25 ต.ค. 2020 เวลา 23:00 • สุขภาพ
รู้หรือไม่ ผู้ชายเป็น“ตาบอดสี” มากกว่าผู้หญิง
Cr. Sriphat Medical Center
ภาวะ “ตาบอดสี” เป็นปัญหาที่หลายคนประสบพบเจอ
ซึ่งส่งผลให้ถูกจำกัดสิทธิ์ในการดำเนินชีวิตด้านหน้าที่การงาน ไปจนถึงการขับขี่ยานพาหนะ
โดยคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ตาบอดสี คือ การมองเห็นเป็นภาพขาวดำ
แต่ความจริงแล้วผู้ที่มีภาวะตาบอดสีจะรับรู้สีได้
แต่สีที่ผู้ป่วยเห็นจะแตกต่างจากคนปกติ
ซึ่งทำให้ความสามารถในการแยกแยะสีที่มีความคล้ายกันลดน้อยลง
อ.พญ.อทิตยา อภิวรรธกกุล จักษุแพทย์ อธิบายว่า ความสามารถในการมองเห็นของมนุษย์ มาจากเซลล์รับแสงในจอประสาทตา
โดยประกอบไปด้วยเซลล์รับภาพสองชนิดหลักๆ
ได้แก่ เซลล์ Rod และเซลล์ Cone โดยเซลล์ Rod จะทำหน้าที่ในการรับรู้ว่ามีแสงหรือไม่มีแสง และเซลล์ Cone ทำหน้าที่ในการรับรู้สี
ซึ่งแบ่งเป็น 3 ชนิดย่อย ได้แก่ เซลล์รับรู้สีแดง เขียว และน้ำเงิน
หลังจากนั้นจะแปลงสัญญาณแสงเป็นสัญญาณประสาทส่งให้สมองแปลผลต่อไป
ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติกับเซลล์ Cone ไม่ว่าจะเกิดจากการขาดหายไป
การไม่ทำงานของเซลล์ หรือทำงานผิดไปจากปกติ
อาจทำให้บุคคลนั้นมีการรับรู้สีที่แตกต่างไปจากคนปกติ
ซึ่งความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย
ภาวะตาบอดสี แบ่งได้ 2 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่เป็นตั้งแต่กำเนิด (Congenital color vision defects) เป็นชนิดที่พบบ่อย เกิดจากความผิดปกติทางด้านพันธุกรรม มักพบความผิดปกติการบอดสี แดง-เขียว โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง (พบในผู้ชาย 5-8% ผู้หญิง 0.5 %)
- กลุ่มที่เป็นภายหลัง (Acquired color vision defects) เป็นชนิดที่พบน้อยกว่า มักเกิดจากความผิดปกติบริเวณจอประสาทตา (Retina) หรือขั้วประสาทตา (Optic nerve) เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคทางร่างกายอื่นๆ อุบัติเหตุจากยาหรือสารพิษ เป็นต้น และมักพบการบอดสีน้ำเงิน-เหลือง
ตาบอดสีเกิดจากสาเหตุอะไร
ตาบอดสีพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และเป็นการบอดสีแดง-เขียวแทบทั้งหมด
เนื่องจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างรงควัตถุรับสีชนิดสีแดงและสีเขียว (Red-pigment gene, Green-pigment gene)
โดยยีนนี้อยู่บนโครโมโซม X เมื่อยีนนี้ขาดไป ก็จะทำให้คนนั้นมีความสามารถในการรับรู้สีน้อยกว่าคนปกติ
ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กับเพศ เนื่องจากผู้หญิงมีโครโมโซม X สองตัว
ในขณะที่ผู้ชายมีโครโมโซม X เพียงตัวเดียว ดังนั้น ผู้ชายจึงมีโอกาสเกิดภาวะตาบอดสีมากกว่าผู้หญิง
ภาพที่มองเห็นเป็นอย่างไร
การมองเห็นของคนที่เป็นโรคตาบอดสี ส่วนใหญ่สามารถรับรู้สีได้
แต่แยกแยะสีที่มีความคล้ายกันได้น้อยลง
เช่น คนที่ตาบอดสีแดง-เขียว จะแยกสีชมพูกับเหลืองได้ยาก
แต่เมื่อเห็นสีแดงหรือสีเขียวก็จะสามารถแยกแยะได้ทันที
หรือคนที่ตาบอดสีน้ำเงิน-เหลือง จะแยกสีน้ำเงินเข้มกับสีเขียวได้ยากกว่าปกติ
ส่วนตาบอดสีที่เห็นเป็นภาพขาว-เทา-ดำนั้นพบได้น้อยมาก
และมักมีปัญหาสายตาบกพร่องอื่นๆ ร่วมด้วย
ดังนั้น หากพบความผิดปกติในการแยกแยะและรับรู้สี
ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ข้อมูลอ้างอิง :
- ผศ.นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย . (พ.ศ.2554) . ตาบอดสี . ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- นวพรรษ บุญชาญ . (พ.ศ.2555) . ขอความเข้าใจให้คนตาบอดสี . เดลินิวส์
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
โฆษณา