16 ต.ค. 2020 เวลา 03:30 • การเมือง
คิมบีบน้ำตาจระเข้ จัดพาเหรดโชว์โคตรมิสไซล์ ส่งข้อความถึงสหรัฐฯ-เกาหลีใต้
1
- เกาหลีเหนือจัดพาเหรดวันครบรอบ 75 ปี การก่อตั้งพรรคแรงงาน พร้อมเปิดตัว ขีปนาวุธข้ามทวีปลูกใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพื่อส่งข้อความถึงสหรัฐฯ
- นักวิเคราะห์คาดว่า ขีปนาวุธ ฮวาราง-16 เกาหลีเหนือ อาจเอาชนะระบบป้องกันของสหรัฐฯ ได้
- คิม จอง อึน หลังน้ำตาขอบคุณกองทัพ และขอโทษประชาชนที่พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นไม่ได้ แต่คำพูดของเขา ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้นำเกาหลีเหนือรายนี้ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาวุธและกองทัพเป็นอันดับแรก
3
" สัญญาณแห่งความหวัง หรือภัยคุกคาม "
เกาหลีเหนือจัดงานฉลองวันครบรอบ 75 ปี การก่อตั้งพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของประเทศ เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ต.ค. 2563 แต่การจัดงานครั้งนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่แตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ เช่น พิธีถูกจัดขึ้นในช่วงเช้ามืดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือประชาชนทั่วไปที่มาร่วมงานมีจำนวนไม่มากเท่าเมื่อก่อนที่จะมากันหนาแน่นกว่านี้
ด้าน คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดรุนแรงเรื่อง ยุติการระงับการทดลองขีปนาวุธพิสัยไกลและอาวุธนิวเคลียร์ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับสหรัฐฯ ที่เขาพูดและแสดงออกตลอดช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่กล่าวคำพูดเชิงเป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ว่า ต้องการให้เกาหลีทั้งสองจับมือกันอีกครั้ง หลังจากวิกฤติโควิดผ่านพ้นไปแล้ว
สุนทรพจน์ของ คิม จอง-อึน เหมือนเป็นสัญญาณที่ดีว่า เกาหลีเหนือต้องการผูกมิตร แต่ทว่า ขบวนพาเหรดของกองทัพที่จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ภายในงาน กลับส่งสัญญาณที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงออกมา โดยเกาหลีเหนือเปิดตัวทั้ง ทหารพร้อมปืนจู่โจมรุ่นใหม่ ระบบป้องกันอากาศยาน, ระบบยิงจรวดหลายลำกล้อง (MLRS) รุ่นใหม่, รถหุ้มเกราะ และขีปนาวุธชนิดยิงจากเรือดำน้ำชื่อ ‘ปุกกุกซอง 4เอ’
1
แต่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ ขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ขนาดยักษ์รุ่นใหม่ ที่มีการเปิดเผยชื่อในภายหลังว่า ‘ฮวาราง-16’ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการส่งข้อความโดยตรงถึงสหรัฐฯ ในขณะที่ทั้งสองฝ่าย ยังไม่สามารถฝ่าทางตันในการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีใต้ หลังการเจรจาครั้งที่ 2 เมื่อปีก่อนล้มเหลว
" อานุภาพของ ฮวาราง-16 "
นายโจเซฟ เดอทรานี อดีตทูตพิเศษสหรัฐฯ ประจำเกาหลีเหนือ กล่าวว่า ฮวาราง-16 เป็นขีปนาวุธข้ามทวีปขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็นมา มันมีความสูงเกือบ 90 ฟุต เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 ฟุต เคลื่อนย้ายได้ด้วยยานปล่อยขีปนาวุธ 22 ล้อ และเชื่อว่ามีขีดความสามารถยิงถึงเมืองสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และนครนิวยอร์ก
ขณะที่ นักวิเคราะห์ตาดีตั้งข้อสังเกตว่า ขีปนาวุธลูกนี้อาจถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถบรรทุกหัวรบได้หลายลูก ซึ่งนายมัลคอล์ม เดวิส นักวิเคราะห์อาวุโสของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ในออสเตรเลีย ระบุว่า เห็นได้ชัดเจนว่าเกาหลีเหนือคิดถึงวิธีตอบโต้ระบบป้องกันของสหรัฐฯ ไว้แล้ว เพราะการยิงหัวรบถล่มระบบป้องกัน ราคาถูกกว่าการยิงมิสไซล์สกัด และคาดว่า สหรัฐฯ ต้องใช้งบฯ กว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ยิงจรวด 12-16 ลูกเพื่อสกัดฮวาราง-16 ลูกเดียว
2
แม้จะยังไม่แน่ชัดว่า ขีปนาวุธยักษ์ที่นำมาโชว์ในงานพาเหรดจะเป็นของจริงหรือของจำลอง แต่ ศ.แอนดรูว์ โอนีล ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือ และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ในออสเตรเลีย เตือนว่า อย่าดูถูกศักยภาพของเกาหลีเหนือ เพราะในอดีตนักวิเคราะห์ก็เคยปฏิเสธความสามารถในการยกระดับพิสัยทำการและน้ำหนักบรรทุกในขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ กระทั่งเปียงยางยิงทดสอบให้ดูเป็นขวัญตา
4
" ฝากข้อความถึงสหรัฐฯ "
1
ขบวนพาเหรดเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ถือเป็นครั้งแรกที่เกาหลีเหนือแสดงโชว์อาวุธอานุภาพสูงของประเทศให้โลกได้เห็น นับตั้งแต่ความตึงเครียดระหว่างพวกเขากับสหรัฐฯ ผ่อนคลายลงในปี 2561 ซึ่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิม จอง-อึน พบปะกันในการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ และทำข้อตกลงกว้างๆ เกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี
แต่ทั้งสองฝ่ายกลับล้มเหลวในการเจรจาครั้งที่ 2 ในปี 2562 จากความเห็นต่างเรื่องการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร และความไม่แน่นอนเรื่องขั้นตอนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเปียงยางกับวอชิงตันเริ่มถดถอย ถึงขั้นที่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายคิมออกมาประกาศว่า ประเทศของเขาจะไม่ถูกผูกมัดด้วยสัญญาระงับการทดลองนิวเคลียร์และขีปนาวุธข้ามทวีปอีกต่อไป
คำพูดของนายคิม ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า เปียงยางจะไม่มีวันยอมละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของพวกเขา และความเชื่อนี้ยิ่งถูกตอกย้ำเข้าไปอีก เมื่อผู้นำเกาหลีเหนือประกาศจะเพิ่มคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์เมื่อ 10 ต.ค.
“ขีดความสามารถทางทหารของเกาหลีเหนือกำลังเปลี่ยนไปทั้งในแง่ของ อัตราการเติบโต รวมทั้งคุณภาพและปริมาณ” นายคิมกล่าว “เราจะเสริมกำลังการป้องปรามสงครามต่อไป เพื่อจำกัดและควบคุมความพยายามก่ออันตรายและพฤติกรรมข่มขู่จากกองกำลังศัตรู รวมถึงภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ของพวกเขา”
ผู้นำเกาหลีเหนือเสริมด้วยว่า อาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจะไม่ถูกใช้ในทางที่ผิดหรือใช้เพื่อชิงลงมือก่อน “แต่หากว่ามีกองกำลังใดๆ ละเมิดความมั่นคงของประเทศเรา และพยายามใช้กำลังทหารกับเรา ผมจะใช้อำนาจการโจมตีที่ทรงพลังที่สุดทั้งหมดของเราก่อน เพื่อลงโทษพวกเขา”
ขณะที่ การโชว์ ICBM รุ่นใหม่อาจเป็นการวางรากฐาน ก่อนที่เกาหลีเหนือจะกลับไปทดสอบขีปนาวุธอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อทดสอบผู้นำคนต่อไปของสหรัฐฯ “ผมคิดว่า เขากำลังส่งข้อความถึงทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน ว่าเกาหลีเหนือจะเป็นชาติผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป และไม่ว่าใครก็ตามได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า ก็อาจเผชิญวิกฤติครั้งใหม่ หากเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธรุ่นใหม่นี้จริงๆ” นายมัลคอล์ม เดวิส กล่าว
" เกาหลีใต้จวกคิม หลั่งน้ำตาจระเข้ "
ด้านรัฐบาลเกาหลีเหนือและอดีตนายกรัฐมนตรี อี นัค-ยอน ระบุว่า คำพูดเชิงเป็นมิตรของคิม จอง-อึน ในงานพาเหรดครั้งนี้ ถือเป็น ‘สัญญาณในด้านบวก’ แต่พวกเขาก็กังวลเรื่องการเผยโฉมอาวุธใหม่ของเกาหลีเหนือ ซึ่งแสดงให้เห็นความตั้งใจของเปียงยางที่จะไม่ละทิ้งการพัฒนาอาวุธทำลายล้าง ที่เป็นภัยคุกคามต่อความสงบของคาบสมุทรเกาหลี
ขณะที่นาย คิม ชอง-อิน ผู้นำฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ ออกมาโจมตี คิม จอง-อึน ที่หลั่งน้ำตาระหว่างกล่าวขอบคุณความเสียสละของเหล่าทหารในช่วงภัยพิบัติ และขอโทษประชาชนที่พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นไม่ได้
“เป็นเรื่องน่าขนลุกที่เห็นเขาหลั่งน้ำตาจระเข้ หลังจากเพิ่งยิงพลเมืองของเราตาย” นายคิม ชอง-อิน กล่าว อ้างถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ประมงเกาหลีใต้ ถูกยิงเสียชีวิตขณะพยายามเข้าสู่เกาหลีเหนือเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ด้านนายชอน ยอง-วู อดีตสมาชิกทีมเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ฝ่ายเกาหลีใต้ ออกมาเตือนว่า แม้เกาหลีเหนือเคารพสัญญาการไม่ทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปมาจนถึงตอนนี้ แต่พวกเขากลับทดสอบยิงระบบยิงจรวดหลายลำกล้อง (MLRS) ซึ่งเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อเกาหลีใต้มาตลอด แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเปียงยางยังมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการโจมตีเกาหลีใต้มาโดยตลอด
“พวกเขาไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ภัยคุกคามของพวกเขามีแต่จะสูงขึ้นไปอีก” นาย คิม ชอง-อิน กล่าว
ผู้เขียน: H2O
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา