21 ต.ค. 2020 เวลา 04:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นาซ่าสร้างประวัติศาสตร์ ส่งยานเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อย
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม เวลา 5.11 น. ตามเวลาในประเทศไทย (ช่วงเย็นวันที่ 20 ตามเวลาในสหรัฐฯ) นาซ่าส่งยานโอไซริส-เร็กซ์ บินวนเข้าหาพื้นผิวของเบนนู ดาวเคราห์น้อยซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 320 ล้านกิโลเมตร เพื่อลงจอดและเก็บตัวอย่างหินและฝุ่นจากพื้นผิวได้สำเร็จ นี่เป็นปฏิบัติการแบบ touch-and-go หรือลงจอดเพียงสั้นๆ เพื่อเก็บตัวอย่าง และบินออกมา เนื่องจากระยะทางที่ไกลมาก จึงใช้เวลาถึง 18 นาทีกว่าที่สัญญาณการลงจอดจะถูกส่งมาถึงศูนย์ควบคุมปฏิบัติการ และตามมาด้วยเสียงโห่ร้องปรบมือ
ทีมปฏิบัติภารกิจตั้งความหวังว่าตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูจะให้เบาะแสเกี่ยวกับยุคแรกเริ่มของระบบสุริยจักรวาลและการถือกำเนิดของชีวิตบนโลก
ภาพแสดงวิธีการบินของยานโอไซริส-เร็กซ์ เพื่อลงจอดและเก็บตัวอย่างและกลับขึ้นมาทันที - ที่มา NASA/Goddard/University of Arizona
“ยอดเยี่ยม ผมไม่อยากเชื่อว่าเราทำสำเร็จ” ดันเต ลอเรตตา หัวหน้าทีมสำรวจของภารกิจโอไซริส-เร็กซ์ กล่าวระหว่างการถ่ายทอดปฏิบัติการ เป้าหมายของภารกิจนี้คือการเก็บตัวอย่างหินและฝุ่นอย่างน้อย 60 กรัมจากพื้นผิวหินขุขระของเบนนู อาจใช้เวลาถึง 10 วันกว่าจะประเมินได้ว่ายานโอไซริส-เร็กซ์ได้ตัวอย่างตามเป้าหรือไม่ และหากได้มาน้อยไป ยานยังมีโอกาสลองอีกสองรอบถ้าจำเป็น
ยานโอไซริส-เร็กซ์โคจรรอบดาวเคราะห์น้อยเบนนูมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2018 และทำการสแกนเบนนูเพื่อเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด มันมีกำหนดเดินทางไปจากเบนนูในเดือนมีนาคมปี 2021 โดยบรรทุกตัวอย่างมาด้วย และกลับถึงโลกในวันที่ 24 กันยายน 2023
ภาพถ่ายดาวเคราะห์น้อยเบนนูจากยานโอไซริส-เร็กซ์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2018 -ที่มา NASA/Goddard/University of Arizona
งานวิจัยในภารกิจนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในเวลา 100 ปีข้างหน้า เพราะเส้นทางของเบนนูมีความเสี่ยงว่าจะพุ่งเข้าปะทะโลกในช่วงใดช่วงหนึ่งของศตวรรษที่ 22 และส่วนหนึ่งของการสำรวจในครั้งนี้คือการทำความเข้าใจวิถีโคจรของเบนนู เพื่อสามารถทำนายความเป็นไปได้ของการพุ่งปะทะโลกอย่างละเอียดขึ้น รวมถึงทำการบันทึกคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของมัน เพื่อให้คนรุ่นหลังสามารถพัฒนาภารกิจลดแรงปะทะของเบนนูได้หากจำเป็น
2
ภาพเปรียบเทียบขนาดเบนนูกับตึกเอ็มไพร์เสตทและหอไอเฟล - ที่มา NASA/Goddard/University of Arizona
เหตุผลสำคัญอีกข้อในการศึกษาเบนนูคือการช่วยให้นาซ่าทำความเข้าใจกระบวนการขุดทรัพยากรจากดาวเคราะห์น้อยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับภารกิจสำรวจอวกาศห้วงลึกในอนาคตซึ่งต้องมีการหยุดพักเพื่อขุดทรัพยากรบนดาวเคราะห์น้อย เช่นน้ำซึ่งสามารถแยกเป็นออกซิเจนและไฮโดรเจนสำหรับผลิตเชื้อเพลิง
นอกจากนั้น ดาวเคราะห์น้อยเบนนูยังถือเป็นหินดึกดำบรรพ์จากยุคกำเนิดระบบสุริยจักรวาลเมื่อ 4.5 พันล้านปีก่อน วัสดุเศษเหลือจากการก่อตัวของดาวเคราะห์หินเช่นดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคารจะรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์น้อย และคงสภาพเดิมเอาไว้แทบทั้งหมด ซึ่งบางทฤษฎีคาดการณ์ว่าดาวเคราะห์น้อยเป็นสิ่งที่นำองค์ประกอบสำคัญของการสร้างชีวิตมายังโลกดึกดำบรรพ์ และเราอาจพบร่องรอยขององค์ประกอบเหล่านั้นบนเบนนู เป็นเบาะแสว่าชีวิตถือกำเนิดบนโลกได้อย่างไร
โปรดกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม
เพื่อเป็นกำลังใจให้ Space Explorer
สร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ มามอบให้คุณเป็นประจำ
โฆษณา