22 ต.ค. 2020 เวลา 08:31 • การเมือง
รัฐธรรมนูญที่ล็อคให้แก้ไขยาก
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
https://www.irrawaddy.com/specials/the-military-drafted-constitution-turns-10.html
ผมไปสหภาพโซเวียตเมื่อ พ.ศ. 2534 กลับมาแล้วก็อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงเมตตาเป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่อลาสิกขาบท พ.ศ. 2535 แล้ว ผมก็เดินทางไปเรียนที่สหพันธรัฐรัสเซียต่อ (ไปครั้งแรกเป็นโซเวียต แต่ไปครั้งที่ 2 เป็นรัสเซีย)
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สิ้นพระชนม์เมื่อ 24 ตุลาคม 2556 เสาร์พรุ่งนี้ จะครบ 7 ปีของการสิ้นพระชนม์ของพระองค์
เสาร์นี้ จะมีการทอดกฐินสามัคคีที่วัดมัชฌิมวัน (ดงกลาง) อ.เขาสมิง จ.ตราด โดยมีผมเป็นประธานและเจ้าภาพหลัก
การทอดกฐินในวันเสาร์นี้ ขอถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ผมขอเชิญท่านที่อยู่ในจังหวัดจันทบุรีและตราดร่วมทอดกฐินสามัคคีในครั้งนี้ครับ
ส่วนศุกร์นี้ จะมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ที่ประทานโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหารไปประดิษฐานที่วัดมัชฌิมวัน (ดงกลาง)
ขบวนอัญเชิญจะเข้าแผ่นดินตราดที่สะพานท่าจอด อ.เขาสมิง เวลา 13.00 น.
การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ต้องติดตามมี 2 ประเทศ คือ สหรัฐและเมียนมา
สหรัฐจะเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 ส่วนเมียนมาจะเลือกตั้งมีในวันที่ 8 รัฐสภาของเมียนมาเป็นรูปแบบสภาคู่ มีสภาผู้แทนราษฎรและสภาชนชาติ ส.ส.มาจากทั้งการเลือกตั้งของประชาชนและแต่งตั้งจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ส.ส.ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี
ส่วนสมาชิกสภาชนชาติต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี สมาชิกสภาชนชาติมาจากการกำหนดโควตาจากภาคและรัฐ
สมาชิกรัฐสภามี 664 ที่นั่ง เป็น ส.ส. ไม่เกิน 440 ที่นั่ง และสมาชิกสภาชนชาติ 224 ที่นั่ง
พวก ส.ส.พลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนมีไม่เกิน 330 ที่นั่ง มาตรา 109   ของรัฐธรรมนูญเมียนมาให้มีส.ส. ที่เป็นทหารซึ่งมาจากการแต่งตั้ง 110 ที่นั่ง
เมียนมามีรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ฉบับแรกเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 ร่างในช่วงที่เมียนมากำลังเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ
ต่อมามีการปฏิวัติและมีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517
จนถึง พ.ศ. 2536 ทหารก็ยอมให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ความมุ่งหวังตั้งใจของทหารคือต้องอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด การร่างถึงต้องใช้เวลานานถึง 15 ปีกว่าจะสำเร็จและประกาศใช้เมื่อพ.ศ. 2551
เผด็จการทหารเมียนมาล็อคการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2551 ไว้ในมาตรา 436 ว่าถ้าการแก้ไขจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาแห่งชาติ (สภาผู้แทนราษฎร + สภาชนชาติ) มากกว่าร้อยละ 75 แถมยังจะต้องมีการทำประชามติ โดยต้องได้รับการรับรองจากพลเมืองที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศมากกว่าร้อยละ 50
1
ผู้คนในเมียนมาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายนิยมเผด็จการทหารและฝ่ายประชาธิปไตย มาตรา 436 ของรัฐธรรมนูญทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยพบความยากลำบากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พวกที่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขก็คือพวกสมาชิกรัฐสภาลากตั้งที่ได้รับการคัดเลือกโดยตรงจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดซึ่งพวกนี้มีมากถึงร้อยละ 25
ผมเคยสงสัยว่ารัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 ไปลอกรัฐธรรมนูญของใครที่ไหนมา พออ่านรัฐธรรมนูญเมียนมาแล้วก็จึงถึงบางอ้อ เอ็งไปลอกจากเพื่อนบ้านเรานี่เอง
รัฐธรรมนูญของเมียนมาเป็นแบบทหารนิยม จะแก้ไขอะไรต้องได้รับความเห็นชอบจากทหาร รัฐธรรมนูญบ้าๆ บอๆ ที่ไม่ได้มาตรฐานแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยพลเอกซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย
อีกประเทศหนึ่งซึ่งมีลักษณะแบบเดียวกัน แต่ไม่ได้ล็อคการแก้ไขโดยฝ่ายทหาร ทว่าล็อคโดยฝรั่วชนชั้นนำผิวขาว นั่นคือรัฐธรรมนูญในอดีตของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งล็อคไว้แบบแก้ไขได้ยากมาก
คนผิวดำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงต้องปลุกระดมให้มีการประท้วงและล่ารายชื่อแก้ไข ต้องมีการทะเลาะเบาะแว้งและมีความรุนแรง จึงสามารถเอารัฐธรรมนูญฉบับเก่าไปทิ้งถังขยะ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยได้สำเร็จ
วันหน้าขอมารับใช้ว่า ฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2551 ได้สำเร็จหรือไม่.
โฆษณา