15 ต.ค. 2020 เวลา 08:42 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ประเทศจีนไม่เป็นที่กล่าวถึงมากนักในด้านโครงการอวกาศ อาจเพราะข้อมูลส่วนใหญ่ถูกปิดเป็นความลับ แต่ปัจจัยหลักคือจีนไม่เคยเข้าสู่วงการอวกาศโลกทั้งในฐานะคู่แข่งและพันธมิตรของใคร ถึงแม้จะมีโครงการอวกาศอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ก็ตาม
จากยุคสงครามเย็นที่จีนได้แต่มองอเมริกาขับเคี่ยวกับโซเวียตเพื่อไปเหยียบดวงจันทร์ก่อนอีกฝ่าย จนถึงยุคสร้างสถานีอวกาศนานาชาติที่จีนไม่ได้รับเชิญ และลงเอยด้วยการถูกอเมริกาแบนไม่ให้มีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการในปี 2011 โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง
หากประเทศอื่นๆ ถูกกีดกันไม่ให้มีส่วนในความร่วมมือทางอวกาศระดับนานาชาติ คงไม่อาจทำอะไรได้มากนัก
แต่จีนไม่ใช่ประเทศอื่นๆ
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง - ที่มา Xinhua/ INP PHOTO
ในการฉลองครบรอบ 70 ปีสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปีก่อน (2019) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศว่า “ไม่มีพลังใดสามารถหยุดยั้งความก้าวหน้าของจีนได้” แน่นอนว่า “ความก้าวหน้าของจีน” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการครองความยิ่งใหญ่ในโลกเท่านั้น หากยังหมายรวมถึงในอวกาศอีกด้วย แต่ต้องยอมรับว่า หนทางสู่การเป็นมหาอำนาจในอวกาศนั้นยาวไกลและยากลำบาก เพราะจีนออกตัวช้ากว่าอเมริกาและรัสเซียหลายทศวรรษ และจีนเองก็ตระหนักดี
สหภาพโซเวียตส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศในเดือนเมษายนปี 1961 คนคนนั้นคือยูริ กาการิน และเพียงหนึ่งเดือนถัดมา อเมริกาก็ส่งอลัน เชพเพิร์ดตามไปติดๆ ส่วนจีนต้องใช้เวลาอีกสี่ทศวรรษกว่าจะทำสำเร็จเป็นชาติที่สาม โดยส่งหยาง ลี่เหว่ยขึ้นสู่อวกาศในปี 2003
หยาง ลี่เหว่ย นักบินอวกาศจีนคนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ - ที่มา Xinhua
แต่กระนั้นจีนก็เชื่อมาอย่างยาวนานว่าสามารถพิชิตอวกาศได้ แม้จะเป็นฝ่าย “เพลี่ยงพล้ำ” ในช่วงแรก สังเกตจากการที่จีนตั้งชื่อจรวดว่า “ฉางเจิง” หรือ Long March ซึ่งแปลว่าการเดินทัพทางไกล เพื่ออ้างอิงถึงยุทธศาสตร์ทางทหารในประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ในวันที่ใกล้พ่ายแพ้ให้กับกองทัพรัฐบาลในสงครามกลางเมืองของจีน เหมา เจ๋อตุงนำกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์เดินเท้าล่าถอยเป็นระยะทาง 12,500 กิโลเมตร เป็นการเดินทางที่ยากลำบากแสนสาหัสกว่าหนึ่งปี แต่ก็ทำให้สามารถตั้งหลักใหม่และสะสมกำลัง จนพลิกกับมาเป็นฝ่ายชนะ การตั้งชื่อจรวดเช่นนี้ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ว่าพร้อมต่อสู้บากบั่นโดยไม่ย่อท้อ จนกว่าจะได้รับชัยชนะในที่สุด
เหมา เจ๋อตุงนำไพร่พลเดินทัพทางไกล - ที่มา SCMP pictures
และนั่นก็ไม่ใช่แค่ราคาคุย เพราะพัฒนาการของจีนรวดเร็วราวติดปีก เราจะมาดูกันว่า จีนกำลังดำเนินโครงการอะไรอยู่ และวางแผนจะทำอะไรต่อไปในอนาคต
[ดวงจันทร์]
เพียง 11 ปีนับจากการส่งฉางเอ๋อ-1 ไปโคจรรอบดวงจันทร์ จีนก็ส่งยานฉางเอ๋อ-4 ไปลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์ที่ไม่เคยมียานลำไหนของมนุษย์ไปลงจอดมาก่อนได้สำเร็จในปลายปี 2018 และนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะจีนยังมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้นมากบนดวงจันทร์ โดยตั้งเป้าส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ในปี 2030 และสร้างสถานีวิจัยบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ เพราะมีน้ำแข็งน้ำจืดถูกขังอยู่ในหลุมอุกกาบาต ซึ่งสามารถนำมาสกัดเป็นทรัพยากรได้ น้ำมีทั้งไฮโดรเจนสำหรับใช้ทำเชื้อเพลิงจรวด และออกซิเจนสำหรับมนุษย์
ยานฉางเอ๋อ-4 - ที่มา CGTN
แน่นอนว่าโครงการอาร์เทมิสของนาซ่าก็มีกำหนดส่งนักบินอวกาศกลับไปดวงจันทร์ในปี 2024 เช่นกัน โดยได้ทำสัญญาให้บริษัทเอกชน ทั้ง SpaceX, Blue Origin และ Dynetics พัฒนาระบบลงจอดบนดวงจันทร์
อ่านเรื่องโครงการอาร์เทมิสของนาซ่าได้ที่นี่
ถึงแม้แผนส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ของจีนจะช้ากว่านาซ่าถึง 6 ปี แต่ดูเหมือนจีนจะวางแผนระยะยาวไว้แล้ว โดยเตรียมส่งยานฉางเอ๋อ-5 ไปดวงจันทร์ในปลายปีนี้ เพื่อเก็บตัวอย่างดินจากดวงจันทร์และนำกลับโลก โดยจะเป็นการนำตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์กลับโลกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ภารกิจลูน่า 24 ของสหภาพโซเวียตในปี 1976
[ดาวอังคาร]
จุดหมายใหญ่ต่อไปของจีนคือดาวอังคาร เมื่อเดือนกรกฎาคม จีนส่งยานเทียนเหวิน-1 มุ่งหน้าไปยังดาวอังคาร และมีกำหนดเดินทางถึงในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า (เช่นเดียวกับนาซ่าและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งปล่อยจรวดในเดือนเดียวกัน และมีกำหนดไปถึงในเดือนเดียวกัน) จรวดที่นำยานเทียนเหวิน-1 ขึ้นสู่วงโคจรคือจรวดฉางเจิง-5 ซึ่งเป็นจรวดที่ใหญ่ที่สุดของจีนในขณะนี้ แต่จีนกำลังพัฒนาจรวดที่ใหญ่กว่านั้นมาก นั่นคือ ฉางเจิง-9 ซึ่งจะมีขนาดไล่เลี่ยกับจรวด SLS ของนาซ่า และ Starship ของ SpaceX โดยวางแผนจะใช้ในการสำรวจอวกาศห้วงลึกตั้งแต่ปี 2030
ภาพเปรียบเทียบขนาดฉางเจิง-9 (Long March-9) กับจรวดรุ่นอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน - ที่มา Thorenn
การไปสำรวจในครั้งนี้ จีนวางแผนโคจรรอบดาวอังคารก่อนส่งรถสำรวจลงสู่พื้นผิวเพื่อเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แม้นี่จะเป็นการไปสำรวจดาวเคราะห์ครั้งแรกของจีน แต่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง บวกกับช่วงเวลาที่ทับซ้อนกันกับภารกิจของนาซ่าและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำให้การไปสำรวจครั้งนี้ถูกจับตาเป็นพิเศษ
ความมุ่งมั่นของจีนในการสำรวจดาวอังคาร เห็นได้จากการที่จีนสร้างฐานดาวอังคารจำลอง C-Space กลางทะเลทรายโกบี (ซึ่งเป็นทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีเนื้อที่ถึง 1.3 ล้านตารางกิโลเมตรหรือพอๆ กับรัฐอะลาสกาของสหรัฐอเมริกา) และเปิดใช้งานในปี 2019 โดยให้นักเรียนสามารถเข้าชมเพื่อสัมผัสสภาพการอยู่อาศัยบนดาวอังคารโดยตรง เพื่อส่งเสริมความตื่นตัว ความรักการสำรวจ และความเข้าใจถึงความยากลำบากของการเป็นนักบินอวกาศบนดาวอังคาร
ผู้เข้าเยี่ยมชมสวมชุดนักบินอวกาศเดินขึ้นเขา ใกล้ฐานดาวอังคารจำลอง C-Space ในทะเลทรายโกบี - ที่มา Reuters Photo
ฐานดาวอังคารจำลอง C-Space ในทะเลทรายโกบี - ที่มา Reuters Photo
ผู้เข้าเยี่ยมชมสวมชุดนักบินอวกาศ ใกล้ฐานดาวอังคารจำลอง C-Space ในทะเลทรายโกบี - ที่มา Reuters Photo
โครงการอวกาศของจีนยังไม่หมดแค่นี้ ใน EP2 เราจะมาพูดถึงสถานีอวกาศของจีนและการพัฒนาจรวดที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้เหมือน SpaceX กัน
โปรดกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม
เพื่อเป็นกำลังใจให้ Space Explorer
สร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ มามอบให้คุณเป็นประจำ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา