15 ต.ค. 2020 เวลา 05:40 • กีฬา
อธิบายให้เข้าใจในโพสต์เดียว ดราม่า Project Big Picture ที่ลิเวอร์พูลกับแมนฯยูไนเต็ดร่วมมือกันเพื่อยึดอำนาจพรีเมียร์ลีก
ตอนนี้ Project Big Picture ที่ดราม่ามาหลายวันติดๆกัน ได้ข้อสรุปแล้วเรียบร้อย ดังนั้นแอดมินขออนุญาตอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น แบบเข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้นะครับ
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากปัญหาโควิด-19 ที่สร้างความวุ่นวายสุดๆ และยังไม่รู้ว่ามันจะสิ้นสุดเมื่อไหร่
ในวงการฟุตบอลนั้น สโมสรใหญ่ต้องเจอความลำบาก เพราะไม่มีเงินจากค่าเข้าชมในสนาม ค่าของที่ระลึกก็ขายไม่ได้ เงินที่ได้จากการทัวร์เอเชีย ทัวร์อเมริกาก็ไม่มี แถมยังต้องจ่ายค่าเหนื่อยแพงๆให้นักเตะทุกวีก นี่เป็นสถานการณ์ที่ทีมใหญ่ไม่สามารถใช้เงินได้มือเติบเหมือนปีก่อนๆ
อย่างไรก็ตาม ทีมใหญ่แม้จะลำบาก ก็ยังพออยู่รอดได้ พวกเขายังมีเศรษฐีเจ้าของทีมรวยๆเป็นแบ็กอัพอยู่ ต่อให้ไม่ได้กำไร แต่ทีมก็ไม่ล่มสลาย สามารถประคองตัวไปได้เรื่อยๆนั่นแหละ
ตรงข้ามกับทีมเล็ก ที่สถานการณ์เลวร้ายกว่ากันมาก พวกเขาไม่มีเงินในการหล่อเลี้ยงทีม เพราะลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ของฟุตบอลระดับลีกวัน ลีกทู มันต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก รายได้เข้าสนามก็ไม่มี คือถ้าปล่อยไว้แบบนี้ สถานการณ์โควิดยังมีระลอกสอง ระลอกสาม จะมีอีกหลายทีมที่ยื่นล้มละลายแน่ๆ
อารมณ์เหมือนฟุตบอลไทย ทีมระดับไทยลีก อาจอยู่ได้ก็จริง แต่ทีมลีกภูมิภาคก็กระอักเลือดมาก ถ้าไม่มีเงินสนับสนุนจากสมาคมฯ ก็การันตีได้เลยว่า หลายทีมจะโดนยุบชัวร์ๆ
1
จุดนี้เอง ทำให้สองสโมสรคือลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ฉากหน้าเป็นศัตรูกัน แต่ลับหลังแอบคุยแผนการณ์ลับบางอย่างเอาไว้ตั้งแต่ปี 2017 แล้ว และมันก็ได้จังหวะเหมาะสมพอดี พวกเขาจึงนำเสนอไอเดียสำคัญในชื่อ Project Big Picture (โปรเจ็กต์บิ๊กพิคเจอร์)
ก่อนที่จะไปเล่าถึงไอเดียนั้น ก่อนอื่นเราต้องอธิบายโครงสร้างของฟุตบอลอังกฤษก่อน
โครงสร้างของระบบลีก จะเรียกว่า "ปิรามิด" กล่าวคือบรรดาทีมท้องถิ่น ทีมหมู่บ้าน ก็จะเป็นฐานของปิรามิด จากนั้นก็ในลีกระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเหลือทีมน้อยลง น้อยลง จนยอดปิรามิด คือ "พรีเมียร์ลีก" ลีกสูงสุดของประเทศ
ในแต่ละส่วนของปิรามิด จะถูกดูแลโดย 3 บริษัท ที่ไม่ขึ้นตรงต่อกัน แอดมินจะใช้คำว่า T (Tier) เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนนะครับ
พรีเมียร์ลีก (T1) - รับผิดชอบ โดย บริษัท เดอะ พรีเมียร์ลีก จำกัด
แชมเปี้ยนชิพ (T2), ลีกวัน (T3), ลีกทู (T4) - รับผิดชอบ โดยบริษัท อิงลิช ฟุตบอลลีก จำกัด ชื่อย่อ EFL
ตั้งแต่ T5 ลงไปจนถึง T20 - เป็นฟุตบอลกึ่งสมัครเล่น ถูกรับผิดชอบโดย บริษัท เนชั่นแนล ลีก จำกัด
1
สำหรับ T1 T2 T3 T4 จะถูกเรียกว่า League Football (ทีมในระบบลีก) ส่วนตั้งแต่ T5 ลงไปจะถูกเรียกว่า Non-League Football (ทีมนอกลีก)
พวก Non-League Football เป็นสโมสรท้องถิ่น บางทีมมีสมาชิก 40-50 คน ไม่ได้มีระบบอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน พวกเขาไม่ได้รับผลกระทบอะไรกับโควิดอย่างรุนแรงนัก ก็แค่ลงแข่งตามโปรแกรมไม่ได้
ตรงกันข้าม กลุ่ม League Football ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด เพราะค่าบำรุงสนามก็ต้องมี ค่าเหนื่อยนักเตะก็ต้องจ่ายเป็นรายปี ไม่ใช่จ่ายวีกต่อวีกเหมือนทีมนอกลีก แถมรายได้ต่างๆก็หายวับไปเลย
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกันแล้ว T1 จะสบายสุด เพราะสโมสรในระดับลีกสูงสุดนั้นรวยอยู่แล้ว แต่ละทีมมีเจ้าของต่างชาติทีร่ำรวยทั้งสิ้น แถมส่วนแบ่งถ่ายทอดสดก็ได้เงินมหาศาลมากกว่า 100 ล้านปอนด์ต่อปี ดังนั้นต่อให้เกิดโควิด-19 อย่างมากก็แค่รายได้ลดลง แต่ไม่ได้เดือดร้อนถึงขนาดต้องไปกู้หนี้ยืมสินใคร
แต่กับ T2 T3 T4 นี่ล่ะ ที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤตสุดๆ เพราะเป็นลีกที่อยู่ตรงกลาง รายได้ลดลงฮวบ แต่ค่าใช้จ่ายไม่น้อยเลย ซึ่งในช่วงโควิด ทำให้มีข่าวลือออกมาว่า หลายๆสโมสร เตรียมประกาศล้มละลาย เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะอีกแล้ว
ด้วยสถานการณ์ที่ T2 T3 T4 ต้องการเงิน เป็นจังหวะดีที่ทำให้ ลิเวอร์พูลกับแมนฯยูไนเต็ด งัดแผน Project Big Picture ที่คุยกันไว้นานแล้ว ออกมาเผยแพร่ตอนนี้ และคาดหวังว่าจะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิก
Project Big Picture ระบุว่าพรีเมียร์ลีกจะเข้าไป "ซัพพอร์ท" ลีกรอง โดยอนุมัติเงินก้อน 250 ล้านปอนด์ "ทันที" ให้กับ EFL เพื่อให้เอาเงินก้อนนี้กระจายไปให้สโมสรใน T2 T3 T4 เพื่อประคองตัวเอาชีวิตรอดให้ได้ในช่วงโควิดที่อาจลากยาวถึงปีหน้า
นอกจากนั้น ในซีซั่นต่อมา พรีเมียร์ลีกจะมอบเงินส่วนแบ่งจากการถ่ายทอดสดให้ 25% กับทาง EFL เพื่อเอาไปให้ทีม T2 T3 T4 อีกด้วย ซึ่งตัวเลข 25% เป็นจำนวนเงินที่มหาศาลมาก เพราะในปัจจุบันส่วนแบ่งที่พรีเมียร์ลีกให้ EFL อยู่ที่ 4% ต่อฤดูกาลเท่านั้น
เงินส่วนแบ่งที่พรีเมียร์ลีกต้องให้กับ EFL มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Solidarity payments ในฤดูกาลล่าสุด ตัวเลขอยู่ที่ 120 ล้านปอนด์ ซึ่งคิดเป็น 4% ของรายได้ที่พรีเมียร์ลีกได้รับจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทั่วโลก (3,000 ล้านปอนด์ต่อปี) โดยทาง EFL ก็จะจัดสรรเอาเงินก้อนนี้ แบ่งๆกันให้สโมสรในลีก 3 ระดับ
แต่ด้วยไอเดีย Project Big Picture สิ่งที่จะเปลี่ยนไปคือ ทางพรีเมียร์ลีกจะมอบเงินให้ EFL ปีละ 750 ล้านปอนด์ (25% จากส่วนแบ่งถ่ายทอดสด) ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมทำให้คุณภาพชีวิตของสโมสรในลีกรองดูดีขึ้นกว่าเดิมแน่ๆ
ฟังดูคร่าวๆแล้ว โปรเจ็กต์นี้ก็เป็นไอเดียที่ดี ลีกสูงสุดที่ทำเงินได้ทั่วโลก ก็พยายามอุ้มชู และแบ่งเงินให้ลีกรองอย่างเป็นธรรม แบบนี้ทีมใน EFL ก็สามารถอยู่รอดได้หมด
ไนเจล ทราวิส ประธานสโมสรเลย์ตัน โอเรียนต์ในลีกทู ให้สัมภาษณ์ว่า "ถ้าหากทีมในลีกรองยังไม่ได้เงินช่วยเหลือใดๆ เราจะเห็นการยุบทีมแน่นอน ไม่เกิน 5-6 สัปดาห์ข้างหน้านี่ล่ะ ส่วนตัวผมอยากให้โปรเจ็กต์นี้ผ่าน เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องโควิด แต่สถานการณ์การเงินของลีกรอง มันไม่ดีมาหลายปีแล้ว ผมคิดว่าข้อเสนอของลิเวอร์พูลกับแมนฯยูไนเต็ด ไม่เลวนะ เพราะเขาให้คำมั่นสัญญากับทีมลีกรอง ว่าพรีเมียร์ลีกจะมอบเงินจำนวนมากให้ทุกปี"
อย่างไรก็ตามในเอกสารที่ลิเวอร์พูล กับแมนฯยูไนเต็ดร่วมกันร่าง มีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก การช่วยเหลือ EFL ไม่ได้มีขึ้นฟรีๆ แต่สโมสรสมาชิกต้องยอมรับ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างฟุตบอลอีก 4 เรื่องด้วยกัน ประกอบไปด้วย
1) ลดจำนวนทีมพรีเมียร์ลีก จากเดิม 20 ทีม เหลือ 18 ทีม
2) ยุติรายการคาราบาวคัพ
3) ยุติรายการคอมมิวนิตี้ชิลด์
4) เปลี่ยนอำนาจการโหวตของทีมในพรีเมียร์ลีก จากเดิมที่ 20 สโมสรในลีกสูงสุด จะมี 1 เสียงเท่ากัน ปรับโครงสร้างใหม่ ให้มีแค่ 9 ทีมเก่าแก่ในพรีเมียร์ลีก ประกอบด้วย ลิเวอร์พูล, แมนฯยูไนเต็ด, แมนฯซิตี้, สเปอร์ส, อาร์เซน่อล, เชลซี, เอฟเวอร์ตัน, เซาธ์แฮมป์ตัน และเวสต์แฮม จึงจะมีสิทธิ์โหวตได้
เหตุผลที่ลิเวอร์พูล และแมนฯยูไนเต็ดมองเอาไว้ คือในปัจจุบัน บรรดาทีมใหญ่ๆ ต่างมีโปรแกรมอัดแน่นเยอะมาก ทั้งเกมลีก ทั้งฟุตบอลยุโรป ในประเทศก็มีสองถ้วย ถ้าได้แชมป์ยุโรปก็ต้องไปแข่งเพิ่มอีกทั้งฟีฟ่าคลับเวิลด์ และยูฟ่า ซูเปอร์คัพ ดังนั้นควรจะลดจำนวนเกมลง เพื่อให้เหลือน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพที่สุด
นอกจากนั้นยังเป็นการลดรายจ่ายด้วย คือปัจจุบัน สโมสรต้องสร้างขนาดทีมที่ใหญ่มากๆ เพื่อรองรับการแข่งหลายรายการ แต่ถ้าตัดโปรแกรมออกไปบางส่วน ขนาดทีมก็ไม่ต้องใหญ่ขนาดนี้ จะช่วยประหยัดค่าเหนื่อยไปได้อีกเยอะเลย
ถ้าลดจาก 20 ทีมเหลือ 18 ทีม เกมลีกจะหายไป 4 นัด เป็นจำนวนที่เท่ากับบุนเดสลีกาเยอรมัน
ถ้ายุติคาราบาวคัพ ก็อาจทำให้จำนวนเกมลดลงไปได้ 4-5 นัดต่อฤดูกาล และถ้ายุติรายการคอมมิวนิตี้ชิลด์ ทีมแชมป์ลีก และแชมป์เอฟเอคัพ ก็ไม่ต้องเก็บตัวปรีซีซั่นเร็วกว่าสโมสรอื่น 1 สัปดาห์
เหตุผลข้อ 1 2 3 ก็พอฟังขึ้นอยู่ กระแสดูจะมีผู้สนับสนุนมากกว่าต่อต้าน แต่เมื่อมาถึง ข้อที่ 4 เป็นสิ่งที่ทำให้สโมสรอื่นต่อต้านอย่างรุนแรง นั่นเพราะลิเวอร์พูลกับแมนฯยูไนเต็ดมองว่า สโมสรที่ควรมีสิทธิ์โหวตในวาระสำคัญของพรีเมียร์ลีก ควรเป็นทีมที่เป็นขาประจำของลีก (9 สโมสรใหญ่)
สำหรับทีมอื่น ที่ขึ้นๆลงๆ ตกชั้น เลื่อนชั้น ตกชั้น เลื่อนชั้น เวลาจะตัดสินใจอะไร จะไม่ค่อยคิดถึงภาพรวมของพรีเมียร์ลีก (Big Picture) แต่จะคิดถึงอะไรก็ตามที่ตัวเองได้ประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น สโมสรอย่างฟูแล่มหรือเวสต์บรอมฯ จะมาสนภาพใหญ่อะไรของพรีเมียร์ลีกล่ะ ในเมื่อปีหน้าพวกเขาก็อาจจะหล่นไปเล่นแชมเปี้ยนชิพแล้ว
เคสที่เห็นชัดเจน คือเมื่อก่อนเปิดฤดูกาล ที่มีการโหวตกันของ 20 ทีม ว่าควรจะเปลี่ยนมาใช้ตัวสำรอง 5 คน จากเดิมที่ใช้ 3 คนดีหรือไม่ ซึ่งบรรดาทีมใหญ่ล้วนแล้วแต่เห็นด้วย โดยโชเซ่ มูรินโญ่ ผู้จัดการทีมสเปอร์สให้สัมภาษณ์ว่า
"การใช้สำรองได้ 5 คน มันแปลว่าคุณจะมีโอกาสส่งดาวรุ่งลงสนามได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น ยังทำให้นักเตะในทีมมีความสุข กับโอกาสลงสนามที่เพิ่มขึ้น ผมคิดว่าการมีตัวจริง 11 แล้วมี 9 คนบนม้านั่งสำรอง รวมเป็น 20 และเปลี่ยนตัวได้ 5 ครั้งต่อเกม เป็นอะไรที่ดีมากๆ"
ทีมใหญ่ ต่างเห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะจะง่ายต่อการปั้นเยาวชนในทีม นอกจากนั้นยังสามารถเก็บความสดให้ตัวหลักของทีมได้หลายคน ในกรณีที่กลางสัปดาห์มีโปรแกรมยุโรปรอคอยอยู่
แต่เมื่อเข้าสู่การโหวตจริงๆ บรรดาทีมเล็ก ต่างคัดค้านทั้งหมด นั่นเพราะการเปลี่ยนตัวได้ 5 คน มันทำให้ทีมใหญ่ ซึ่งมีตัวสำรองแข็งแกร่งได้ประโยชน์จากแนวทางนี้ บทสรุปคะแนนเสียงในการโหวตจึงไม่พอ และสุดท้ายพรีเมียร์ลีกต้องกลับมาใช้การเปลี่ยนตัว 3 คนตามเดิม
สิ่งเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่ฝั่งลิเวอร์พูล และแมนฯยูไนเต็ด มองว่า คนที่ควรมีอำนาจในการโหวต ก็ควรเป็นคนที่อยู่ในพรีเมียร์ลีกมายาวนาน และเห็นภาพใหญ่ของลีกได้ชัดเจน ดังนั้นลดจำนวนผู้มีสิทธิ์โหวตเหลือแค่ 9 สโมสรใหญ่ เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว
สำหรับการจะอนุมัติ Project Big Picture นั้น ต้องได้รับความเห็นชอบ จากสโมสรสมาชิก 2 ส่วน คือ
1
1) ได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของ 20 ทีมในพรีเมียร์ลีก
2) ได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของ 72 ทีมใน EFL
คะแนน 2 ใน 3 จาก EFL ตรงนี้ไม่มีปัญหา โดยลิเวอร์พูลและแมนฯยูไนเต็ด ไปล็อบบี้กับริค แพร์รี่ ประธาน EFL เอาไว้แล้ว ซึ่งบรรดาทีมลีกรอง ไม่มีอะไรเสียหายเลย พวกเขาได้เงินค่าถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นในแต่ละปี นับเป็นเรื่องน่ายินดี ส่วนโปรแกรมคาราบาวคัพที่หายไป ตามปกติก็เข้ารอบไม่ลึกอยู่แล้ว ดังนั้นต่อให้ไม่มีรายการนี้ รายได้ก็ไม่ได้ลดลงอะไรขนาดนั้น
ริค แพร์รี่ ต้องการให้ Project Big Picture ผ่าน เพราะมันเป็นทางรอดของทีมระดับ T2 ลงไป ดังนั้นเขาจึงผลักดันโปรเจ็กต์นี้เต็มที่
แต่จุดที่มีความยากยิ่งกว่า นั่นคือการที่แผนการณ์นี้ ต้องได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 จาก 20 ทีมในพรีเมียร์ลีกด้วย (14 คะแนนเสียง)
คิดตามคอมม่อนเซนส์ สโมสรที่ไหนจะไปยอมเสียอำนาจของตัวเอง แล้วยกสิทธิ์การโหวตให้แค่บรรดาทีมใหญ่คอยจัดการเพียงอย่างเดียว
สื่ออังกฤษวิเคราะห์ว่า ฝั่งลิเวอร์พูลกับแมนฯยูไนเต็ด พยายามเกลี้ยกล่อมทีมเล็กๆ โดยให้เหตุผลว่า ถ้าพวกเขาตกชั้น ก็จะได้เงิน Solidarity payments ที่มากขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ทีมอื่นในพรีเมียร์ลีก ต่างคัดค้านแนวคิดนี้ทั้งหมด คือพวกเขายอมรับว่า พรีเมียร์ลีกต้องหาเงินช่วย EFL แน่ๆ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แนวคิดของ Project Big Picture ทำไมศูนย์รวมอำนาจ ต้องไปตกอยู่กับทีมใหญ่อย่างเดียวด้วยล่ะ
เวสต์แฮม แม้จะมีชื่อเป็น 1 ใน 9 สโมสรเก่าแก่ แต่พวกเขาก็ออกมาคัดค้านไอเดียนี้ โดยอธิบายว่า "สโมสรบิ๊กซิกส์พยายามยึดอำนาจเอาไว้กับตัวเองคนเดียว และถ้าโปรเจ็กต์นี้ผ่าน พวกเขาจะสร้างนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์เพื่อตัวเองอย่างเดียวแน่ๆ"
"ในการโหวตจะใช้คะแนน 2 ใน 3 แปลว่า ใน 9 คะแนนเสียง ถ้าหากทีมบิ๊กซิกส์จับมือกันก็จะมี 6 คะแนนเสียง และโหวตผ่านทุกกรณี ต่อให้เวสต์แฮม เซาธ์แฮมป์ตัน และเอฟเวอร์ตัน รวมตัวกันต่อต้าน ก็โหวตแพ้พวกเขาอยู่ดี ดังนั้น เราจะยอมให้โปรเจ็กต์นี้ผ่านไปไม่ได้เด็ดขาด"
นอกจากกลุ่มบิ๊กซิกส์ ก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับโปรเจ็กต์นี้เลย ทั้งทางพรีเมียร์ลีกเอง รัฐบาลอังกฤษ รวมถึงสื่อมวลชน
สำนักข่าวสกายสปอร์ต วิเคราะห์ว่า "ในปัจจุบัน บรรดาทีมใหญ่ไม่ค่อยพอใจที่ได้ส่วนแบ่งถ่ายทอดสด ในมูลค่าที่เท่ากันกับทีมเล็ก ซึ่งถ้าหากอำนาจการโหวตไปตกอยู่กับกลุ่มบิ๊กซิกส์ พวกเขามีโอกาสจะปรับโมเดลถ่ายทอดสดใหม่ โดยอาจให้แต่ละสโมสรไปขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเอาเอง ทีมไหนมีฐานแฟนเยอะ ก็จะได้เงินค่าลิขสิทธิ์เยอะ"
เหมือนกับแนวทางที่ลาลีกาใช้ ในปี 2018 บาร์เซโลน่าทำเงินจากการถ่ายทอดสด 154 ล้านยูโร ส่วนเรอัล มาดริด ทำเงินได้ 148 ล้านยูโร ขณะที่ทีมเล็กๆอย่าง เลบันเต้ ได้เงิน 45.1 ล้านยูโร ส่วนเลกาเนส ได้เงิน 43.3 ล้านยูโร
สกายสปอร์ตชี้ว่า ทีมบิ๊กซิกส์ มองไว้แล้วว่า ทีมที่เป็นแม่เหล็กกว่า มีฐานแฟนมากกว่า ก็มีโอกาสทำเงินจากการถ่ายทอดสดได้มากกว่า ดังนั้นถ้าพวกเขาได้อำนาจในการโหวต ไม่มีอะไรการันตีได้เลย ว่าจะไม่โละระบบการแบ่งเงินเท่าเทียมทิ้งซะ
ขณะที่แถลงการณ์จากกระทรวงกีฬาของอังกฤษระบุว่า "เราผิดหวังที่ในยามวิกฤติแบบนี้ ลีกสูงสุดของอังกฤษ แทนที่จะร่วมใจกันช่วยเหลือทีมในลีกรองโดยไม่มีเงื่อนไข แต่กลับมีการแอบสอดไส้เจตนาบางอย่างไว้เบื้องหลัง แทนที่จะเดินหน้าช่วยเหลือด้วยความบริสุทธิ์ใจ"
14 ตุลาคม 2020 ทั้ง 20 สโมสร เข้าร่วมการโหวตว่าจะให้ Project Big Picture ผ่านหรือไม่ โดยต้องได้คะแนนเสียง 14 คะแนนถึงจะผ่าน
สำหรับลิเวอร์พูล คนคิดไอเดียนี้คือ จอห์น เฮนรี่ กับ ไมค์ กอร์ดอน ในการประชุมเพื่อโหวต เขาไม่ได้เข้าร่วมด้วย แต่ส่งทอม เวอร์เนอร์มาเข้าประชุมแทน ขณะที่ฝั่งแมนฯยูไนเต็ด คนร่วมคิดไอเดียคือ โจเอล เกลเซอร์ ก็ไม่ได้เข้าประชุมเช่นกัน โดยเป็นเอ็ด วู้ดเวิร์ด ที่ทำหน้าที่โหวต
บทสรุปคือ "ไม่ผ่าน"
สโมสรส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบกับโปรเจ็กต์นี้ ไม่มีใครจะยอมให้บางสโมสรถืออำนาจได้ขนาดนั้น ทำให้สุดท้ายแผนการณ์จึงล่มในที่สุด
เมื่อการโหวตล่มลงไปแล้ว ทางพรีเมียร์ลีกจึงออกมาแถลงการณ์ต่อเนื่องว่า การช่วยเหลือเรื่องเงินกับทีมลีกรอง ในเบื้องต้นพรีเมียร์ลีก มอบเงินให้ทีมลีกวัน และลีกทู รวมเป็นเงิน 27.2 ล้านปอนด์ นอกจากนั้นยังมีเงินกู้ แบบไร้ดอกเบี้ยอีก 50 ล้านปอนด์ สำหรับสโมสรที่ต้องการหยิบยืมมาเสริมสภาพคล่อง
จริงๆแล้ว บรรดาทีมในลีกรองเชียร์ให้โปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้น เพราะพวกเขาจะได้เงินสนับสนุนมหาศาลจากพรีเมียร์ลีก การันตีในทุกๆปี แต่ฝั่งสโมสรในพรีเมียร์ลีกยอมไม่ได้ กับเงื่อนไขสอดไส้ ที่จะเพิ่มอำนาจให้ทีมบิ๊กซิกส์ขนาดนั้น
สุดท้ายเรื่องก็เลยเอวังไปง่ายๆด้วยประการฉะนี้
บทสรุปของเรื่องนี้คือ การแก้กฎอะไรสักอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย การคิดในมุมของตัวเองอย่างเดียวว่า "เราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง" ไม่เพียงพอที่จะทำให้คุณชนะในการโหวตได้
ในเกมการเมือง เพื่อดึงคะแนนเสียงโหวตจากอีกฝ่าย มันต้องมีข้อเสนอที่ดีพอ ที่จะทำให้ฝ่ายพิจารณาที่จะโหวตให้เรา แต่ถ้าเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย มีแต่เสียเปรียบอย่างเดียว ใครมันจะไปโหวตให้ล่ะ มันแพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้งแล้ว
นโยบายจะดีหรือไม่ดี ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด เพราะนโยบายดีแค่ไหน แต่โหวตไม่ผ่าน มันก็จบแต่แรกแล้ว
ดังนั้น ถ้าอยากเอาชนะในเกมการโหวต คุณจะ "รับ" อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้อง "ให้" อีกฝ่ายอย่างสมน้ำสมเนื้อด้วย
คนที่จะยืนหยัดได้ในโลกของการเมือง ไม่ใช่คนที่มีนโยบายดีที่สุด ไม่ใช่คนที่มีอุดมการณ์แน่วแน่ที่สุด
แต่เป็นคนที่ฉลาดมากพอ และสามารถจัดสรรทุกอย่างได้อย่างยุติธรรมที่สุดต่างหาก
#PROJECTBIGPICTURE
โฆษณา