18 ต.ค. 2020 เวลา 01:58 • ความคิดเห็น
ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่มนุษย์ก็ยังเหมือนเดิม
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไปพูดที่รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องมุมมองที่ผมเห็นว่าจำเป็นสำหรับทศวรรษถัดไป
ผมเล่าย้อนกลับไปช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 63 ช่วงที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดจากจีนเข้ามาในภูมิภาคนี้
ลูกสาวของผมยังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 1 มีเพื่อนร่วมห้องที่มีแม่เป็นคนไทยและพ่อเป็นชาวจีนที่เพิ่งบินจากเมืองจีนมาเยี่ยมลูกสาว ไม่มีใครในครอบครัวแสดงอาการอะไร แต่พอมีคนรู้ก็กลายเป็นข่าวใหญ่จนผ.อ.สั่งปิดโรงเรียนเพื่อทำการฆ่าเชื้อ และให้นักเรียนทุกคนในห้องลูกสาวผมหยุดเรียน 14 วันเพื่อเฝ้าดูอาการ
แต่เรื่องก็ไม่ได้จบอยู่แค่นั้น เพราะผู้ปกครองของชั้นอนุบาล 2 และอนุบาล 3 ก็แจ้งมาอีกว่านักเรียนในห้องนี้มีพี่ชาย/พี่สาวที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนเดียวกัน ต้องถือเป็นกลุ่มเสี่ยงและให้เด็กกลุ่มนี้หยุดเรียน 14 วันด้วยเช่นกัน มีการเปิดโพลในกรุ๊ปไลน์เพื่อให้ผู้ปกครองท่านอื่นมาลงชื่อว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้หรือไม่เพื่อเป็นการกดดันกลายๆ จนผู้ปกครองห้องลูกสาวผมรู้สึกเหมือนกำลังโดน sanction ไปโดยปริยาย
ผมอ่านบทสนทนาแล้วรู้สึกว่ามันชักจะเหมือนการล่าแม่มดเข้าไปทุกที
ปรากฎการณ์ “ล่าแม่มด” นั้นเกิดขึ้นในยุโรปช่วงค.ศ. 1700 หากชาวบ้านไม่ชอบใจคนไหนก็จะกล่าวหาว่าคนคนนั้นเป็นแม่มดหรือตกอยู่ภายใต้เวทมนตร์ของแม่มด และคนที่ถูกกล่าวหาก็จะถูกบังคับให้ซัดทอดว่าใครเป็นคนที่พาตัวเองไปเข้าลัทธิ หากไม่ยอมซัดทอดก็มีโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต
ผ่านมา 300 กว่าปีแล้ว การ “ล่าแม่มด” ก็ยังเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับคนที่เห็นต่างทางการเมือง
ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่มนุษย์ก็ยังเหมือนเดิม
ภายนอกเราเดินทางมาไกลมาก แต่ภายในเหมือนเรากำลังย่ำอยู่กับที่ ไม่ต่างอะไรกับเมื่อ 2563 ปีก่อน
ยังมีทั้งชอบและชัง รักและกลัว ถ่อมตนและถือดี พวกเราและพวกมัน ด้านสว่างและด้านมืด เป็นมาอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัย
เมื่อปัญหามันซับซ้อนและตึงเครียด คนเรามีแนวโน้มจะสาดความมืดเข้าหากันโดยมีโซเชียลมีเดียเป็นอาวุธที่ใช้จนคล่องมือ
แต่ถ้าเราระลึกได้ว่าไม่มีใครที่ถือความจริงทั้งหมด เราถูกของเรา เขาก็อาจจะถูกของเขาเพียงแต่เรายังไม่เข้าใจ ก็อาจจะช่วยลดอุณหภูมิในใจเราได้
พี่วรพจน์ พันธุ์พงศ์เคยกล่าวไว้ว่า เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง
ในโมงยามนี้ ขอให้ทุกคนใช้แสงสว่างนั้นก่อนจะพูดหรือทำอะไรลงไปนะครับ
โฆษณา