21 ต.ค. 2020 เวลา 23:00 • สุขภาพ
“โรคเอสแอลอี” อันตรายที่เกิดจากภูมิคุ้มกันตนเอง
Cr. Sriphat Medical Center
โรคแพ้ภูมิตนเอง เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ซึ่งตามปกติระบบภูมิคุ้มกันจะทำลาย “สิ่งแปลกปลอม” ที่เข้ามาในร่างกาย
เช่น การติดเชื้อ หรือสารเคมีบางอย่าง
เมื่อเรียบร้อยแล้วร่างกายจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
แต่ในคนที่เป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง จะไม่สามารถจดจำได้ว่าเนื้อเยื่อต่างๆ
ในร่างกายเป็นของ “ตนเอง” และเข้าใจว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม
จึงสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายเนื้อเยื่อตนเอง
ซึ่งโรคแพ้ภูมิตนเองที่พบได้บ่อย คือ “โรคเอสแอลอี”
โรคเอสแอลอีคืออะไร
ศ.นพ.วรวิทย์ เลาห์เรณู แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อและรูมาติสซั่ม
อธิบายว่า โรคเอสแอลอี หรือโรคลูปัส มีชื่อเต็มว่า Systemic Lupus Erythematosus
หรือคนทั่วไปเรียกว่า โรคแพ้ภูมิตนเอง เป็นโรคในกลุ่มข้ออักเสบและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง
ที่สามารถมีอาการและอาการแสดงได้กับทุกระบบในร่างกาย
โดยโรคจะมีลักษณะเด่น คือ มีอาการกำเริบและสงบเป็นช่วงๆ ในระยะที่กำเริบอาจมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้
ในปัจจุบัน สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด
แต่พบว่าโรคนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ฮอร์โมนเพศ
การติดเชื้อบางอย่าง ฮอร์โมนเพศ หรือได้รับการกระตุ้นจากยาหรือสารเคมีบางชนิด
และโรคนี้พบได้เกือบทุกอายุ แต่จะพบมากในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยพบได้มากกว่าผู้ชายประมาณ 10 เท่า
อาการเป็นอย่างไร
เนื่องจากโรคเอสแอลอีสามารถมีอาการและอาการแสดงได้ทุกระบบของร่างกาย
ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้จึงอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการต่อไปนี้
1. ไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาจเป็นอาการนำในระยะแรกของโรค
2. อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นแพ้แดดบริเวณใบหน้า ลำคอ หรือต้นแขน อาจมีจุดเลือดออกตามปลายมือปลายเท้า
3. อาการทางระบบข้อ เช่น อาการปวดข้อ ข้ออักเสบ ปวดตามกล้ามเนื้อ
4. อาการทางระบบเลือด เช่น ซีด จุดเลือดออกตามตัว
5. อาการทางระบบไต เช่น อาการปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ ตัวบวม ไตอักเสบ
6. อาการทางระบบสมอง เช่น อาการซึม ชัก โรคจิต เป็นต้น
7. อาการทางระบบหายใจและปอด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจหรือปอดอักเสบ เป็นต้น
ในรายที่มีอาการตั้งแต่ข้อ 4-7 บ่งบอกว่ามีอาการรุนแรง
ตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างไร
การตรวจวินิจฉัยโรคเอสแอลอี แพทย์จะใช้วิธีการซักประวัติและการตรวจร่างกาย
รวมทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งการตรวจเลือดหาแอนติบอดีต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย มักจะให้ผลบวกในโรคนี้
ในส่วนของการรักษา เนื่องจากโรคแอสแอลอีเป็นโรคเรื้อรัง
มีการกำเริบและการสงบสลับกันไป เมื่อโรคสงบผู้ป่วยจะดูเหมือนคนปกติ
และเมื่อโรคกำเริบจะมีอาการอย่างรุนแรง และในบางครั้งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต
ซึ่งจุดประสงค์สำคัญของการรักษา คือ ทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระยะโรคสงบหรือมีอาการของโรคในระดับต่ำ
โดยที่ผู้ป่วยสามารถทนต่อยาที่ใช้ในการรักษาได้ด้วย และต้องติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
และปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ การรักษาโรคนี้แบ่งได้เป็น
1. การปฏิบัติตัว เมื่อทราบว่าเป็นโรคนี้ ต้องเตรียมตัวเตรียมใจในการ “อยู่กับโรคนี้” ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงแสงแดด ไม่หยุดยาเองหรือปรับยาเอง เมื่อมีปัญหาควรปรึกษาแพทย์ การไปพบแพทย์ด้วยโรคอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ผู้ดูแลประจำ ควรนำยาที่รับประทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย รับประทานอาหารให้ครบหมู่ อาหารสุก สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง หรือไม่สุก
2. การรักษาด้วยยา เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการรักษาโรคนี้ ยาจะประกอบไปด้วยหลายกลุ่ม ซึ่งแล้วแต่ความรุนแรงของโรคและอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่มีอาการของโรคนี้ ยาที่ใช้รักษา ได้แก่ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาต้านมาเลเรีย และยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆ รวมทั้งยากลุ่มสารชีวภาพ หากมีปัญหาเกี่ยวกับยาหรือเมื่อเกิดความผิดปกติใดๆ ก็ตาม ควรรีบปรึกษาแพทย์
3. การรักษาอื่นๆ มักจะเป็นส่วนประกอบในการรักษา เช่น ยากันแดด ยาลดความดันในรายที่มีความดันโลหิตสูง ยาลดไขมันในรายที่มีไขมันในเลือดสูง หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีความผิดปกติจนต้องได้รับการผ่าตัด เช่น ภาวะกระดูกตายขาดเลือด เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคแอสแอลอีมักจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจได้บ่อย
โดยอาจเป็นผลจากโรคเอง หรือยาที่ใช้ในการรักษา
เนื่องจากยาบางชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยหน้าบวมหรือผมร่วงดูไม่สวยงาม
หรือผู้ป่วยมีผื่นบริเวณใบหน้าหรือผิวหนัง เป็นที่สังเกตของผู้พบเห็น
ความผิดปกติเหล่านี้ส่วนใหญ่จะหายไปเมื่อควบคุมโรคได้
ดังนั้น จึงควรเข้าใจสภาพจิตใจผู้ป่วย และช่วยกันให้กำลังใจ
เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ ยอมรับ และปรับตัวให้เข้ากับโรคได้ เพื่อจะได้ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
บทความเรื่อง โรคเอสแอลอีหรือโรคลูปัส
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
โฆษณา