19 ต.ค. 2020 เวลา 13:08 • การเมือง
คนเลือกปธด.สหรัฐไม่ใช่ประชาชน (2)
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
เมื่อวาน ผมเล่าค้างถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดเมื่อ พ.ศ.2559 นางฮิลลารี คลินตัน ได้เสียงโหวตจากประชาชน 65,844,954 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 48 ส่วนโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เสียงโหวตจากประชาชน 62,979,879 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 46 นางคลินตันได้เสียงโหวตมากกว่าทรัมป์ 2,865,075 คะแนน แต่ไม่ได้เป็นประธานาธิบดี
การเลือกตั้งสหรัฐ ใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่อยู่ที่เสียงโหวตของประชาชน แต่อยู่ที่การลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง วันนี้ขออนุญาตรับใช้เรื่องคณะผู้เลือกตั้งต่อครับ
สหรัฐไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซ้ำซาก จนรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศขาดความขลัง แต่เมื่อนำรัฐธรรมนูญถูกไปใช้แล้วมีปัญหา สหรัฐก็ใช้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ค.ศ.1804 มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐ มาตรา 12 ให้คณะผู้เลือกตั้งแยกบัตรลงคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี (ก่อนหน้านี้คนได้คะแนนสูงสุดเป็นประธานาธิบดี คนที่ได้คะแนนรองเป็นรองประธานาธิบดี ถ้ามาจากต่างพรรคก็ทำงานขัดแย้งกัน)
เคยมีคนถามผมว่า อ้า คณะผู้เลือกตั้งมาจากไหน วันนี้จึงขอมารับใช้ถึงคณะผู้เลือกตั้งกันต่อครับ ในระยะแรกที่มีการใช้ระบบคณะผู้เลือกตั้ัง รัฐธรรมนูญกำหนดให้สภานิติบัญญัติของแต่ละรัฐเลือกคณะผู้เลือกตั้งเอง (ประชาชนไม่เกี่ยว)
กระทั่ง ค.ศ.1828 ทุกรัฐยอมให้ประชาชนลงคะแนนเลือกคณะผู้เลือกตั้ง เมื่อคนที่ชี้เป็นชี้ตายว่าใครควรเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคือคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐ พวกพรรคการเมืองจึงเสนอบัญชีรายชื่อของคนที่จะไปรับสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ก็ต้องคุยกันให้ชัดเจนก่อน ว่าเมื่อพวกคุณได้เป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว คุณจะไม่เบี้ยวไปเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคตรงข้าม
https://www.adn.com/opinions/national-opinions/2020/09/24/i-tracked-electoral-votes-for-george-w-bush-beware-of-2020-forecasts/
อันนี้ละครับ ที่ทำให้คณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐลงคะแนนเป็นกลุ่มและทำให้เกิด a winner-take-all system หรือ ‘ระบบผู้ชนะได้คะแนนไปทั้งหมด’
นายจอห์นสัน (ชื่อสมมุติ) ดูรายชื่อของคนที่ตนเองจะเลือกเป็นประธานาธิบดี ในบัตรเลือกตั้ง ซึ่งในบัตรจะมีรายชื่อของผู้สมัครเป็นคณะผู้เลือกตั้งคู่กับผู้สมัครประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี (บางรัฐอาจจะไม่มีรายชื่อผู้สมัครเป็นคณะผู้เลือกตั้งก็ได้) เมื่อนายจอห์นสันลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีจากพรรคใดก็ตาม ก็เท่ากับว่าแกลงคะแนนเสียงเลือกคณะผู้เลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นไปด้วย
ข้อเท็จจริงในปัจจุบัน รัฐมินนิโซตามีคณะผู้เลือกตั้ง 10 คน ผมขอสมมุตินะครับว่า ถ้ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 100 คน โดย 60 คนลงคะแนนให้ไบเดน อีก 40 คนลงให้ทรัมป์ ถ้าเป็นระบบของประเทศอื่น ไบเดนก็จะได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง 6 คน และทรัมป์จะได้ 4 คน
ระบบ ‘ผู้ชนะได้คะแนนไปทั้งหมด’ หรือ a winner-take-all system ทำให้ไบเดนได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งทั้ง 10 คน โดยที่ทรัมป์ไม่ได้แม้แต่คะแนนเดียว ผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่าไอ้ระบบนี้ยุติธรรมขนาดไหน เพราะทำให้ไม่เหลือคะแนนให้ผู้แพ้เลยแม้แต่คะแนนเดียว
ผู้สมัครประธานาธิบดีจะทุ่มเทการหาเสียงกับรัฐที่มีคณะผู้เลือกตั้งมากอย่างเช่นแคลิฟอร์เนีย (55 คน) เท็กซัส (34) และนิวยอร์ก (31)
รัฐที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งอยู่ในระดับ 20 คนก็คือ ฟลอริดา (27) เพนซิลเวเนียและอิลลินอยส์ (21) และโอไฮโอ (20)
รัฐที่มี 10 คนขึ้นก็คือ มิชิแกน (17) จอร์เจีย นิวเจอร์ซีย์และนอร์ทแคโรไลนา (15) เวอร์จิเนีย (13) แมสซาชูเซตส์ (12) อินดีแอนา เทนเนสซี มิสซูรีและวอชิงตัน (11) แมรีแลนด์ มินนิโซตา แอริโซนาและวิสคอนซิน (10)
ส่วนรัฐต่ำ 10 ก็คือแอละแบมาและโคโลราโด (9) เคนทักกีและเซาท์แคโรไลนา (8) คอนเนตทิคัต ไอโอวา ลุยเซียนา โอคลาโฮมาและออริกอน (7) อาร์คันซอ แคนซัสและมิสซิสซิปปี้ (6)
เนแบรสกา เนวาดา นิวเม็กซิโก ยูทาห์และเวสต์เวอร์จิเนีย (5) ฮาวาย ไอดาโฮ เมน นิวแฮมป์เชียร์และโรดไอแลนด์ (4) อะแลสกา ดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย เดลาแวร์ มอนแทนา นอร์ทดาโคตา เซาท์ดาโคตา เวอร์มอนต์และไวโอมิง (3)
พรุ่งนี้มาว่ากันต่อครับ.
โฆษณา