22 ต.ค. 2020 เวลา 11:50 • ประวัติศาสตร์
• ภาพถ่ายของเด็กชายชาวแอฟริกาใต้ ที่ได้อุ้มร่างเพื่อนของเขาที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิง ในเหตุจราจลที่โซเวโต แอฟริกาใต้ เมื่อปี 1976
ย้อนกลับไปในช่วงปี 1948 จนถึง 1994 ในประเทศแอฟริกาใต้ ได้มีการประกาศใช้นโยบายแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) อันเป็นนโยบายที่มีการแบ่งแยกผู้คนในแอฟริกาใต้ ระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสี ให้แยกออกจากกัน
ซึ่งนโยบายดังกล่าว ได้นำไปสู่ความขัดแย้ง รวมไปถึงความแตกแยกของผู้คน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากนโยบายนี้ ก็คือชาวแอฟริกาใต้ผิวสี ที่พวกเขามองว่านโยบายดังกล่าว เป็นการเหยียดสีผิวและความเป็นมนุษย์ของพวกเขา
ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่การลุกฮือประท้วงของชาวแอฟริกาใต้ผิวสี ที่ไม่พอใจต่อนโยบายนี้ เป็นจำนวนมาก
ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลของแอฟริกาใต้ ก็ได้ทำการออกปราบปราม และจับกุมชาวแอฟริกาใต้ผิวสีที่ต่อต้านได้เป็นจำนวนมาก
แต่ยิ่งมีการปราบปรามและกวาดล้างจากรัฐบาลมากเท่าใด ชาวแอฟริกาใต้ผิวสีก็ยิ่งแสดงออกถึงการต่อต้าน และการประท้วงของพวกเขาก็ลุกลามมากยิ่งขึ้น แต่ทางรัฐบาลของแอฟริกาใต้ก็ไม่ประนีประนอม และทำการปราบปรามด้วยความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรง ที่มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายแบ่งแยกสีผิวนี้ เกิดขึ้นในปี 1976 โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ รู้จักกันในชื่อ "เหตุจราจลที่โซเวโต" (Soweto uprising)
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ รัฐบาลของแอฟริกาใต้ ได้บังคับให้เด็กนักเรียนที่อยู่ในเมืองโซเวโต ต้องเรียนภาษาแอฟริกาสร์และภาษาอังกฤษ (Afrikaans and English language) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ชาวแอฟริกาใต้ผิวสีไม่พอใจเป็นอย่างมาก นำไปสู่การประท้วงและการจราจลในเมืองโซเวโต ในช่วงวันที่ 16 - 18 มิถุนายน 1976
เหตุการณ์นี้ จบลงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของแอฟริกาใต้ ได้ทำการปราบปรามและจับกุมกลุ่มผู้ประท้วง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กนักเรียน) มีการคาดการณ์ว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้อยู่ที่ 176 คน (แต่บางแหล่งอ้างว่า อาจสูงถึง 700 คน) และมีผู้บาดเจ็บกว่า 4,000 คน
โดยหนึ่งสิ่งสำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเหตุจราจลครั้งนี้ ก็คือภาพถ่ายที่ช่างภาพชาวแอฟริกาใต้ ที่มีชื่อว่า แซม เอ็นซิมา (Sam Nzima) ได้ถ่ายบันทึกไว้
โดยเป็นภาพถ่ายของเด็กชายที่มีชื่อว่า เอ็มบูยิซา มาคลูโบ (Mbuyisa Makhubo) ที่ได้อุ้มร่างของ เฮคเตอร์ พเตอร์สัน (Hector Pieterson) ซึ่งเป็นเพื่อนของเขา ที่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจของแอฟริกาใต้ยิง โดยมีพี่สาวของพเตอร์สันคือ อังตัวเน็ตต์ ซิโทเล (Antoinette Sithole) วิ่งตามหลังมา
แต่สิ่งที่น่าสะเทือนใจก็คือ ในท้ายที่สุดแล้ว พเตอร์สันก็ได้เสียชีวิตลง ซึ่งภาพถ่ายใบนี้ ก็ได้ถูกเผยแพร่ท่ามกลางความเศร้าสลด และสะเทือนใจของผู้คนทั่วโลก
เหตุจราจลที่เมืองโซเวโต จึงกลายเป็นเหตุโศกนาฏกรรมที่ยากจะลืมเลือน สำหรับชาวแอฟริกาใต้มาจนถึงทุกวันนี้
โดยวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี อันเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของพเตอร์สัน ก็ได้กลายเป็นวันเยาวชนแห่งชาติของแอฟริกาใต้ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นอีกด้วย
*** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา