16 ต.ค. 2020 เวลา 16:02 • ความคิดเห็น
ก่อนประชาธิปไตยจะเบ่งบาน ประวัติศาสตร์บอกอะไรเราบ้าง......
แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ร่วมกันค่ะ เพื่อเราทุกคน
ตอนนั้นแม้จะเด็กมาก และแม้จะไม่สนใจการเมืองแต่กระแสการเมืองของเรื่องนี้ก็ต้องเข้าหูเราอยู่ดีเพราะทุกคนในบ้านก็คุยแต่เรื่องนี้
ที่พอจำได้คือ มันเริ่มมาจาก "คดีซุกหุ้น" ป.ป.ช ตัดสินว่า คุณ ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ เรื่องก็ไปต่อที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
สำหรับบ้านเราเอง ความเห็นก็ยังแตกเป็น 2 ฝ่าย
ฝ่ายพ่อและลุงซึ่งมาสายทุนนิยม มองว่า ทักกี้ไม่ผิด เพราะเป็นเรื่องปกติของนักธุรกิจทั่วๆไปที่จะมีการยักย้ายถ่ายเทโอนหุ้นให้กับคนใกล้ชิด การแสดงทรัพย์สินเราก็แจ้งตามที่มีแค่ชื่อเราถือครองก็เพียงพอ ไม่ผิดอยู่แล้ว
ฝ่ายแม่และพี่ชาย(ต่อต้านทุนนิยม) มองว่า ผิดเพราะมีลักษณะจงใจอำพราง การที่ คุณ ทักษิณ เป็นถึงผู้นำสูงสุดทางการเมือง เรื่องนี้จึงต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ตลอดทุกเส้นทาง การที่เงินของตัวเองไปฝากไว้ชื่อคนอื่น (คนขับรถ แม่บ้านและกระทั่งคนเลี้ยงเด็ก) ลักษณะเป็นการปกปิดอำพราง แล้วไม่แจ้งให้ทราบในทางจริยธรรมนั้นถือว่าบกพร่อง
และสำหรับศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังแตกเป็น 2 ฝั่งที่สูสีกัน ด้วยคะแนน 8 ต่อ 7 ( จริงๆแล้วฝั่ง8คะแนน มีไม่ลงคะแนน 2 เสียงแต่ถูกนับรวม)
สรุป คือ ชนะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
โอเค แม้จะชนะแบบ งงๆหน่อย มันก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะตอนนั้นบ้านเมืองเราเผชิญกับวิกฤตที่หนักหน่วงจริงๆ หลังจากผ่านพ้นความบอบช้ำจากพฤษภาทมิฬได้ไม่นาน เราก็เจอกับวิกฤติการเงินที่หนักที่สุดครั้งหนึ่งของโลก จึงไม่แปลกที่ความรู้สึกของผู้คนในตอนนั้นต่างต้องการอัศวิน หรือ ฮีโร่สักคนที่มานำพาเราให้พ้นวิกฤตไป แคนดิเดตที่ดีที่สุดจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ทักษิณ ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจจนขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของวงการ ( อ้อ เกือบลืม.....สิ่งที่ดีที่สุดและพอจะทำให้ใจชื้นกันได้ในยุคนั้นก็คือ เราเพิ่งได้รัฐธรรมนูญของประชาชนที่สมบูรณ์ที่สุด หลังเกิดปัญหาต่างๆมากมาย )
แต่.....เราไม่เคยเห็นด้วยกับแนวคิดแบบนี้เลย เพราะจุดหนึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มันแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอทางสังคมของผู้คน การให้ความสำคัญกับตัวบุคคลเกินไป (ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม)ที่ผ่านมาเราก็เห็นแล้วว่ามันเกิดผลเสียมากกว่าผลดี และนี่คือ จุดเริ่มต้นของความผิดพลาดครั้งแรกในประวัติศาสตร์อันด่างพร้อยทางการเมืองยุคใหม่ !!
ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ การรอดพ้นความผิดจากจุดนั้น ได้ส่งผลให้ คุณทักษิณ เป็น เสือติดปีก และกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย และไทยรักไทยก็กลายเป็นพรรคการเมืองที่แข็งแกร่งและได้รับความนิยมสูงสุด ผ่านฉลุยทุกนโยบาย
ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่าทำให้หลายๆส่วนในภาคสังคมก็ไม่อยากเห็น ทักษิณ2 ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง
ความฉลาดของคุณทักษิณคือ
เขารู้ว่าการจะขึ้นมามีอำนาจนั้นต้องกุมมวลชนให้ได้ และหัวใจของมวลชนคือ เรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ
ซึ่งเป็นฐานล่างของระบบ
เขาฉลาดในการเข้าหากลุ่มอำนาจและคอนเนคชั่นและนั่นก็คือความผิดพลาดของทักษิณเช่นกัน
ความพยายามเข้าหากลุ่มอำนาจ หรือคอนเนคชั่น
มันคือราคาจ่ายที่แสนแพง และเป็นกับดักที่พันธนาการตัวทักษิณไม่ให้อยู่เหนืออำนาจนั้น
(เขาก็ตกอยู่ในอำนาจโดยไม่รู้ตัวหรือนัยนึงคือเขายินยอม
สิ่งนี้สะท้อนออกมาชัดเจน จากการเดินหมากที่ผิดพลาดเข้าไปสู่หลุมพรางใหญ่ เมื่อปี 56 กับ พรบ นิรโทษกรรมสุดซอย และย้ำชัดอีกครั้งกับการเสนอแคนดิเดตพรรคไทยรักษาชาติ )
สุดท้ายด้วยความที่คุณทักษิณ กุมอำนาจแทบจะเบ็ดเสร็จ ทำให้เกิดความทะเยอทะยาน หลงตัวเองจนเกินไปว่าคงไม่มีใครเอาเขาลงได้ ทำให้ตัวเขาต้องเดินสะดุดขาตัวเองครั้งใหญ่ ซึ่งครั้งนี้ก็เกิดจากเรื่องเดิมๆ เรื่องหุ้นอีกนั่นแหละ คดีขายหุ้นชินคอร์ป !!
จากคดีที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไร น่าจะผ่านไปได้ง่ายกว่าครั้งแรก (ซึ่งตอนนี้มีอำนาจล้มมือ) แต่ก็ต้องล้มครืนพังไม่เป็นท่า จากการปลุกมวลชนของคุณ สนธิ ลิ้ม หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลด้านสื่อในยุคนั้น "เมืองไทยรายสัปดาห์"
จากการชุมนุมรายวันกลุ่มเล็กๆ เริ่มขยายใหญ่ขึ้น กลายเป็นสนธิฟีเวอร์ การชุมนุมแผ่ขยายไปด้วยรูปแบบการจัดชุมนุมแบบสัญจร จากคนสนับสนุนกลายมาเป็นปฏิปักษ์ ความเคลือบแคลง สงสัย และไม่ไว้วางใจ ทักษิณ เริ่มแผ่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาต่างๆถูกขุดขึ้นมาตรวจสอบ ตั้งคำถามกึงความชอบธรรมกันอีกครั้ง โดยเฉพาะ กรณี"ตากใบ" ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในชนวนสำคัญที่ทำให้ทักษิณต้องลงจากอำนาจ
(กลยุทธที่ใช้อิทธิพลจานดาวเทียมมีศักยภาพสูงมากในยุคนั้น) เมื่อบ่มเพาะได้ที่ก็ก่อเกิด เป็นมวลชน "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" หรือ กลุ่มเสื้อเหลือง
กลุ่มพันธมิตรได้รวมตัวกันขับไล่ คุณ ทักษิณ จน
คุณ ทักษิณ ต้องยอมลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนั่นถือว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาชนชนะอำนาจรัฐด้วยแนวทางประชาธิปไตย
แต่....ด้วยความแข็งแกร่งของคุณ ทักษิณ ในยุคนั้นก็ทำให้เขายังคงกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการ ชนะโหวต (แม้คะแนนนิยมจะหายไปมากก็ตาม)
จุดนี้แหละปัญหา เมื่อฝ่ายพันธมิตรมองว่า ไม่อาจจะโค่น ทักษิณ ลงในระบอบนี้ได้แม้นายกคนนี้จะมีแผลเต็มตัวก็ตาม และมันเป็นครั้งแรกที่ประชาชนเริ่มเห็นปัญหาของระบอบประชาธิปไตยไทยในยุคทักษิณ
........"โค่นไทยรักไทยได้ แต่โค่นทักษิณไม่ได้"...........
เมื่อโค่นไม่ได้ด้วยแนวทางประชาธิปไตย สุดท้ายก็จบด้วยรัฐประหาร
จริงๆแล้วช่วงนั้นประชาชนถือว่าตื่นตัวทางการเมือง ตื่นตัวในประชาธิปไตยมากๆ ประชาธิปไตยสำหรับเราตอนนั้นมองว่ามันกำลังเบ่งบานเลยทีเดียว
แต่เราอดทนกันไม่พอ สุดท้ายก็เรียกหาอำนาจพิเศษ และนี่คือความผิดพลาดอีกครั้ง ที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาที่ตามมานานนับ 10ปี
หลังจากรัฐประหารไป เว้นวรรคกัน 1ปี เราก็ได้รัฐธรรมนูญใหม่ปี 50 ที่หวังว่าจะแก้ไขข้อผิดพลาดของเผด็จการรัฐสภาได้ (ซึ่งนี่ก็คือ 1 ความผิดพลาดเช่นกัน)
แม้ความนิยมของ ทักษิณ จะลดลงไปแต่ก็ไม่ทำให้ พรรคพลังประชาชน (พรรคการเมืองใหม่ของทักษิณ) แพ้การเลือกตั้งได้ และ รูปแบบนอมินีทางการเมืองก็ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในยุคการเมืองสมัยใหม่
เมื่อคู่ขัดแย้งยังอยู่ ความขัดแย้งก็ยังคงดำเนินต่อไป
จุดเริ่มต้นของเหลืองแดงก็เกิดขึ้น การปะทะกันยุคนั้นนับว่ารุนแรงมาก ต่างฝ่ายต่างขนคนกันมาเพื่ออ้างความชอบธรรม
"ไม่มีใครฟังใครกันอีกต่อไปแล้ว"
เมื่อไม่มีการเจรจาไม่มีการยอมกัน ไม่มีการถอยให้กัน ก็ยากที่จะไม่เกิดสงครามกลางเมือง "ประชาชนฆ่ากันเอง"
การรัฐประหารไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ผ่านมา2 ปี การปะทะกันของประชาชนยังมีไม่หยุด และยังเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนในสังคมแบ่งเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจน คนที่อยู่กลางๆเป็นอะไรที่กระอักกระอ่วมสุดๆ
ปัญหามาพีคสุดอีกครั้งเมื่อพรรคพลังประชาชนโดนยุบ ในปี 51 และ ประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นแกนนำรัฐบาลโดยมี คุณ อภิสิทธิ์เป็นนายก ด้วยการจับมือกันในค่ายทหาร ซึ่งเป็นที่มาของ พรรคงูเห่า เนวิน ชิดชอบ กับประโยคคลาสสิค " มันจบแล้วครับนาย" และนี่คือจุดเริ่มของปฐมบทอันรุ่งเรืองของ "ภูมิใจไทย" ในเวลาต่อมา
พร้อมกับวาทกรรม ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด หรือ สองมาตรฐาน ก็เกิดขึ้น ปัญหาขององค์กรอิสระเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ไปต่อไม่ได้ ไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
เมื่อองค์กรอิสระ พึ่งพาไม่ได้ เกิดการไม่ยอมรับในสังคม ความเลวร้ายขั้นสุดก็เกิดขึ้น เมื่อข้อเรียกร้องของประชาชน ถูกปฏิเสธ และหาทางลงร่วมกันไม่ได้ เกิดเป็นการจราจนครั้งใหญ่ เป็นอีกครั้งของความอัปยศทางการเมือง เมื่อรัฐบาลเข้าล้อมปราบ "กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" ที่ราชประสงค์ มีผู้เสียชีวิต กว่า 99 ศพ และเป็นครั้งแรกที่เห็นการฆ่ากันออกทีวี
ตอนนั้นปัญหามันเยอะมากมายจริงๆ และก็ไม่ต่างจากอดีต เมื่อมีการใช้สถาบันเป็นเครื่องมือในการทำร้ายทำลายกัน
หลังการสูญเสียเลือดเนื้อกันครั้งนั้น เราก็ได้ รัฐบาลใหม่ พรรคเพื่อไทย "เหล้าเก่าในขวดใหม่"
และก็เหมือนทุกอย่างจะวนลูปอีกครั้ง เมื่อพรรคเพื่อไทยทำในสิ่งที่เหลือเชื่อ คือ การผลักดัน พรบ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย นี่คือดาบที่ซ้ำใน ยิ่งลักษ์ นอมินีของทักษิณต้องจบเส้นทาง ทางการเมืองและย้ายตามไปอยู่กับพี่ชาย
ครั้งนี้เป็นกับดักทางการเมืองชิ้นใหญ่จริงๆ แล้วทักษิณ ก็พลาดอีกเช่นเคย
ตอนนั้นเรารู้สึกว่า ทักษิณสูญเสียจุดยืนมาได้สักพักใหญ่ๆแล้วหล่ะ เขาหลงลืมความสำคัญของมวลชน เขาลืมคุณค่าการได้มาของศรัทธามวลชนนั้น ทักษิณเป็นคนที่เข้าใจพลังของมวลชนที่สุด
แต่เขาเองกลับลืมมันไป ทิ้งมันไป และเลือกแต่พยายามเข้าหาคอนเนคชั่นเข้าหาอำนาจที่เขาหลงเข้าใจว่ามันอยู่เหนือมวลชน ( หลายๆคนก็คิดว่าอำนาจที่ว่านั้นอยู่เหนือมวลชน) ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่มีอำนาจที่อยู่เหนือมวลชนจริงๆหรอกค่ะ มีแต่มวลชนเท่านั้นที่ยกให้อำนาจนั้นอยู่เหนือกว่า !!
ทักษิณ Loose & Lose Concept ของตัวเองอย่างสิ้นเชิง เขาใช้มวลชนในทางที่ผิด เขาใช้มวลชนเป็นเกาะกำบังเป็นกำแพงให้ตัวเอง เขาจึงค่อยๆสูญเสียมวลชนไป ทั้งๆที่เขาเคยมีมวลชนอยู่เคียงข้างเขามากที่สุด และสุดท้ายเขาก็โดนการตีกลับด้วยมวลชนของตัวเองที่เขาก่อปรมันขึ้นมา ที่ว่ามานั่นคือส่วนนึงที่เป็นแผลของทักษิณ และอย่างที่เห็น เขาก็ติดกับดักแบบเดิมๆในยุค หลังรัฐประหารอีกครั้ง เมื่อ ทำให้ ไทยรักษาชาติโดนยุบ....
1
เราเห็นอะไรในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
1
เราเห็นปัญหาหลักๆเลย คือความเหลื่อมซ้อน ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของคนสองกลุ่มที่มีมา คือ
คนกลุ่มนึงกลัวประชาธิปไตยเสียงข้างมาก
เพราะมันไม่ต่างจากเผด็จการ แต่จริงๆแล้วมันต่างกันมาก และห่างไกลกันคนละเส้นทาง เพราะในระบอบประชาธิปไตยมันสร้างคู่ขัดแย้งขึ้นมาเพื่อเป็นเสียงสะท้อนออกมาเสมอ ประชาธิปไตยมันคือสิ่งที่ใกล้เคียงกับอุดมคติที่สังคมตั้งบรรทัดฐานไว้ที่สุดแล้ว
เราไม่จำเป็นต้องกังวลหรือกลัว
1
เราเพียงแต่ต้องให้เวลา และยอมรับกลไกการทำงานของมันอย่างถึงที่สุด แล้วมันก็จะเกิดกระบวนการพัฒนาการและการเรียนรู้ จนสุดท้ายก็จะเกิดการตกผลึกทางความคิด นั่นหล่ะคือข้อดี
2
ส่วนคนอีกกลุ่มนึงยึดมั่นประชาธิปไตยแต่กลับไม่ฟังเสียงข้างน้อย รักประชาธิปไตยแต่กลับยึดโยงที่ตัวบุคคล ยึดโยงนักการเมือง สิ่งนี้ก็ผิดหลักการตั่งแต่ต้น คุณ Lose-Concept ไปไกลเลย คุณควรยึดโยงที่นโยบายว่าคุณจะได้อะไร ส่วนตัวนักการเมืองนั้นคือผู้แสวงหาผลประโยชน์ สิ่งที่คุณควรทำคืออย่าให้เขามีอำนาจเหนือคุณ
การเชิดชูนักการเมืองเป็นจุดบอดอีกจุดหนึ่งที่เรามองไม่เห็น เขาพูดดี เขามีอุดมการณ์ แต่..คำถามสำคัญคือ มีนักการเมืองคนไหนที่ไม่ทำให้คุณผิดหวังบ้าง ?
คุณใช้เขาเท่าที่เขาควรใช้ได้ ให้อำนาจเขาเท่าที่เขาควรได้ และเลิกใช้เขาถ้าเขาเดินผิดทาง คุณไม่จำเป็นต้องเห็นแก่ความดีอะไรหรือผลประโยชน์ใดๆที่เขาเคยทำหรอก เพราะเขาก็ทำเพื่อตัวเขาเอง คุณต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เลิกลัทธิบูชาบุคคลซะ วัฒนธรรมแบบนี้แหละคือสิ่งที่ฉุดรั้งเรา
คนกลุ่มนี้มักหลงยึดติดไปกับวาทกรรมที่ยึดโยงกับตัวบุคคล ฮีโร่ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกอะไรนั่น มันไม่มีอยู่จริงหรอก อย่าไปคิดว่าคนนั้นคนนี้เป็นนายกแล้วชีวิตจะดีเพราะคำโฆษณา พรุ่งนี้คุณก็ยังจะต้องตื่นเช้าไปทำงาน ยังต้องจัดการกับปัญหาชีวิตเดิมๆ ประเทศนี้จะเปลี่ยนได้ต้องเริ่มที่ตัวคุณเอง คุณคือผู้มีสิทธิ์เลือก คือผู้มีอำนาจที่แท้จริง หากคุณยังคิดว่าคนนั้นคนนี้มีบุญคุณแล้วมันจะต่างอะไรกับที่ผ่านมาหล่ะ
ประเด็นปัญหาที่วนเวียนอยู่กับฟากประชาธิปไตยและสังคมไทย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในหลาย 10 ปีมานี้สังคมยังคงวนเวียนกับการเรียกร้องหา Hero ทางการเมือง และในทางกลับกันก็สร้าง Anti-Hero ขึ้นมาเพื่อสร้างเสถียรภาพของความชอบธรรมให้กับตัวของ Hero ที่ฟากตนเองสร้างขึ้น
1
ทีนี้เนี่ยประเด็นสำคัญคือ Hero ที่สังคมสร้างขึ้นมาแต่ละฟากล้วนมีปัญหาไม่มุมใดก็มุมนึง.......
สังคมไม่สามารถก้าวข้ามจุดนี้ได้ซึ่งนี่แหละคือปัญหา และเป็นปัญหาสำคัญมาก สังคมหวังพึ่งพลังอำนาจจาก Hero ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้แต่ฟากที่ยึดถือประชาติปไตยเอง !!
ทั้งๆที่ประชาธิปไตย พลังอำนาจ ที่แท้จริง คือ ประชาชน
โครงสร้างอำนาจไม่ได้ถูกใช้ผ่านมวลชนแต่ถูกใช้ผ่าน Hero ที่มีอำนาจ ซึ่งมันขัดแย้งกับหลักการที่เรายึดมั่นกันมา
1
หากเรายึดมั่นในระบบระบอบกันจริงๆ Hero หรือพลังอำนาจของ Hero จะไม่มีความจำเป็นต่อระบบเลย แล้วปัญหานี้มันเกิดจากใครหล่ะ ก็เกิดจากพวกเราๆกันเองไม่ใช่หรอที่หวังพึ่งพลังอำนาจต่างๆเหล่านั้น ไม่ว่าจะอำนาจทางการเงิน อำนาจทางตุลาการ หรืออำนาจทางทหาร หรืออำนาจที่นอกเหนือกว่านั้น ฯลฯ
นักการเมืองคือผู้แสวงหาและให้ได้มาซึ่ง อำนาจนั้น คำถามคือ เขาต้องการมันเพื่ออะไรหล่ะ ??? เพื่อประชาชนโดยแท้จริงหรอ ?
มันกลายเป็นความเข้าใจผิดและสร้างความขัดแย้งมานานนับ 10 ปี เพราะกลุ่มคนทั้ง 2 ฟาก แดง-เหลือง มีความเข้าใจประชาธิปไตยคนละมุม (แบบอนุรักษ์-ก้าวหน้า ) แต่ละฟากยึดว่าสิ่งที่ตัวเองยึดถือนี่คือประชาธิปไตย ซึ่งจริงๆมันไม่ผิด เพราะประชาธิปไตยมันเลื่อนไหลตามสภาวะการณ์ อัตลักษณ์ของมันไม่ได้หยุดนิ่งแม้เราจะเขียนมันขึ้นมาด้วยตัวอักษรไม่กี่ตัวก็ตาม แต่ความหมายมันกว้างกว่านั้นมาก
ประชาธิปไตยมันไม่มีกติกาหรอก แท้จริงแล้วมันคือความเห็นร่วมกันของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและมันสามารถขัดแย้งกันได้ กติกาเป็นเพียงคำจำกัดความที่ร่างขึ้นมาใช้ในช่วงเวลาหนึ่งที่เห็นร่วมกัน ณ ขณะนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า กติกานั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนผันไปตามสภาวะการณ์ มันย่อมเลื่อนไหลไปตามเหตุปัจจัยเสมอ ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งนะคะ เพราะมันคือ มนุษย์ ดังนั้นมันจึงเปลี่ยนแปลงได้ แก้ไขได้ หากสังคมมีฉันทามติใหม่ร่วมกัน
1
ดังนั้นการกระทำของ เหลืองและแดงที่ผ่านมา เคทมองว่า มันไม่มีใครผิดใครถูกหรอก เพราะ 2 ฝั่ง ยึดถือความเข้าใจคนละมุม มันจึงเกิดความขัดแย้ง แต่ที่ผิดและเป็นปัญหาก็เพราะความขัดแย้งนั้นมันไม่เคยได้รับการเจรจาหาทางออกร่วมกัน เพราะมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว ไม่ใช่ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดที่ทุกฝ่ายควรได้รับ
การจะก้าวไปข้างหน้าได้มันต้องผ่านการเรียนรู้ที่ดีพอ สังคมต้องตกผลึกร่วมกัน มันไม่ได้ใช้เวลาแค่ 1 ทศวรรษหรอก ยิ่งทั้ง 2 ฝั่งนำเสนอแต่ความเกลียดชังกัน บ่มเพาะความเกลียดชังกันมาเนิ่นนาน
ฟากประชาธิปไตยฝ่ายซ้ายเมื่อมีโอกาสก็ประณามคนที่เคยเห็นต่าง ฉายภาพซ้ำๆซ้ำๆและซ้ำๆ เฉกเช่น ฝั่งขวาก็ทำไม่ต่างกัน มันเต็มไปด้วยการรอเวลาชำระแค้นของแต่ละฝ่าย เป็นความสะใจเมื่อเห็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพลี้ยงพล้ำ หรือ ตกอยู่ในเกม ทั้งๆที่ทั้ง2ฝั่งเป็นฟันเฟืองในระบบเดียวกัน
เรื่องความเหลื่อมซ้อนต่อท่าทีประชาธิปไตยแบบไทย หลายคนมักเข้าใจผิดๆว่าการเคลื่อนไหวประชาธิไตยในรูปแบบเหลืองแดงคือสิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ฉุดรั้งระบบระบอบ จริงๆแล้วไม่ใช่เลย สิ่งที่ฉุดรั้งจริงๆคือ ความไม่เข้าใจในสิทธิเสรีภาพต่างหากหล่ะ !!
ความกลัวในการที่จะเปลี่ยนผ่าน ความกลัวที่จะก้าวผ่าน กลัวการปะทะสังสรรค์ทางความขัดแย้ง ทั้งหมดนี้ต่างหากหล่ะคือสิ่งที่ฉุดรั้งระบอบประชาธิปไตยของไทย แล้วใครหล่ะที่ทำให้มันเกิดขึ้น ก็ตัวเราเองนั่นแหละคือฟันเฟืองใหญ่ ทุกคนเคยชินกับการช่วยเหลือ การได้รับการหยิบยื่น ชินกับเรื่องสำนึกรักบุญคุณ พวกคุณวนเวียนอยู่แต่กับเรื่องพวกนี้ไม่กล้าที่จะก้าวผ่านด้วยตนเอง
บ่อยครั้งที่เรากลัวการถอยหลัง กลัวการสูญเสีย แล้วเราเองก็เร่งเหตุการณ์ให้มันจบๆไป ให้มันพ้นๆตัวไป ภาคส่วนหนึ่งของสังคมจึงมองว่าการเข้ามาของทหารคือทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งในทางประชาธิปไตยกระบวนการเหล่านี้มันเร่งไม่ได้ มันต้องยึดมั่นและไปให้สุดทาง แต่ทุกครั้งเราเลือกที่จะตัดตอนกระบวนการนั้นกันเอง เพราะเรากลัว แต่เราลืมไปว่าทุกๆครั้งที่เราผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมันก่อเกิดความแข็งแกร่งขึ้นทีละนิดทีละนิดจนเกือบจะสัมบูรณ์ แต่สุดท้ายก็ไม่ !!
และวันนี้เหตุการณ์ก็เหมือนจะวนลูปมาอีกครั้ง เคทมองไม่ค่อยเห็นทางออกที่จะไม่สูญเสียได้เลยค่ะ นอกจากการเจรจา หากเราไม่ยอมลดรากัน เราก็จะมีแต่เสีย และก็ไม่ใช่ว่าจะมีอะไรการันตรีว่าการสูญเสียจะนำไปสู่ชัยชนะอะไรที่แท้จริง เราต้องหยุดลงให้กันบ้างค่ะ ต่างฝ่ายต่างต้องถอย และส่งตัวแทนเจรจากัน
ปัญหามันมีอะไรบ้าง เราลองคุยกัน หารือแลกเปลี่ยนกัน
สำหรับเคทเองที่ได้รวบรวมข้อเสนอที่ลองสำรวจมาคร่าวๆ ได้ประมาณนี้ค่ะ (ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยนะคะ หากไม่โอเคก็เสนอเข้ามาใหม่ได้)
1 เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญนั้นแก้ได้ เราต้องเข้าใจตรงกันว่าตอนนี้สังคม มีคนรุ่นใหม่ขึ้นมา ในช่วงที่รัฐธรรมนูญนี้คลอดออกมานั้นพวกเขาไม่ได้มีสิทธิเลือกที่แท้จริง จวบจนเวลาล่วงเลยมา วันนี้พวกเขารู้สึกว่ามันไม่โอเค พวกเขาก็ควรได้สิทธิ์ในการยื่นข้อเสนอแก้ไขสิ จริงไหม ถ้ามีการลงมติวันนี้จริงๆ เสียงมันไม่เหมือนเดิมแน่ เพราะผู้ใช้สิทธิเพิ่มขึ้น มีอายุมากขึ้น นี่คือข้อเท็จจริง
เขาเรียกร้องกติกาที่มันเป็นธรรมมากกว่าเดิม สว 250 มันไม่ยุติธรรมจริงๆค่ะ มันก็จะพังแบบที่ผ่านๆมานั่นแหละ
2 เรื่องสถาบัน
เหล่าผู้ชุมนุมต้องยอมรับกันจริงๆว่า ในสังคมเราเรื่องนี้มันเปราะบาง มันเปราะบางจริงๆ มีคนจำนวนมาก ที่ไม่อยากให้ละเมิดสถาบัน (ถ้าวัดเป็นจำนวนตัวเลขก็ดูจากการเลือกตั้งเราคงพอประเมินได้ มันไม่น้อยเลย) แม้ข้อเรียกร้องจะเป็นเพื่อการปฏิรูปและยกระดับสถาบันให้ดีขึ้น แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆว่า ในหมู่ผู้ชุมนุมทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นในทางลบและเกิดการกระทบกระทั่งกันของคนอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เรื่องนี้เราต้องใช้เวลาค่ะ เริ่มแรกเดิมทีมันอยู่ในจุดที่ดีแล้วค่ะ ต้องร่วมใจกันปรับตรงนี้ ถ้าไม่ปรับกันลงมันก็ยากที่จะคุยกันได้
3. การลาออกของนายก และเลือกตั้งใหม่
การลาออกและเลือกตั้งใหม่เป็นการลดแรงเสียดทางทางการเมืองที่ดีที่สุด เพราะสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องออก เพราะไม่มีรัฐบาลไหนที่บริหารอยู่ได้โดยปกติด้วยสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ จำนวนคนที่ออกมาชุมนุมก็เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้ว หากรัฐบาลมั่นใจในฐานเสียงก็กลับมาสู้ในสนามเลือกตั้งอีกครั้ง
หวังว่าสังคมจะมีทางออกร่วมกัน หาจุดลงกัน จุดกึ่งกลางร่วมกันได้ ไม่เกิดการสูญเสียใดๆ หากใครมีอะไรใหม่ก็เสนอแนะได้นะคะ เคารพทุกความคิดเห็นค่ะ
โฆษณา