31 ต.ค. 2020 เวลา 04:59 • การศึกษา
กรมสรรพากร กับมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี
ทราบหรือไม่คะ ปัจจุบันกรมสรรพากร ได้มีการนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยภารกิจที่สำคัญที่กรมสรรพากรดำเนินการพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีนี้ ได้แก่
📌 การนำเทคโนโลยี Data Analytics มาช่วยวิเคราะห์เพื่อหา ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยังอยู่นอกระบบให้เข้ามาในระบบ
📌 บูรณาการข้อมูลภายใน และข้อมูลภายนอก เพื่อเชื่อมโยงไปยังรายได้ที่แท้จริงของผู้ประกอบการ
📌 ปรับปรุงระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษี เพื่อกำกับและตรวจสอบ (Risk Base Audit System : RBA) เพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์ครบถ้วน
📌 ปรับปรุงระบบ Criteria เพื่อคัดกรองผู้ประกอบการที่มีความผิดปกติ ให้หน่วยปฏิบัติตรวจสอบข้อเท็จจริงและแนะนำภาษีอากรต่อไป
🚩 โดยกรมสรรพากรได้รับงบประมาณในการพัฒนาระบบภาษีดิจิตัล เป็นจำนวนเงินกว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกรมสรรพากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ ในส่วนที่เรียกว่า e-filing
และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับกรมสรรพากร บูรณาการจัดการภาครัฐ (Big data) เชื่อมโยง ข้อมูลชำระเงินสมทบประกันสังคม กับ กรมสรรพากร เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลนายจ้าง-ผู้ประกันตน เข้ากับฐานภาษีกรมสรรพากร ตามแนวทางบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ “Big Data” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการบริหารจัดการด้านภาษีนั่นเอง
🚩 นอกจากนี้ยังมีมาตรการภาษีอากรที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ภาษีแม่ค้าออนไลน์” คือ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562
โดยราชกิจจานุเบกษา ประกาศกฎกระทรวง ให้สถาบันการเงินรายงานธุรกรรมการเงินลูกค้า ต่อกรมสรรพากร เมื่อเข้าเกณฑ์พิจารณา ดังนี้
👉 หากมีรายการรับโอนเงินตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป
👉 หรือ มีรายการฝาก/รับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน ตั้งแต่ 400 ครั้ง และเมื่อรวมเงินแล้วมีมูลค่าถึง 2 ล้านบาทขึ้นไป /ปี /ธนาคาร
ซึ่งได้เริ่มใช้ครั้งแรกในวันที่ 31 มี.ค. 2563 สำหรับข้อมูลการฝากหรือรับโอนเงินที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป
เนื่องจากภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีอยู่ตลอดเวลา ความซับซ้อนของธุรกิจที่มีมากขึ้น การจัดเก็บรายได้ให้แก่รัฐบาลผ่านกระบวนการบริหารการจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ
กรมสรรพากรจึงได้กําหนดยุทธศาสตร์ที่สําคัญในการบริหารงานว่า “ระบบงานมาตรฐานสากล เพื่อบริการประชาชน และเก็บภาษีทั่วถึงและเป็นธรรม” ซึ่งนับได้ว่ามีความหมายที่กินความถึงภารกิจสําคัญของกรมสรรพากรอย่างครบถ้วน ทั้งในด้านการมีระบบงานที่มีมาตรฐานการเป็นองค์การที่ให้บริการประชาชนหรือผู้เสียภาษีรวมถึงการจัดเก็บภาษีนั้น ต้องสร้างความเป็นธรรมในสังคม
💦.....ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบโจทย์สําคัญในภารกิจหลักของกรมสรรพากรในการจัดหารายได้ให้แก่รัฐบาล เพื่อนําไปใช้จ่ายบริหารประเทศได้อย่างเพียงพอและยั่งยืน รวมถึงต้องมีการพัฒนารูปแบบการทํางานโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน และอํานวยความสะดวกต่อผู้เสียภาษีผ่านช่องทางการชําระภาษีที่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี
นอกจากนี้การวางระบบการบริหารการจัดเก็บภาษีที่ดีย่อมเป็นหนทางที่จะดึงผู้เสียภาษีที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาในระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา