18 ต.ค. 2020 เวลา 01:24 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ผู้มาเยือนจากนอกระบบสุริยะกับคุณสมบัติอันแปลกประหลาด
(เรียบเรียงโดย สัมโมทิก สวิชญาน)
เมื่อสามปีก่อน (19 ตุลาคม 2560) นักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย ชื่อ โรเบิร์ต เวริก (Robert Weryk) ค้นพบวัตถุในอวกาศที่เคลื่อนที่เร็วมาก เร็วเกินกว่าที่แรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์จะจับให้มาอยู่ในวงโคจรได้
วัตถุดังกล่าวเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการดาราศาสตร์ เพราะเป็นวัตถุแรกที่ค้นพบว่าเดินทางจากภายนอกระบบสุริยะเข้ามาสู่ระบบสุริยะของเรา สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) จึงตั้งประเภทวัตถุในอวกาศขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งประเภท เรียกว่า วัตถุระหว่างดวงดาว (Interstellar object) โรเบิร์ตและเพื่อนร่วมงาน ตั้งชื่อว่า "โอมัวมัว" (‘Oumuamua) ซึ่งเป็นคำในภาษาฮาวายที่แปลว่า "ผู้ส่งสารจากแดนไกลที่มาถึงเป็นคนแรก"
แน่นอนว่า นักดาราศาสตร์เคยคิดกันไว้แล้วว่าระบบสุริยะของเราต้องมีวัตถุระหว่างดวงดาวเดินทางผ่านบ้าง แต่ที่ผิดคาดคือ ไม่นึกว่ามนุษย์เราจะมีโอกาสค้นพบได้จริงๆ ราวๆหนึ่งปีก่อนจะค้นพบโอมัวมัว โทนี เองเงลฮาร์ต (Toni Engelhardt) แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย และเพื่อนร่วมงาน เพิ่งตีพิมพ์งานวิจัย (doi.org/10.3847/1538-3881/aa5c8a) ที่วิเคราะห์อย่างละเอียดถึงโอกาสที่จะพบวัตถุระหว่างดวงดาว แล้วก็สรุปว่า "ดูไม่น่าจะมีหวังเท่าไร" (appear to be rather bleak)
โอมัวมัวไม่เพียงแต่มาจุดประกายความหวังดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมความพิศวงมากมายดังนี้
ความแปลกประหลาด 1: โอมัวมัวไม่มีไอระเหิดของฝุ่นและน้ำแข็ง
คุณสมบัติข้อนี้ทำให้โอมัวมัวไม่ถูกจัดว่าเป็นดาวหาง (comet) เพราะดาวหางต้องมีบรรยากาศรอบๆ ที่เกิดจากไอระเหิดที่เรียกว่า โคมา (coma)
ความแปลกประหลาด 2: โอมัวมัวมีรูปทรงแปลกประหลาด
นักดาราศาสตร์สามารถคาดเดารูปทรงของวัตถุในอวกาศได้โดยดูว่ามันสะท้อนแสงอย่างไรที่ช่วงเวลาต่างๆ (ทางเทคนิคเรียกว่า การวัด light curve) ดาวเคราะห์น้อยโดยทั่วๆ ไปจะมีความสว่างแปรเปลี่ยนอยู่ที่ราวๆ 10–20% ขณะที่หมุนไปมา บ่งชี้ลักษณะรูปทรงคร่าวๆ ว่าคล้ายๆ มันฝรั่งบูดเบี้ยว แต่ความสว่างของโอมัวมัวเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเป็นสิบเท่า ซึ่งแปลว่า ไม่ยาวมากๆ ก็แบนมากๆ โดยตอนสว่างก็คือช่วงที่หันด้านยาวหรือด้านแบนสะท้อนแสงเข้าหาโลก ส่วนตอนมืดก็คือช่วงที่หันด้านปลายหรือด้านขอบเข้าหาโลก
นอกจากนี้ยังมีความแปลกประหลาดอื่นๆอีก เช่น ลักษณะการเคลื่อนที่ของโอมัวมัว ฯลฯ
วิธีไขความพิศวงเหล่านี้ให้กระจ่างแจ้งจริงๆ คือ การส่งยานไปสังเกตใกล้ๆ แต่ปัญหาคือ วัตถุระหว่างดวงดาวแบบนี้ไม่ได้ผ่านมาบ่อยๆ และถ้าผ่านเข้ามา ก็มาเร็วไปเร็ว โครงการส่งยานอวกาศต้องเตรียมกันเป็นสิบปี
ฉะนั้น เพื่อเตรียมรับมือกับวัตถุระหว่างดวงดาวที่อาจจะผ่านมาอีกในอนาคต องค์การอวกาศยุโรป (ESA) มีแผนจะส่งยานอวกาศไป "จอดรอ" ที่จุด L2 ที่ห่างจากโลกประมาณ 1.5 ล้าน กม. ในปี พ.ศ. 2571 เพื่อดูใกล้ๆให้รู้กันไปเลย
อ้างอิง
Interstellar Interlopers เขียนโดย David Jewitt
และ Amaya Moro-Martín ใน Scientific American (October 2020)
โฆษณา