22 ต.ค. 2020 เวลา 11:42 • ธุรกิจ
ใครเป็นเจ้าของ Bangkok Post?
รู้หรือไม่ “Bangkok Post” คือ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ฉบับแรกของประเทศไทย
ซึ่งในปัจจุบันอยู่ภายใต้บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน)
1
นอกจาก Bangkok Post แล้ว ยังมีสื่ออีกหลายสำนักที่อยู่ภายใต้บริษัทนี้ด้วย
เช่น โพสต์ทูเดย์, ELLE Thailand, Forbes Thailand และ CLEO
แล้วเจ้าของ Bangkok Post ปัจจุบันคือใคร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2489 หรือเมื่อ 74 ปีที่แล้ว
หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับแรกของไทย ได้ถือกำเนิดขึ้น ในชื่อ “Bangkok Post”
ผู้ก่อตั้ง Bangkok Post คือ พลตรี อเล็กซานเดอร์ แม็คโดนัลด์ ทหารชาวอเมริกัน และคุณประสิทธิ์ ลุลิตานนท์
แต่หลังจากนั้นมา ก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่หลายครั้ง
จนในปี พ.ศ. 2506 ลอร์ด ธอมป์สัน เจ้าพ่อแห่งวงการหนังสือพิมพ์ ก็ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ Bangkok Post
1
ช่วงที่ลอร์ด ธอมป์สันเข้ามาบริหารกิจการแห่งนี้
เขาได้นำอุปกรณ์ และเทคนิคการพิมพ์สมัยใหม่เข้ามาใช้ในไทยเป็นครั้งแรก
ทำให้กิจการของ Bangkok Post เติบโตเรื่อยมา
ปัจจุบันบริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีมูลค่าบริษัทประมาณ 745 ล้านบาท
1
โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง ก็คือ คุณสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ที่ถือหุ้นในบริษัทนี้ถึง 24.2%
และยังมีท่านอื่นในตระกูลจิราธิวัฒน์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอันดับแรกๆ คิดเป็นสัดส่วนรวมแล้วกว่า 43.6%
Cr. HELLO! Magazine Thailand
นอกจากนี้ คุณสุทธิเกียรติ ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหารอีกด้วย
แล้วตระกูลจิราธิวัฒน์เริ่มเข้ามาในกิจการนี้ตอนไหน?
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2519 Bangkok Post ที่ในตอนนั้น ชื่อว่า บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด ได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาท เป็น 1.4 ล้านบาท โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้มีคนไทยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ทำให้เริ่มมีกลุ่มคนไทยก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ตระกูลจิราธิวัฒน์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 Bangkok Post ก็ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีคนไทยเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้นอีก
แล้วในปัจจุบันผลประกอบการของ บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) เป็นอย่างไร?
ปี 2560 รายได้ 1,367 ล้านบาท ขาดทุน 359 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 1,270 ล้านบาท ขาดทุน 168 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 815 ล้านบาท ขาดทุน 309 ล้านบาท
โดยรายได้ของบริษัทแบ่งเป็น
- ธุรกิจหนังสือพิมพ์ 64%
- ธุรกิจนิตยสารต่างประเทศ 20%
- ธุรกิจผลิตคอนเทนต์และรายการโทรทัศน์ 15%
- รายได้อื่นๆ 1%
จะเห็นได้ว่ารายได้ของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง
และประสบผลขาดทุนอย่างหนักติดต่อกันหลายปี
1
สาเหตุสำคัญของเรื่องนี้ มาจากการที่คนหันมานิยมเสพคอนเทนต์จากสื่อออนไลน์ มากกว่าการเสพคอนเทนต์จากสื่อสิ่งพิมพ์
ทำให้ในปี พ.ศ. 2562 บริษัทต้องยุติสิ่งพิมพ์ที่ไม่ทำกำไรหลายสื่อลง
เช่น หนังสือพิมพ์แจกฟรี M2F และนิตยสาร Science Illustrated
Cr. ผู้จัดการ
ส่วนหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และนิตยสาร CLEO ก็ต้องยุติการผลิตสิ่งพิมพ์ แล้วเปลี่ยนมาทำแบบออนไลน์แทน
ในขณะเดียวกัน ในส่วนของหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ซึ่งเป็นเสมือนกล่องดวงใจของบริษัท ก็ได้เปลี่ยนเป็นการว่าจ้างบริษัทอื่นเพื่อมาผลิตหนังสือพิมพ์แทน
1
เหตุผลที่บริษัทต้องทำเช่นนี้ ก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้บริษัทสามารถประคับประคองสถานะทางการเงินต่อไป
ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า
ในยุคที่หนังสือพิมพ์กำลังค่อยๆ ถูกลืมไป
Bangkok Post หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดของไทย จะปรับตัวเพื่ออยู่รอดต่อไป อย่างไร..
Cr. Brand Buffet
ปิดท้ายด้วยเรื่องที่น่าสนใจ
ปัจจุบัน บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน)
มีผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 2 คือ “ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน)”
ซึ่งมีสัดส่วนในการถือหุ้นอยู่ที่ 8.7%
โดยธนาคารกรุงเทพ เริ่มเข้ามาถือหุ้นบริษัท Bangkok Post ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ บริษัท โพสต์ พับลิชชิง เริ่มขายหุ้นให้คนไทย
References
-แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2562 (56-1) บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน)
1
โฆษณา