21 ต.ค. 2020 เวลา 13:37 • การศึกษา
เคยสังเกตหรือไม่ว่า เมื่อเราต้องกลายเป็น
ผู้เสียหายในคดีอาญา เช่น ถูกหมิ่นประมาท ถูกทำร้ายร่างกาย หรือทรัพย์สินถูกขโมยไป
แม้ว่าในคดีอาญาคนร้ายจะถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดและรับโทษตามกฎหมายแล้ว แต่ในส่วนของความเสียหายทางแพ่งที่เกิดขึ้นกับเราล่ะ จะมีวิธีเรียกร้องค่าเสียหายอย่างไร จะต้องฟ้องคนร้ายเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งอีกคดีหรือเปล่า
คำตอบก็คือ เราสามารถฟ้องคนร้ายเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ โดยการฟ้องเป็นคดีแพ่ง แต่ดูแล้วน่าจะสร้างความลำบากให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายอยู่ไม่น้อย
เพราะนอกจากจะต้องขึ้นศาลในคดีอาญา ไม่ว่าจะในฐานะโจทก์ โจทก์ร่วม หรือพยาน ก็ล้วนแต่ต้องใช้ระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาคดีอยู่พอสมควร
1
และหากต้องไปฟ้องคนร้ายเป็นคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งด้วย คงเป็นการสร้างภาระให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายอีกมากขึ้นไปอีก
แล้วจะมีวิธีไหนบ้างที่ช่วยร่นระยะเวลา หรือขั้นตอนที่ยุ่งยากเหล่านี้ได้?
ซึ่งเรื่องนี้กฎหมายได้เปิดช่องทางเอาไว้ โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ได้กำหนดให้ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย โดยการยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาได้ ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้
2
1) คดีอาญานั้น พนักงานอัยการเป็นโจทก์
(หมายถึง คดีนั้นผู้เสียหายไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยด้วยตัวเอง แต่ได้แจ้งความร้องทุกข์แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาล)
2) ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาเพื่อขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยยื่น...
2
- ก่อนสืบพยาน หรือ
1
- ในคดีที่ไม่มีการสืบพยาน ให้ยื่นก่อนที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี
1
3) สาเหตุที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนต้องเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลย เช่น ถูกจำเลยทำร้ายร่างกาย ถูกทุบรถยนต์ หรือถูกหน่วงเหนี่ยวกักขัง และการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้เสียหาย...
- ได้รับอันตรายแก่ ชีวิต/ ร่างกาย / จิตใจ
- ได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพใน ร่างกาย/ ชื่อเสียง
- ได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน
1
4) คำร้องต้องไม่ขัดแย้งกับฟ้องของพนักงานอัยการ เช่น พนักงานอัยการฟ้องจำเลยว่ากระทำโดยประมาท แต่ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่าความเสียหายเกิดจากการที่จำเลยกระทำโดยเจตนาเพื่อเรียกค่าเสียหายเพิ่มขึ้น... แบบนี้ทำไม่ได้
2
5) ถ้าพนักงานอัยการได้เรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินจากจำเลยแทนผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายจะใช้สิทธิตามมาตรานี้เพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้
(แต่ยังคงเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนอื่นได้ เช่น คนร้ายได้ทุบรถยนต์และทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ถ้าพนักงานอัยการได้ฟ้องคนร้ายและได้เรียกค่าเสียหายในรถยนต์แทนผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายจะใช้สิทธิได้เฉพาะค่าเสียหายที่เกิดแก่ร่างกายเท่านั้น)
เมื่อทำตามเงื่อนไขแล้ว ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะทำการพิจารณาในส่วนของค่าเสียหายให้ด้วย โดยผู้เสียหายมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบถึงค่าสินไหมทดแทนได้เท่าที่จำเป็น ส่วนจำเลยก็มีสิทธิให้การต่อสู้ได้เช่นเดียวกัน
ประโยชน์ของวิธีนี้ก็คือ ผู้เสียหายไม่ต้องเสียเวลาไปฟ้องคดีแพ่งด้วยตัวเอง และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในคดีแพ่ง เพราะหากฟ้องคดีแพ่งเองจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 ของจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง
อย่างไรก็ตาม ถ้าศาลเห็นว่าผู้เสียหายเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้เสียหายชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือบางส่วนภายในเวลาที่กำหนดก็ได้
และถ้าผู้เสียหายเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กฎหมายก็ให้ถือว่าผู้เสียหายทิ้งฟ้องคดีส่วนแพ่งเช่นเดียวกันครับ
1
#กฎหมายย่อยง่าย
ช่องทางติดตามอื่น ๆ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา