20 ต.ค. 2020 เวลา 10:15 • ประวัติศาสตร์
คดีประวัติศาสตร์ 285 ปีที่แล้ว
ที่เป็นรากฐานของ “เสรีภาพสื่อ”
วันที่ 16 เมย. ค.ศ. 1735 หรือประมาณ 285 ปีที่แล้ว
นักหนังสือพิมพ์ John Peter Zenger กำลังลำบากเพราะเขากลายเป็นผู้ต้องหาที่ไม่มีทนาย
เขาจะถูกคุมขังในคุกอยู่เกือบหนึ่งปี
ก่อนจะมีโอกาสขึ้นศาลอีกครั้ง
เมื่อการพิจารณาคดีของเขาสิ้นสุดลง
รากฐานสำคัญ ที่ในเวลาต่อมา จะนำไปสู่
“รัฐธรรมนูญที่ให้เสรีภาพกับสื่อ” จะเกิดขึ้น
**************
เรื่องราวที่จะเล่าให้ในวันนี้ เกิดขึ้นที่รัฐนิวยอร์ก ในวันที่อเมริกายังเป็นชื่อของทวีป ไม่ใช่ชื่อของประเทศ
เวลานั้นคนขาวในนิวยอร์กยังเป็นชุมชนของผู้อพยพชาวอังกฤษ ที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอังกฤษ ถือว่าเป็นราษฎรของกษัตริย์อังกฤษ และใช้กฎหมายของอังกฤษ
อังกฤษในเวลานั้นถือได้ว่าเป็นชาติที่มี เสรีภาพของสื่อ มากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป
แต่คำว่า เสรี นี้ จะต่างไปจากที่เราคุ้นเคย เพราะ เสรี ในยุคนั้นไม่ได้แปลว่า ไม่มีการควบคุม แต่จะหมายถึง สามารถตีพิมพ์อะไรก็ได้โดยไม่ต้องส่งให้ตรวจสอบก่อน
อย่างไรก็ตามเมื่อเผยแพร่ออกมาแล้วรัฐมีสิทธิ์ที่จะสั่งห้าม สั่งให้ทำลาย หรือ จับคนเผยแพร่มาขึ้นศาลได้ โดยมีกฎหมายรองรับที่เรียกว่า seditious libel หมายถึง การเขียนหรือตีพิมพ์บทความอะไรที่ โจมตีรัฐ โจมตีคนของรัฐ จะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท เป็นการปลุกระดมให้เกิดการขัดขืนรัฐ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ มีบทลงโทษอย่างรุนแรง
คำถามคือ แล้วถ้าคนของรัฐกระทำผิด
จะเขียนโจมตีได้ไหม ?
นั่นคือ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
ในปีค.ศ. 1733 นิวยอร์ก มีผู้ว่าการรัฐคนใหม่ ที่ทั้งคอรัปชั่น ใช้อำนาจในทางที่ผิด แต่งตั้งพวกพ้องของตัวเองมานั่งตำแหน่งสำคัญๆ โดยผู้ว่า William Cosby คนนี้ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงมาจากกษัตริย์และรัฐบาลของอังกฤษ
มีครั้งหนึ่งต้องการขึ้นเงินเดือนตัวเอง แต่โดนขัดขวางจากผู้พิพากษา เขาจึงไล่ผู้พิพากษาคนนั้นออก แล้วนำคนของตัวเองมานั่งตำแหน่งแทน
ในตอนนั้นนิวยอร์กมีหนังสือพิมพ์แค่ฉบับเดียว และหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็ยังอยู่ใต้อำนาจของผู้ว่าการรัฐ ทำให้เนื้อหาต่างๆในหนังสือพิมพ์ จะไม่มีข่าวหรือบทความที่ต่อต้านหรือวิจารณ์คอสบี้เลย
จนกระทั่งนักข่าว John Peter Zenger ย้ายไปร่วมทีมกับทนายอีกสองคนเพื่อก่อตั้งหนังสือพิมพ์ใหม่ขึ้นมา ที่ชื่อว่า New York Weekly Journal ซึ่งจะเน้นข่าวและบทความที่วิจารณ์นโยบายและการทำงานของรัฐ
และทันทีที่บทความวิจารณ์คอสบี้ของ แซงเกอร์ถูกตีพิมพ์ออกไป เขาก็ถูกจับไปกักขังทันที ด้วยข้อหา seditious libel ซึ่ง ก็คือ การต่อต้านและทำให้รัฐเสียชื่อเสียง ซึ่งความผิดนี้เป็นความผิดร้ายแรงเพราะถือว่า คนที่เขียนบทความลักษณะนี้ เป็นคนทรยศต่อชาติ
1
แรกทีเดียวแซงเกอร์มีทนายที่พร้อมจะช่วยว่าความให้เขาสองคน แต่คอสบี้ก็ใช้อิทธิพลบีบให้ศาลสั่งห้ามทนายสองคนนี้ยุ่งเกี่ยวกับคดี โดยพวกเขาเชื่อว่า คงไม่มีทนายคนไหนที่จะกล้ามาว่าความให้กับ แซงเกอร์ อีกแล้ว
1
หลังจากที่ติดคุกอยู่นานเกือบสิบเดือน ในที่สุด แซงเกอร์ก็มีโอกาสขึ้นสู้คดีในศาลอีกครั้ง
1
แต่คอสบี้ก็ยังใช้อำนาจ เลือกคณะลูกขุนที่ใครๆก็รู้ว่าจงรักภักดีต่อรัฐบาลและกษัตริย์อังกฤษ มานั่งพิจารณาคดี คือพูดง่ายๆว่า เขาใช้อำนาจทำทุกวิถีทางที่จะบดขยี้ แซงเกอร์ ให้ได้ แต่ด้วยแรงกดดันจากสังคม ทำให้สุดท้ายต้องเปลียนคณะลูกขุนให้มีความเป็นกลางมากขึ้น
เมื่อการไต่สวนจะเริ่มต้นขึ้น ผู้พิพากษายังกล่าวกับคณะลูกขุนว่า คดีนี้ค่อนข้างชัดเจน ขอให้คณะลูกขุนตัดสินว่า แซงเกอร์ เป็นคนตีพิมพ์บทความนี้จริงๆหรือไม่ ถ้าตัดสินว่าตีพิมพ์จริง ก็ไม่ต้องคุยอะไรกันต่อแล้ว เพราะกฎหมายชัดเจนว่า การเขียนต่อต้านรัฐถือว่าเป็นความผิด
ทนายที่อาสามาช่วยว่าความให้ แซงเกอร์ในวันนั้นชื่อว่า Andrew Hamilton ซึ่งถือได้ว่าเป็นทนายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในอเมริกา
เขาเริ่มต้นด้วยการยอมรับออกมาว่า แซงเกอร์เป็นคนตีพิมพ์บทความนั้นจริงๆ แล้วเขาก็เบี่ยงประเด็นออกไปในทันทีว่า
สิ่งที่สำคัญกว่าคือ
สิ่งที่เขียนในบทความนั้นเป็นความจริงหรือไม่ ?
ถ้าสิ่งที่เขียนเป็นความเท็จ แซงเกอร์ก็จะผิดในฐานะ หมิ่นประมาทและปลุกระดมให้เกิดการต่อต้านรัฐจริง
แต่ถ้าสิ่งที่แซงเกอร์เขียนเป็นความจริง มันก็จะไม่ใช่การหมิ่นประมาทรัฐ แต่เป็นการเขียนข้อเท็จจริง
นั่นคือ สิ่งที่คณะลูกขุนควรจะให้ความสำคัญและพิจารณาว่าบทความที่ แซงเกอร์ ตีพิมพ์เป็นเรื่องจริงหรือไม่
แฮมิลตันยังปิดท้ายการโต้แย้ง ด้วยคำพูดซึ่งมีใจความคร่าวๆว่า
คดีที่ท่านสุภาพบุรุษคณะลูกขุนต้องตัดสินใจในวันนี้
ไม่ใช่คดีเล็กๆหรือแค่คดีของนักหนังสือพิมพ์ธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น
แต่การตัดสินนี้ อาจจะส่งผลต่อไปถึงเสรีชนทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินอเมริกา
เราจะปกป้องสิทธิ์อันชอบธรรมของพวกเรา ของเพื่อนบ้านเรา ของลูกหลานเรา จากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐ ด้วยการ ....
พูดและเขียนสิ่งที่เป็นความจริง
คณะลูกขุนใช้เวลาแค่ประมาณสิบนาทีในการประชุมและตัดสินใจเท่านั้น
ก่อนจะสรุปว่า .... แซงเกอร์ไม่มีความผิด
************
1
คดีนี้เป็นคดีใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจติดตามข่าวกันมากแต่คดีนี้ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มากมายนัก
ไม่มีกฎหมายใหม่ออกมา
ไม่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงใดๆ
รัฐก็ยังควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดต่อไปเช่นเดิม
แต่สิ่งที่คดีนี้มีผลต่อสังคมคือ
ความคิดที่ฝังรากลึกลงไปในสังคมว่า
1
การวิจารณ์การปกครองของอังกฤษ เป็นสิ่งจำเป็น
กษัตริย์และรัฐบาลที่ปกครองพวกเขา อาศัยอยู่ห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร
การเขียนความจริงที่ไม่ดีของรัฐ จึงไม่ถือว่าเป็นการปลุกระดมและหมิ่นประมาทรัฐ แต่เป็นการปกป้องตัวเองจากการถูกกดขี่และเอาเปรียบจากผู้ปกครองที่อยู่ห่างไกลออกไป
1
ในเวลาต่อมาเมื่อชาวอเมริกันตัดสินใจประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ
1
และตัดสินใจนำการปกครองโบราณที่ไม่มีประเทศไหนใช้ที่เรียกว่า democracy มาปกครองตัวเอง
สิ่งที่เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญ จึงมี “เสรีภาพของสื่อ” พ่วงเข้าไปเป็นหลักการสำคัญด้วย
เพราะพวกเขารู้ดีว่า
เสรีภาพของสื่อ เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะปกป้อง เสรีภาพของประชาชน จากอำนาจของรัฐบาล
โฆษณา