13 ต.ค. 2020 เวลา 13:52 • การเมือง
วิเคราะห์ยุทธวิธีเด็ดปีกม็อบ ดุเดือดเผชิญหน้า ก่อนวันชุมนุม 14 ต.ค.
ก่อนการชุมนุมของกลุ่มประชาชนในนาม “คณะราษฎร” ในวันที่ 14 ต.ค.จะเริ่มขึ้นยังจุดนัดพบ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปตั้งเวทีปราศรัย และพักค้างคืนรอบทำเนียบรัฐบาล ตามการประกาศของแกนนำม็อบ
แต่ยังไม่ทันเริ่มการชุมนุม 14 ต.ค. ได้เกิดความวุ่นวายเมื่อช่วงเวลาประมาณบ่าย 3 ครึ่งของวันที่ 13 ต.ค. ขณะผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรอีสาน เตรียมพื้นที่ปราศรัย มีการปะทะสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ
ทำให้นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์” พร้อมผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง ถูกควบคุมตัวไปจากพื้นที่
(อ่านข่าวนี้: https://www.thairath.co.th/news/politic/1951645)
ในเวลาต่อมาแกนนำคณะราษฎร ได้ประกาศด่วนผ่านทางโซเชียล ให้บรรดาแนวร่วมไปชุมนุมด่วน บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 6 โมงเย็น เพื่อกดดันเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปล่อยตัวกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับไป หรือเหตุการณ์กำลังรุนแรงคุกรุ่นมากยิ่งขึ้น ในคำ่คืนก่อนวัน "ชุมนุม 14 ต.ค." โดยเฉพาะท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีความเข้มข้นดุดันมากขึ้น หรือจะเป็นยุทธวิธี ตัดกำลังแกนนำม็อบ เพื่อให้การชุมนุมสลายพลังลง
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์สาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ผ่าน "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" ว่า ณ ตอนนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ได้ประกาศเป็น "คณะราษฎร" ให้เป็นกลุ่มใหญ่มากขึ้น ยังคงมีกลุ่มเล็กเคลื่อนไหวตามจุดยืนของตัวเอง ไปยังพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค เช่น กลุ่มคณะราษฎรอีสาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง แม้มีการนัดชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. เพื่อผนวกกันเป็นกลุ่มใหญ่ก็ตาม
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ในการกำกับดูแลฝูงชนมากกว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. และ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่การชุมนุมครั้งนี้ กลับมีสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากมีกลุ่มอีกขั้วอุดมการณ์ มาชุมนุมในพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีความเสี่ยงจะเกิดการเผชิญหน้าและปะทะกัน อาจนำไปสู่เหตุการณ์บานปลาย แตกต่างกับเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุม พยายามไม่ให้เกิดความรุนแรง เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก่อความรุนแรงก็จะเสียเปรียบทันที
รศ.ดร.ยุทธพร ยังมองอีกว่า ในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐ ยังถูกจ้องมองว่ามีการใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ กับกลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย หากมีการปฏิบัติอย่างเสมอภาคก็ไม่เป็นปัญหา ยกเว้นมีการเลือกปฏิบัติ อาจเกิดการ “เรียกแขก” ก็เป็นไปได้
ส่วนการจับกุมแกนนำกลุ่มคณะราษฎรอีสานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นไปตามที่คาดหมายอยู่แล้ว แต่หากมีคำอธิบายให้กับสังคม ก็คงไม่เกิดปัญหาตามมา และถือเป็นหนึ่งในยุทธวิธีในการเด็ดปีก ด้วยการจับกุมแกนนำผู้ชุมนุม ก่อนการชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องระมัดระวัง รวมถึงผู้ชุมนุมอย่าพยายามยั่วยุ ให้เกิดความรุนแรง เพราะสถานการณ์ต่างๆ ยังมีทางออก ต้องระมัดระวังกันทุกฝ่าย
สำหรับการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. เชื่อว่าจะมีแนวร่วมและมวลชน ไม่น้อยกว่าวันที่ 16 ส.ค.และวันที่ 19 ก.ย. คาดว่าการชุมนุมน่าจะยืดเยื้อมากกว่า 2 วัน หากการชุมนุมยืดเยื้อต้องจับตาการประคับประคองของทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุมจะเป็นอย่างไร โดยมองว่าการชุมนุมในช่วงเวลาทำงาน อาจไม่ใหญ่มาก ต้องรอในช่วงเย็นและหัวค่ำ จะเป็นไฮไลต์ในการชุมนุม ซึ่งมีความเสี่ยงด้วยบรรยากาศ และข้อจำกัดในเวลากลางคืน มีโอกาสจะเกิดเหตุรุนแรงได้จากมือที่ 3
นอกจากนี้มองว่าปัจจัยที่จะทำให้การชุมนุมจะยืดเยื้อหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่การตอบสนอง หากเป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมก็มีโอกาสยุติ แต่หากไม่ตอบสนองก็ไม่ยุติการชุมนุม และยังขึ้นอยู่กับทรัพยากรต่างๆ รวมถึงสภาพอากาศ สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น รถสุขา และหากบรรดาแกนนำจะถูกจับกุม จะทำให้ไม่มีผู้กำหนดทิศทางการชุมนุม เหมือนอนาธิปัตย์ เมื่อไม่มีใครกำกับดูแล จะทำให้การเมืองมวลชนเกิดความวุ่นวาย ซึ่งตรงนี้น่ากังวลและน่ากลัว
เกาะติดข่าวชุมนุม 14 ตุลาได้ที่นี่:
โฆษณา