฉาก "สงครามการค้า" ระหว่าง 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ...ตั้งแต่นั้นมา
มาคราวนี้ถึงคิว "เวียดนาม" โดยเมื่อเดือนมกราคม เวียดนามถูกจัดเป็นหนึ่งใน 10 รายชื่อเฝ้าจับตาที่มีความเป็นไปได้ว่าจะบิดเบือนค่าเงิน และในเดือนสิงหาคม สหรัฐฯ ก็ลงความเห็นว่า "เวียดนาม" เข้าเกณฑ์การบิดเบือนค่าเงินทางการค้าอย่างน้อย 1 กรณี คือ มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างน้อย 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.2 แสนล้านบาท ในรอบมากกว่า 12 เดือน โดยเฉพาะกรณีการค้าที่เกี่ยวพันกับ "ยางรถยนต์"
จากการสืบสวนโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ พบความน่าสงสัยว่า ปี 2562 อาจมีเจตนากดค่าเงินให้ต่ำเกินจริง ราว 4.7% ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2558 เงินดองเสื่อมค่าลง -6.2% ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และลดลง -2% นับจากปี 2561-2562
แน่นอนว่า หากสหรัฐฯ ตัดสินว่า "เวียดนามบิดเบือนค่าเงิน" ก็จะนำไปสู่ "บทลงโทษ" ในขั้นต่อไป
"บทลงโทษ" ที่น่ากลัวก็คงหนีไม่พ้น "การตั้งกำแพงภาษี" กับสินค้าส่งออกของเวียดนาม แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า บทลงโทษนั้นจะบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายนหรือไม่ และอาจเป็นบางรายสินค้า คงไม่ใช่การกวาดทั้งหมด เป็นไปได้ว่าประมาณอย่างน้อย 3% ของการค้าสหรัฐฯ ทั้งหมด หรือเกือบ 20% ของเวียดนาม เรียกง่ายๆ ว่า... สหรัฐฯ กำลังยิงขู่เวียดนาม เพื่อเตือนประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วย
อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วการสอบสวนค่าเงินจะใช้เวลาค่อนข้างนานหลายเดือน ฉะนั้น บทลงโทษที่สหรัฐฯ จะใช้ลงดาบเวียดนามก็คงน่าจะยังไม่เกิดก่อนสิ้นปีนี้
และไม่ว่าผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร ...การสอบสวนที่เกิดขึ้นก็ดูจะไม่ค่อยดีนักในแง่การขยายความสัมพันธ์กับเวียดนาม ที่สหรัฐฯ พยายามทำมาตลอดหลายช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งกลยุทธ์คู่ค้าที่แนบแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ และการเป็นเบื้องหลังคอยหนุนนำกรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้
1
หากสหรัฐฯ มีบทลงโทษกำแพงภาษีขั้นรุนแรงกับ "เวียดนาม" จริงในตอนสุดท้าย ก็อาจจะทำให้การสมานสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยากขึ้น
"เวียดนาม" ต่ออายุสถานะ "ผู้ชนะสงครามการค้า" ต่อไป.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Varanya Phae-araya
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา