14 ต.ค. 2020 เวลา 11:24 • กีฬา
นี่คือการตัดสินใจครั้งสำคัญของเซอร์จินโญ่ เดสต์ แบ็กขวาของอาแจ๊กซ์ ว่าจะเลือกทีมชาติที่ตัวเองใฝ่ฝัน หรือจะเลือกทีมชาติที่ต้องการเขาจริงๆ วิเคราะห์บอลจริงจังหยิบมาเล่าให้ฟัง
1
ฟุตบอลยุคนี้ เรื่องการไล่ล่านักเตะ ไม่ได้มีแค่ระดับสโมสรเท่านั้น แต่กับ "ทีมชาติ" ก็ยังต้องแย่งชิงผู้เล่นกันอย่างดุเดือดไม่แพ้กัน
สำหรับนักเตะที่มีสัญชาติเดียว อันนั้นก็ไม่มีอะไร แต่ในปัจจุบัน มีนักเตะเก่งๆหลายคนมาก ที่สามารถเลือกเล่นได้ 2 ประเทศขึ้นไป บางคนเป็นลูกครึ่ง บางคนมีเลือดเนื้อของประเทศนี้แต่ไปโตที่ประเทศหนึ่ง แต่แน่นอน ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะมีกี่ทางเลือก นักเตะก็สามารถเลือกเล่นได้กับแค่ชาติเดียวเท่านั้น
ดังนั้นสมาคมฟุตบอลของประเทศต่างๆ จึงต้องทำงานอย่างเต็มที่เพื่อล็อบบี้นักเตะให้ตัดสินใจเลือกชาติตัวเอง เพราะคิดง่ายๆ ถ้าได้ตัวนักเตะเก่งๆมาสู่ทีม ทีมก็จะแกร่งขึ้นและประสบความสำเร็จได้ในการแข่งขันระดับชาติ
ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือกรณีของ วิลฟรีด ซาฮา ดาวเตะคริสตัล พาเลซ พ่อแม่เป็นคนไอวอรี่โคสต์ แต่อพยพมาอยู่ที่ลอนดอนตั้งแต่เขา 8 ขวบ ทำให้มีทางเลือก เล่นให้ได้ทั้งกับไอวอรี่โคสต์ และอังกฤษ ซึ่งในสมัยเยาวชน u-19 และ u-21 ซาฮา ก็เล่นให้อังกฤษมาตลอด
ทีมชาติชุดใหญ่ของอังกฤษ ซาฮาเคยลงเล่น 2 นัด คือเกมอุ่นเครื่องกับสวีเดน และสกอตแลนด์ แต่ด้วยกฎของฟีฟ่า ถ้าคุณยังไม่ได้ลงเล่นในเกมทางการ ( competitive game) คุณยังสามารถเปลี่ยนทีมชาติได้อยู่
1
ซึ่งทางไอวอรี่โคสต์ก็ไม่ยอมแพ้ คอยล็อบบี้อยู่เบื้องหลังเพื่อโน้มน้าวให้ซาฮาตัดสินใจใหม่เป็นครั้งสุดท้าย โดยอธิบายชัดเจนว่าถ้าเลือกไอวอรี่โคสต์เขาการันตีตัวจริง และมีโอกาสได้ไปฟุตบอลโลกแน่ๆ ขณะที่กับอังกฤษการที่เขาอยู่ทีมเล็ก ไม่มีอะไรการันตีว่าจะถูกเรียกตัวอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อเกลี้ยกล่อมนานๆเข้า ซาฮาคล้อยตาม และในที่สุดก็ตัดสินใจเปลี่ยนทีมชาติ ไปเล่นให้ไอวอรีโคสต์แทน เล่นเอาฝั่งอังกฤษก็ช็อกไปเหมือนกัน ที่โดนปาดหน้ากันดื้อๆแบบนี้
นี่คือตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่า การแย่งชิงนักเตะทีมชาติ มันมีความเข้มข้น ดุเดือด เพราะใครๆก็อยากได้คนเก่งมาอยู่กับตัวเองทั้งนั้น
สำหรับในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีอีกหนึ่งกรณีที่มีความน่าสนใจมากๆ นั่นการแย่งชิงนักเตะฟูลแบ็กอัจฉริยะ ที่ชื่อเซอร์จินโญ่ เดสต์ ดาวเตะที่เพิ่งย้ายจากอาแจ๊กซ์ ไปอยู่กับบาร์เซโลน่า ในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมาด้วยราคา 21 ล้านยูโร
เดสต์ เป็นฟูลแบ็กที่มีเทคนิคร้ายกาจมากๆ เขาตัวเล็ก แต่เลี้ยงบอลเก่งสุดๆ ดวลตัวต่อตัวกับคู่แข่งอยู่ดีๆ ก็ใช้ท่า Flip-Flap หลอกจนอีกฝ่ายหลังหักได้ คือทักษะดีเกินกว่ากองหลังทั่วไป
ซึ่งสกิลแบบนี้ แน่นอนว่าพอย้ายไปอยู่กับบาร์ซ่าที่มีแต่นักเตะเก่งๆ ย่อมทำให้เขาพัฒนาขึ้นมากกว่านี้อีก และในอนาคตอันใกล้ เดสต์อาจยกระดับตัวเอง กลายเป็นฟูลแบ็กระดับท็อปเท็นของโลกก็ได้
สำหรับเดสต์นั้น เขาเองก็อยู่ในดราม่าการแย่งชิงตัวของ 2 ทีมชาติเช่นกัน นั่นคือฮอลแลนด์ กับสหรัฐอเมริกา
เดสต์มีคุณแม่เป็นคนดัตช์ และมีคุณพ่อเป็นคนสหรัฐฯ เขาถือพาสปอร์ต 2 เล่มตั้งแต่เด็กแล้ว ดังนั้นสามารถเลือกเล่นได้ทั้งกับ 2 ประเทศ
ตัวเดสต์เกิดที่เมืองอัลเมียร์ ในฮอลแลนด์ เขาพูดดัตช์ได้คล่องแคล่วเพราะเป็นภาษาแม่ ส่วนภาษาอังกฤษพูดได้งูๆปลาๆ ไม่คล่องนัก
ส่วนในเรื่องของฟุตบอล ตอนอายุ 10 ขวบ เดสต์ได้เฝ้าดูทีมชาติฮอลแลนด์คว้ารองแชมป์โลกที่แอฟริกาใต้ เขาเติบโตมาด้วยการเห็นนักเตะดัตช์ในเวทีโลก ทั้งเวสลีย์ สไนจ์เดอร์, อาร์เยน ร็อบเบน และ โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ ดังนั้นความฝันของเขาก็คืออยากติดทีมชาติฮอลแลนด์ ได้ติดธงไปเล่นให้ทีมอัศวินสีส้ม เหมือนอย่างรุ่นพี่ในรุ่นก่อนๆ
เมื่อดูๆแล้ว หนทางที่สหรัฐฯ จะเข้าไปแย่งตัวเดสต์ก็นับว่ายาก เพราะความรักในใจของนักเตะ มีให้ฮอลแลนด์ตั้งแต่แรกแล้ว
อย่างไรก็ตาม นั่นล่ะเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ของสมาคมฟุตบอลแต่ละประเทศต้องทำ คือโน้มน้าวด้วยความสามารถทั้งหมดที่มี ทำอย่างไรก็ได้ ให้นักเตะสนใจจะพิจารณาข้อเสนอของทีมชาติตัวเอง
แบ็กกราวน์ในการค้าแข้งของเซอร์จินโญ่ เดสต์ เขาเริ่มต้นเล่นกับทีมอัลเมียร์ ในบ้านเกิด ก่อนที่ตอนอายุ 12 ขวบ จะได้ย้ายมาอยู่อะคาเดมี่ของอาแจ๊กซ์อันโด่งดัง และเริ่มต้นเรียนรู้ศาสตร์ของฟุตบอลฮอลแลนด์ตั้งแต่ตอนนั้น
ทักษะของเดสต์อยู่ในระดับที่โอเค เขาเริ่มต้นจากการเป็นกองหน้า แต่โค้ชก็ค่อยๆเปลี่ยนตำแหน่งเขาไปเรื่อยๆ มากองกลาง แล้วไปสรุปจบที่ฟูลแบ็ก
"เซอร์จินโญ่ เป็นดาวรุ่งที่ตัวเล็กมาก ว่ากันตรงๆ คือเราเองก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะพัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็นนักเตะที่ดีมากๆได้" เดวิด เอนด์ อดีตผู้อำนวยการของอาแจ๊กซ์เล่า
นอกจากนั้น ปัญหาของเดสต์ก็คือ หัวช้ามากในเรื่องแท็กติก กล่าวคือเขามีสภาพร่างกายที่แข็งแรงวิ่งเร็ว เป็นจุดเด่นทางกายภาพ แต่เมื่อโค้ชสั่งให้ทำแบบนั้น แบบนี้ ยืนตำแหน่งนั้น ยืนตำแหน่งนี้ เขาจะไม่ค่อยเข้าใจ ต้องใช้เวลาเรียนรู้อยู่นาน กว่าที่จะนึกออกว่าสิ่งที่โค้ชต้องการคืออะไร
"เซอร์จินโญ่มีพรสวรรค์นะ แต่เขาไม่เก่งเลย ในเรื่องการเรียนรู้แท็กติก เมื่อเขาเรียนรู้ช้า บางทีก็จะอารมณ์เสีย แล้วพาลไปที่เรื่องอื่นๆด้วย พอลองทำหลายๆทีแล้วไม่ได้ เขาจะระเบิดอารมณ์ออกมาแล้วพูดว่า 'ไม่ ผมไม่ทำ ผมไม่อยากทำ ทำไมผมต้องทำมันล่ะ' " เจอร์รี่ วิงค์ โค้ชทีมเยาวชนอาแจ๊กซ์ย้อนความหลัง
จริงๆแล้ว การอยู่ทีมเยาวชนอาแจ๊กซ์เหมือนเป็นบันไดทางลัดสู่การติดทีมชาติฮอลแลนด์ชุดเยาวชน โดยรุ่นพี่หลายคน อย่างเฟรงค์กี้ เดอ ยอง, มัทไธส์ เดอ ลิกต์ หรือ ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค ก็มีเส้นทางแบบนี้ คืออยู่ทีมเยาวชนอาแจ๊กซ์ จากนั้นถูกเรียกติดทีมชาติชุดเยาวชน ก่อนจะได้ไต่เต้าสู่ทีมชุดใหญ่ในเวลาไม่นาน
ซึ่งเดสต์ก็มั่นใจในพรสวรรค์ตัวเองว่าเขาก็น่าจะติดทีมชาติชุดเยาวชนได้เหมือนกัน โดยช่วงกลางปี 2016 ตอนเดสต์อายุ 16 ปี เขาไปร่วมคัดตัวทีมชาติฮอลแลนด์รุ่น ยู-17 ปรากฎว่า โค้ชทีมชาติ คีส ฟาน วอนเดอเร็น จริงๆก็ชอบในทักษะของเดสต์ แต่ปัญหาคือ เดสต์มีความเข้าใจในแท็กติกที่ช้าเกินไป ซึ่งฟุตบอลฮอลแลนด์ เต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยเยอะไปหมด เขาเองไม่แน่ใจนักว่าเดสต์จะโอเคกับทีมชาติ
ดังนั้นฮอลแลนด์จึงตัดชื่อเดสต์ทิ้งการโผทีมชาติในรอบสุดท้าย เขาหมดโอกาสลงเล่นในรายการยู-17 ชิงแชมป์ยุโรป
การโดนปฏิเสธในครั้งนั้น ทำให้เดสต์เจ็บปวดมาก เพราะเขาเองก็คิดว่า ตัวเองไม่ได้เก่งเป็นรองใครในวัยเดียวกัน แต่สุดท้ายกลับไม่มีชื่อไปอย่างพลิกความคาดหมายเฉยเลย
1
ถึงตรงนั้นเขาเองก็ไม่แน่ใจกับความสามารถของตัวเอง เพราะถ้าเขาเก่งจริง ทำไมแค่เยาวชนทีมชาติถึงยังไม่ถูกเลือกล่ะ
ในขณะที่ฮอลแลนด์ เวลาจะหานักเตะมาติดทีมชุด u-17 จะใช้การ "เรียก" แข้งดาวรุ่งจากอะคาเดมี่ของสโมสรต่างๆในประเทศ มาทดสอบฝีเท้า แล้วทำการคัดเลือกคนที่โค้ชชอบที่สุด แต่แนวทางของสหรัฐอเมริกานั้นต่างออกไป
อเมริการู้ดีว่า ในประเทศของตัวเอง มีลีกฟุตบอลที่ไม่แข็งแกร่งนัก คนที่มีสรีระแข็งแรง สมบูรณ์เหมาะกับการเป็นนักกีฬา ส่วนใหญ่ก็มีเป้าหมายไปเล่น NBA หรือ NFL กันหมด ดังนั้นวิธีการค้นหานักเตะเยาวชนของพวกเขา จึงไม่ใช่แค่ไปเรียกแข้งดาวรุ่งมาทดสอบฝีเท้าเท่านั้น แต่สหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐอเมริกา จะส่งเจ้าหน้าที่ กระจายไปทั่วโลก เพื่อสืบค้นว่า นักเตะคนไหนบ้าง ที่มีสัญชาติสหรัฐฯ ด้วย และเมื่อค้นเจอ ก็จะทำการโน้มน้าวให้นักเตะ หันมาพิจารณา สหรัฐอเมริกาเป็นทางเลือก สำหรับการติดทีมชาติ
ต้นเดือนตุลาคม 2016 เดฟ ฟาน เดน เบิร์ก ปีกซ้ายทีมชาติฮอลแลนด์ ที่หลังจากแขวนสตั๊ดก็แต่งงานกับสาวอเมริกา ก่อนจะรับงานใหม่ เป็นพนักงานในสหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐฯ โดยเขาทำหน้าที่ ไปสืบค้นว่ามีนักเตะคนไหนในภาคพื้นยุโรป ที่มีเชื้อสายสหรัฐฯบ้าง
ฟาน เดน เบิร์ก โทรหาอาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม อดีตสโมสรของเขา ในเรื่องนักเตะคนอื่น แต่ฝั่งอาแจ๊กซ์ตอบกลับมาว่า จริงๆมีนักเตะอีกคนที่เป็นลูกครึ่งสหรัฐฯ แล้วเพิ่งโดนปฏิเสธจากทีมชาติฮอลแลนด์มา ชื่อเซอร์จินโญ่ เดสต์ บางทีฟาน เดน เบิร์ก อาจจะสนใจลองคุยดู
ฟาน เดน เบิร์ก หาวีดีโอของเดสต์มาดูย้อนหลัง และเห็นจุดเด่นว่า เด็กคนนี้ มีเทคนิคดีมาก และป้องกันในจังหวะตัวต่อตัวได้ดี เขายังสามารถพัฒนาไปไกลกว่านี้แน่นอน ดังนั้นจึงตัดสินใจโทรหาเดสต์ แล้วยื่นข้อเสนอว่า อยากลองมาติดทีมชาติสหรัฐฯ รุ่น ยู-17 ดูบ้างไหม
เดสต์เมื่อได้ข้อเสนอ เขาดีใจ แต่ก็ลังเลใจ เพราะตัวเองพูดอังกฤษได้กระท่อนกระแท่น กลัวจะสื่อสารกับเพื่อนลำบาก แต่ฟาน เดน เบิร์ก ยืนยันว่า จะคอยช่วยเหลือเต็มที่แน่นอน
"การที่เราแสดงเจตจำนงเป็นคนแรก ว่าอยากได้เขาจริงๆ มันช่วยได้เยอะเลย คือผมคิดว่าทีมชาติฮอลแลนด์ไม่คิดว่าเขาดีพอในตอนนั้น และพอเรายื่นข้อเสนอไป เขาจึงรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาทันที" ฟาน เดน เบิร์กกล่าว
สำหรับเดสต์ ความรู้สึกเหมือนโดนชุบชีวิต จากที่โดนปฏิเสธมาจากฮอลแลนด์ แต่พอสหรัฐฯ เรียกติดทีม ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองยังเป็นที่ต้องการอยู่ สุดท้ายจึงตอบตกลง ไปเข้าแคมป์ทีมชาติยู-17 ที่รัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา
ในการเก็บตัว ฝั่งทีมชาติเอาใจใส่เดสต์เป็นอย่างดีมากๆ เฮดโค้ชจอห์น แฮ็คเวิร์ธ สอนแท็กติกทุกอย่างที่เดสต์ควรรู้ด้วยความอดทน เขารู้ว่าเดสต์มีจุดอ่อนคือเรื่องการทำความเข้าใจแท็กติก ก็ใช้เวลาสอนย้ำๆ โดยไม่แสดงอาการหงุดหงิด จนนักเตะค่อยๆเข้าใจมากขึ้น
ขณะที่ในช่วงเข้าแคมป์เก็บตัว ด้วยความที่เดสต์มาคนเดียวไม่มีเพื่อน เฮดโค้ชก็ให้ภรรยาตัวเอง ทำหน้าที่เทกแคร์เดสต์อย่างเต็มที่ เขาอยากจะถ่ายรูปอะไร ตอนไปเที่ยวไหน ก็จะช่วยเป็นคนถ่ายให้เสมอ ซึ่งเดสต์เองก็รู้สึกขอบคุณมาก ที่เทกแคร์กันมากขนาดนี้
22 ตุลาคม 2016 ทีมสหรัฐฯ ชุดยู-17 ลงเล่นเกมอุ่นเครื่องกับคอสตาริก้า และเดสต์ก็ได้ลงเล่นเกมแรกให้กับทีมชาติสหรัฐฯ ในวันนั้นเอง
"ผมรู้สึกขอบคุณสหรัฐฯนะ พวกเขาเข้ามาช่วยเหลือผมได้อย่างถูกเวลาจริงๆ" เดสต์กล่าว
นั่นเพราะในช่วงที่เขารู้สึกขาดความมั่นใจ การได้รู้ว่ายังมีคนต้องการตัวเองอยู่ เป็นสิ่งที่ทำให้เขากลับมามีความมั่นใจในการเล่นอีกครั้ง
กลางปี 2017 เดสต์ติดทีมชาติสหรัฐฯ ยู-17 ไปแข่งฟุตบอลโลก ยู-17 ตามด้วยในปี 2019 ก็ติดทีมชาติสหรัฐฯ ชุดยู-20 ไปแข่งรายการชิงแชมป์โลกอีก
ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่า การได้ลงแข่งรายการใหญ่ๆอย่างต่อเนื่องแบบนี้ มีผลมาก ที่ทำให้เขาไม่รู้สึกตื่นเต้น เมื่อได้ลงเล่นในทีมชุดใหญ่ของอาแจ๊กซ์
เกมแรกของเดสต์ ในฐานะผู้เล่นชุดใหญ่ของอาแจ๊กซ์ เกิดขึ้นในเกมชิงถ้วยโยฮัน ครัฟฟ์ ชิลด์ นัดเจอพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น วันที่ 27 กรกฎาคม 2019 ตอนนั้นเขามีอายุแค่ 18 ปี กับอีก 9 เดือนเท่านั้น
1
เมื่อเดสต์ลงสนาม เขาเล่นได้อย่างแน่นอน ไม่มีหวั่นไหว และช่วยอาแจ๊กซ์ ชนะพีเอสวีสบายๆ 2-0 ซึ่งเดสต์ก็ยอมรับว่า ประสบการณ์จากการแข่งรายการชิงแชมป์โลกเยาวชนกับสหรัฐฯ มันช่วยเขาได้เยอะมาก ทำให้ไม่รู้สึกตื่นสนาม
จากนั้นเมื่อเอเรดิวิซี่เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคม เดสต์ก็สามารถเบียดแย่งตำแหน่งแบ็กขวาตัวจริงได้สำเร็จ โดยเอาชนะรุ่นพี่นุสแซร์ มัซราอุยลงได้สำเร็จ
ถึงตรงนี้ เดสต์ก็พุ่งพรวดขึ้นมา อยู่ในสายตาของแฟนบอลในยุโรป เด็กคนนี้อายุย่าง 19 ปีแท้ๆ แต่มีทักษะดีมากๆ ความคล่องตัวมีสูงลิ่ว ส่วนความเข้าใจเรื่องแท็กติกที่เคยเป็นจุดอ่อน ตอนนี้ไม่มีเหลืออีกแล้ว
ด้วยความร้อนแรงของเดสต์ ส่งผลให้สหรัฐฯ ก็รู้ดีว่าอีกไม่นาน เดสต์อาจจะโดนฮอลแลนด์สนใจแน่ๆ ดังนั้นไม่รอช้า พวกเขาเรียกเดสต์ติดทีมชาติชุดใหญ่ทันที ในวันที่ 6 กันยายน 2019 โดยให้ลงสนามในเกมอุ่นเครื่องกับเม็กซิโก ตามด้วย 10 กันยายน ลงต่อเนื่องในเกมเจออุรุกวัย
แค่วัยย่าง 19 แต่เดสต์ได้ติดทีมชาติสหรัฐฯชุดใหญ่ไปแล้ว 2 นัด ถือว่าไม่ธรรมดา
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะ 2 เกมที่ลงไป คืออุ่นเครื่องทั้งคู่ จนกว่าเดสต์จะได้เล่นในเกมทางการ เขาอาจเปลี่ยนใจ เลือกเล่นให้ฮอลแลนด์ได้เสมอ เหมือนอย่างในกรณีของวิลฟรีด ซาฮา
หลังจากเล่นอุ่นเครื่องกับสหรัฐฯเสร็จ เดสต์กลับมาที่อาแจ๊กซ์ และเล่นได้สุดยอดต่อไป เขาลงเล่นแชมเปี้ยนส์ลีกเป็นเกมแรก ช่วยทีมถล่มลิลล์ 3-0 ตามด้วยยึดตัวจริงในเอเรดิวิซี่อย่างต่อเนื่อง
และแล้วในเกมทางการ คือคอนคาแคฟ เนชั่นส์ลีก ที่สหรัฐฯ จะแข่งขันวันที่ 12 ตุลาคม กับคิวบา เกรก เบอร์ฮัลเตอร์ เฮดโค้ชทีมชาติประกาศชื่อ เดสต์ ให้มาติดทีม ซึ่งถ้าเขามา ก็จะส่งลงเล่นทันที เพื่อล็อกเดสต์เอาไว้ ไม่ให้เปลี่ยนใจได้อีก
แต่แล้ว ณ เวลานั้นเอง ฮอลแลนด์ก็รู้งาน พวกเขาติดต่อมาหาเดสต์ เพื่อเรียกตัวติดทีมชาติชุดใหญ่ ในเกมยูฟ่าเนชั่นส์ลีก ที่จะพบกับเยอรมัน ในวันที่ 14 ตุลาคม
ฮอลแลนด์ที่ไม่เคยสนใจเขาเลยในทีมเยาวชนทุกเลเวล แต่ตอนนี้กำลังอยากได้เขาเป็นแบ็กขวาทีมชาติชุดใหญ่ มันเป็นอะไรที่เดสต์เองก็เซอร์ไพรส์มาก
นั่นแปลว่า เขามีโอกาส 2 ทางเลือก ที่ตัดสินใจได้ทีเดียว ระหว่างสหรัฐอเมริกา ทีมที่ให้โอกาสเขาในระดับเยาวชน กับอีกทีมคือฮอลแลนด์ประเทศที่เขาเกิดและเติบโตขึ้นมา พร้อมทั้งเคยฝันอยากจะสวมเสื้อสีส้มสักครั้ง
1
มีคำเปรียบเปรยว่า อีกฝ่ายก็เป็นคนที่ตัวเองรัก ฝันมาตลอดว่าอยากเล่นด้วย แต่อีกฝ่ายก็เป็นคนที่แสนดีกับเราเหลือเกิน ใส่ใจมาตลอดตั้งแต่เป็นเยาวชน ดูแลประคบประหงมตั้งแต่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้
เมื่อถูกเรียกตัวจาก 2 ชาติพร้อมกัน คำตอบของเดสต์คือ ปฏิเสธข้อเสนอจากทั้งสหรัฐฯ และ ฮอลแลนด์
เขาอธิบายว่า เรื่องใหญ่แบบนี้ เขายังตอบทันทีไม่ได้ มันต้องใช้เวลา เพราะการตัดสินใจครั้งนี้ มันจะอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต
"ผมปฏิเสธทั้งคู่ จากนั้นหยุดนิ่ง และนั่งคิด เพราะถ้าผมเลือกผิด มันจะเป็นความเสียใจไปตลอดแน่ๆ ดังนั้นผมจึงใช้เวลา เพื่อพิจารณาสองข้อเสนออย่างละเอียด รวมถึงข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบของทั้ง 2 ชาติ ว่าอะไรดีกว่ากัน"
ณ จุดนี้ หลายคนเชื่อว่าฮอลแลนด์ได้เปรียบ เพราะถ้าคุณอยากคว้าแชมป์โลก การเลือกฮอลแลนด์ดูเป็นข้อเสนอที่ดีกว่าสหรัฐฯ การเป็นแบ็กขวา แปลว่าคุณจะได้เล่นร่วมกับเวอร์จิล ฟาน ไดค์ , นาธาน อาเก้ รวมถึงดาลีย์ บลินด์ ถ้ารวมเดสต์ไปอีกคน มันจะกลายเป็นแบ็กโฟร์ที่ทรงพลังมากๆ
อีกอย่าง ตัวเดสต์ก็เกิดที่ฮอลแลนด์ โตที่ฮอลแลนด์ พูดดัตช์เป็นภาษาหลัก เมื่อทีมชาติที่ตัวเองใฝ่ฝันมาตลอด ยื่นข้อเสนอให้ มันก็ไม่แปลกที่เขาจะเปลี่ยนใจ หันมาเลือกฮอลแลนด์ทันที
ไม่รู้จะเป็นความย่ามใจหรืออะไรก็ตามแต่ ระหว่างที่ฮอลแลนด์ใช้วิธีการรอ เพื่อให้เดสต์ตัดสินใจ ทางฝั่งสหรัฐฯ พวกเขาไม่อยู่นิ่งเฉย เกรก เบอร์ฮัลเตอร์ เฮดโค้ชทีมชาติ และ เออร์นี่ สจ๊วร์ต ผู้อำนวยการกีฬา บินตรงจากสหรัฐฯ มาที่อัมสเตอร์ดัม เพื่อนั่งคุยกับคุณพ่อ และตัวเดสต์
ทั้งคู่กางแผนมาอธิบาย ว่าเดสต์คือส่วนสำคัญของทีมชาติในยุคต่อไป และในอนาคตอันใกล้นี้ จะกลายเป็นยุคทองของวงการฟุตบอลสหรัฐฯ เพราะมีสตาร์หลายคนขึ้นมาประดับวงการ ทั้งคริสเตียน พูลิซิช, จีโอ เรย์น่า รวมถึง เวสตัน แม็คเคนนี่ ดังนั้นถ้าเดสต์เลือกสหรัฐฯ จะไม่มีทางเสียใจทีหลังเลย
31
"นักเตะทุกคนต้องการรู้บทบาท และรู้แนวทางว่าทีมจะเดินหน้าไปทางไหน ซึ่งเราเน้นย้ำให้เขามั่นใจว่า เขาจะเป็นคีย์แมนของทีมชาติไปอีกหลายปี" เบอร์ฮัลเตอร์กล่าว
ขณะที่ เออร์นี่ สจ๊วร์ต ผู้อำนวยการกีฬาของสหรัฐฯ เขามีแบ็กกราวน์ที่คล้ายเดสต์มากๆ นั่นคือมีคุณพ่อเป็นคนอเมริกา มีคุณแม่เป็นคนดัตช์ ซึ่งเขามีทางเลือกเล่นได้ทั้ง 2 ประเทศ แต่สุดท้ายสจ๊วร์ตเลือกสหรัฐฯ ก่อนจะได้ติดทีมชาติมากกว่า 100 นัด และได้รับการแต่งตั้งเป็น ผอ.กีฬา หลังจากแขวนสตั๊ดด้วย ซึ่งสจ๊วร์ตก็ทำให้เห็นว่า เดสต์สามารถเดินตามรอยเท้าเขาได้ คือได้ติดทีมชาติเป็นร้อยเกม และปิดฉากที่อาชีพในระดับผู้บริหารหลังเลิกเล่น
ความจริงจังของสหรัฐฯ ที่ส่งคนมาเจรจาถึงฮอลแลนด์ พร้อมทั้งมีแผนการที่ชัดเจน เป็นเครื่องจูงใจให้เดสต์กลับมาพิจารณาว่าข้อเสนอของสหรัฐฯ จริงๆ ก็ไม่เลวเหมือนกัน
28 ตุลาคม 2019 หลังลงเล่นเกมแชมเปี้ยนส์ลีกกับเชลซี ในที่สุด เดสต์ก็ตัดสินใจเด็ดขาด
และคำตอบของเขา คือเลือกสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ฮอลแลนด์
"หัวใจของผมบอกว่า สหรัฐฯ คือทางเลือกที่ดีที่สุด จริงอยู่ ผมโตมาที่ฮอลแลนด์ และผมก็รักที่นี่นะ แต่ในชีวิตคุณต้องตัดสินใจอะไรที่ยากๆ และสำหรับผม สหรัฐฯทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นเหมือนได้อยู่บ้านตัวเอง" เดสต์อธิบายเหตุผล "แล้วฟุตบอลที่สหรัฐฯก็ไม่ได้แย่อะไรนะ พวกเขาก็ได้เข้าร่วมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นประจำ จริงไหม"
ข่าวนี้สร้างความตื่นตะลึงให้วงการฟุตบอลสหรัฐฯ เพราะถ้าว่ากันแฟร์ๆ นักเตะที่มีทางเลือกกับชาติชั้นนำในวงการอย่างฮอลแลนด์ ไม่น่าจะหันมาเลือกสหรัฐฯได้ แต่เดสต์ ก็ไม่ลังเลใจที่จะยืนอยู่ฝั่งอเมริกา
นักข่าวจาก espn ไปถามเดสต์ว่าอะไรเป็นตัวตัดสิน ให้คุณเลือกสหรัฐฯ ไม่ใช่ฮอลแลนด์ ซึ่งเดสต์ตอบว่า
"คุณสังเกตไหมว่าโลกนี้ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับคุณ เมื่อคุณประสบความสำเร็จแล้ว แต่มันจะมีบางคน ที่ยืนอยู่ข้างคุณตลอด ตั้งแต่วันที่คุณยังไม่มีอะไร ซึ่งนั่นล่ะเป็นสิ่งที่ผมรู้สึก"
"สหรัฐฯ ให้โอกาสผมลงเล่นทีมชาติชุดเยาวชน ทำให้ผมมีประสบการณ์ในเกมการแข่งขันระดับสูง ซึ่งถ้าผมไม่ได้โอกาสเหล่านั้น ผมอาจจะไม่มายืนตรงจุดนี้ก็ได้"
"สำหรับผม การมอบความจริงใจกลับคืน ให้คนที่จริงใจกับเราก่อน เป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆ"
ในขณะที่ฮอลแลนด์ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพื่อมัดใจเดสต์ แต่สหรัฐฯ พยายามมาตลอดหลายปี แม้กระทั่งในโค้งสุดท้าย ก็พยายามเกลี้ยกล่อมอย่างเต็มที่ เท่าที่ตัวเองจะทำได้
3
นั่นทำให้บทสรุปของเรื่องนี้ อเมริกาเป็นฝ่ายชนะในสงครามแย่งตัวเซอร์จินโญ่ เดสต์ ในที่สุด
ท้ายที่สุด ถ้าเปรียบกับความรัก เดสต์ก็เลือกคนที่ดีกับเขา ไม่ได้เลือกคนที่เขารักตั้งแต่แรก
เขาเลือกคนที่ใส่ใจเทกแคร์มาหลายปี ไม่ได้เลือกคนที่เขาฝันว่าอยากอยู่ด้วยตั้งแต่เด็ก
16 พฤศจิกายน 2019 เดสต์ เดินทางไปแข่งขันคอนคาแคฟ เนชั่นส์ลีก ในเกมที่สหรัฐฯ พบแคนาดา ที่สนามเอ็กซ์พลอเรีย สเตเดี้ยม ในฟลอริด้า และเขาถูกส่งลงเป็นตัวจริง เป็นการการันตีอย่างเป็นทางการ ว่าเดสต์จะเล่นให้สหรัฐฯ ไปตลอดชีวิตการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
ตอนนี้เดสต์ ย้ายไปอยู่บาร์เซโลน่า ซึ่งพอเขาได้เล่นกับทีมระดับโลกแบบนี้ แน่นอนว่าฝีเท้าย่อมพัฒนาขึ้น ดังนั้นในมุมของทีมชาติสหรัฐฯ ก็ถือว่าโชคดีมาก ที่เพชรเม็ดนี้ไม่ได้หลุดลอยไป แล้วตกเป็นของประเทศอื่น
สิ่งที่เราเห็นจากเรื่องนี้คือ ในโลกฟุตบอลยุคปัจจุบัน การแย่งชิงนักเตะเพื่อให้เลือกทีมชาติของตัวเอง มันมีความสำคัญมากๆ
และนักเตะเหล่านั้น บางคนก็อาจตั้งธงในใจไว้ ว่าอยากเล่นให้ใคร แต่บางคนก็ยังลังเล 50-50 ไม่แน่ใจตัวเองเหมือนกัน
ซึ่งจุดนี้แหละ ต้องอาศัยฝีมือของสมาคมฟุตบอลในแต่ละประเทศ ที่จะมีกลยุทธ์อย่างไร ในการชักจูงนักเตะหลายสัญชาติเหล่านั้น ให้เลือกมาเล่นให้ทีมชาติของเรา ไม่ให้ตกไปเป็นของชาติคู่แข่ง
ในวงการฟุตบอลไทยก็เหมือนกัน มันเป็นหน้าที่ของสมาคมฯ ที่ต้องมีแมวมองสืบเสาะ ว่านักเตะคนไหนมีสิทธิ์จะเล่นให้ทีมชาติไทยได้บ้าง บางคนอาจเป็นลูกครึ่ง บางคนอาจจะมีเชื้อสายบางอย่างในตระกูล และจากนั้นเมื่อค้นพบแล้วก็ต้องแย่งชิงมาให้ได้
คือจะไปหวังอย่างเดียวว่า ถ้าคนมันมีใจ เดี๋ยวมันก็มาเอง แค่นั้นไม่ได้หรอก ในโลกยุคนี้ คุณไม่มีวันได้อะไรมาครองทั้งนั้น ถ้าไม่ Fight เต็มที่จนสุดพลังทั้งหมดที่มี
#DEST
โฆษณา