19 ต.ค. 2020 เวลา 11:30 • ไอที & แก็ดเจ็ต
รู้จักแอปพลิเคชัน Telegram อาวุธไซเบอร์ประจำม็อบ 18 ตุลา
การประกาศของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (FreeYouth) และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพิ่มช่องทางการติดตามนอกจากเพจใหม่แล้ว ไปยังช่องทางของแอปพลิเคชัน Telegram จนทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามขึ้นมาอย่างฉับพลันว่า Telegram คืออะไร?
อันที่จริงแล้ว Telegram เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นมานานแล้ว โดยเริ่มปล่อยดาวน์โหลดครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2013 จากวันนี้ก็เป็นเวลา 7 ปีกว่าที่แอปพลิเคชันนี้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
พาเวล ดูรอฟ
Telegram ก่อตั้งโดยทีมนักพัฒนา 3 คน ได้แก่ นิโคไล ดูรอฟ, พาเวล ดูรอฟ และอักเซล เนฟฟ์ โดยที่ พาเวล ดูรอฟ รับหน้าที่เป็นซีอีโอ
จุดมุ่งหมายของแอปพลิเคชัน Telegram โดยหลักแล้วมีเพียงข้อเดียว นั่นคือ พวกเขาต้องการพัฒนาแอปพลิเคชันที่แม้แต่สายลับรัสเซียไม่สามารถ “แฮก” ได้ เนื่องจากในอดีตที่ครั้งหนึ่ง พาเวล ดูรอฟ เคยเป็นเจ้าของโซเชียลมีเดียที่มีชื่อว่า VKontakte หรือ VK ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลรัสเซียใช้เป็นแพลตฟอร์มหลักในการติดต่อสื่อสาร จนนำมาสู่การถูก Mail.ru บริษัทที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลรัสเซียเข้ามาแทรกแซง และซื้อธุรกิจโซเชียลมีเดีย VK ไปในที่สุด
ก่อนที่พาเวลจะตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดที่รัสเซียและเขาได้นำเงินจากการขาย VK เพื่อมาก่อตั้ง Telegram โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
จุดเด่นของ Telegram อยู่ตรงที่การเป็นแอปพลิเคชันที่มีการเข้ารหัส และการเก็บข้อมูลไว้บนคลาวด์ พร้อมกันนี้ พาเวล ดูรอฟ ยืนยันด้วยว่า แอปพลิเคชัน Telegram ของเขา จะเป็นแอปพลิเคชันที่จะไม่มีการหากินด้วยการเปิดรับโฆษณาภายในแอปพลิเคชัน โดยผู้ก่อตั้งจะไปหานักลงทุนที่สนใจเพื่อให้การสนับสนุนด้วยตัวเอง
ทางด้านหน้าตาของแอปพลิเคชัน Telegram มีความคล้ายกับแอปพลิเคชัน Whatsapp เพียงแต่ “ธีม” ของแอปเป็นคนละสี โดย Telegram ใช้สีฟ้าเป็นหลัก ส่วน Whatsapp เป็นสีเขียว
ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาแอปพลิเคชัน Telegram เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อต่อต้านรัฐบาล ทั้งในฮ่องกงและเบลารุส โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการส่งข้อความแบบเข้ารหัส พร้อมกับใช้ VPN ในการกระจายข่าวสารและการจัดตั้งกลุ่มผู้ชุมนุม
ในการประท้วงของฮ่องกงที่มีต่อรัฐบาลจีนนั้น Telegram เคยออกประกาศว่าจะไม่ส่งข้อมูลผู้ใช้ชาวฮ่องกงให้กับรัฐบาลฮ่องกง จนกว่าที่จะมั่นใจว่าจะไม่มีการแทรกแซงใดๆ จากรัฐบาลจีนในฮ่องกง
1
ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2019 ในช่วงที่การชุมนุมในฮ่องกงกำลังคุกรุ่น ยอดดาวน์โหลด Telegram เพิ่มขึ้นถึง 323% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดดาวน์โหลดในฮ่องกง 110,000 ครั้ง มียอดดาวน์โหลดรวมไปแล้ว 1.7 ล้านครั้ง จากทั่วโลก 365 ล้านครั้งในช่วงนั้น โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของ Telegram ที่มียอดผู้ใช้งานสูงขึ้นในแต่ละประเทศ เกิดขึ้นเมื่อมีแอปฯ คู่แข่งถูกแบน เช่นในบราซิล เมื่อปี 2015 ที่แบน WhatsApp 48 ชั่วโมง มีคนใช้ Telegram รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 5.7 ล้านรายภายในวันเดียว
2
แม้ว่าจะมีบางส่วนที่ถูกหยิบ Telegram ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อยู่บ้าง เช่นกลุ่ม ก่อการร้าย ISIS ที่มองว่าแอปพลิเคชัน Telegram มีความปลอดภัยสูง มีการเข้ารหัส ทำให้การดักจับข้อมูลกลางทางทำได้ยาก อย่างไรก็ดี Telegram ก็มีความพยายามที่จะบล็อกช่องทางการติดต่อสื่อสารของผู้ก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้แอปพลิเคชันนี้เป็นที่ซ่องสุมของผู้ก่อการร้าย
ขณะที่ในประเทศรัสเซียได้เคยออกคำสั่งบล็อกไม่ให้ใช้ Telegram เนื่องจากไม่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเข้าถึงข้อมูลและการใช้งานของผู้ใช้
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย Telegram ได้กลายเป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองตุลาคม 2020 ในไทย เพราะเป็นแอปพลิเคชันทางเลือกในการเป็นช่องทางสื่อสารเพื่อเคลื่อนไหว พูดคุย และแน่นอนคือการนัดหมายรวมตัวกันเพื่อแสดงออกทางการเมือง หลังมีข่าวลือว่ารัฐจะปิดช่องทางโซเชียลมีเดียของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ จึงมีการแนะนำให้ใช้ Telegram กัน โดยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2020 จากการตรวจสอบพบว่าในเวลาประมาณ 15.28 น. กลุ่ม FreeYOUTH ใน Telegram มีผู้เข้าร่วมแล้ว 110,607 ราย และมีคนออนไลน์พร้อมกันอยู่ 34,792 ราย
Telegram ยอดผู้ใช้งานทะลุ 400 ล้านคน
ปัจจุบัน Telegram เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานนิยมใช้มากที่สุดแอปหนึ่งของโลก โดยในเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมา มีการประกาศว่า Telegram มียอดผู้ใช้งานต่อเดือนราว 400 ล้านคน และตั้งเป้าว่า ปี 2022 จะมีผู้ใช้งาน 1,000 ล้านคน
ผู้เขียน: Wiwat Rungsaensuksakul
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา