23 ต.ค. 2020 เวลา 00:19 • การศึกษา
โกหกเจ้าพนักงานว่าโสดไม่เคยสมรส อาจมีความผิดฐานแจ้งความเท็จได้
แล้วความผิดฐานแจ้งความเท็จ คืออะไร?
ความผิดฐานแจ้งความเท็จ คือ การที่ผู้กระทำความผิดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
การที่จะเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จได้นั้น ผู้กระทำจะต้องยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และข้อเท็จจริงนั้นต้อง “ไม่เป็นความจริง”
ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเห็นนาย ข. ขโมยเงินแม่ค้าในตลาด ทั้งที่ไม่เป็นความจริงนาย ก. จึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
แต่ถ้าเป็นการแจ้งข้อเท็จจริงตามที่ตนได้ทราบมา เช่น เห็นนาย ข. ชกนาย ค. จึงไปแจ้งความว่านาย ข. ทำร้ายร่างกายนาย ค.
แต่ความจริงคือ นาย ข. ชกนาย ค. เพื่อป้องกันตัว เนื่องจากนาย ค. พยายามจะใช้มีดแทงนาย ข. ก่อน นาย ข. จึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายเพราะเป็นการป้องกันตัวตามกฎหมาย
ซึ่งกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการแจ้งความเท็จเพราะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงตามที่ได้เห็นมา
การแจ้งความเท็จ ไม่จำเป็นต้องเป็นการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น การแจ้งแก่เจ้าพนักงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่นก็เป็นความผิดในข้อหานี้ได้เช่นเดียวกัน
และถ้าเป็นการแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาก็จะมีอัตราโทษเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
มีคดีที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแจ้งความเท็จมาเล่าให้ฟัง โดยคดีนี้ ภรรยาได้ฟ้องสามีเป็นคดีอาญาในข้อหาแจ้งความเท็จ ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า...
สามีภรรยาคู่หนึ่งจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ในระหว่างสมรส สามีได้ซื้อคอนโดและนำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคาร
ในวันจดทะเบียนจำนอง เจ้าพนักงานที่ดินใช้ตรายางประทับข้อความว่า...
1
“ข้าพเจ้านาย ว. ขอรับรองว่าข้าพเจ้ายังเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรส ไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย หากถ้อยคำที่ข้าพเจ้าให้นี้เป็นเท็จให้ใช้ถ้อยคำนี้ยันข้าพเจ้าในคดีอาญาได้”
และสามีได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้ถ้อยคำตามบันทึกด้านหลังสัญญาจำนองเป็นประกัน
จึงมีปัญหาเกิดขึ้นว่า บันทึกด้านหลังดังกล่าวที่สามีลงลายมือชื่อไว้ท้ายบันทึกจะเป็นการแจ้งความเท็จหรือไม่?
สามีซื้อคอนโดในระหว่างสมรส คอนโดจึงเป็นสินสมรสระหว่างสามีกับภรรยา
ซึ่งการจดทะเบียนจำนองสินสมรสดังกล่าวสามีภรรยาจะต้องจัดการร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (1) และมาตรา 1480
หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้
การที่สามีให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จ แม้สามีจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยที่ภรรยาไม่ยินยอม
การกระทำของสามีมีผลทำให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนจำนองที่ดินให้ ย่อมให้ภรรยาได้รับความเสียหายแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าภรรยาต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือมีสินสมรสเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ภรรยาจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง ซึ่งสุดท้ายคดีนี้ ศาลได้พิพากษาจำคุกสามีในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา
งานนี้ถือว่าสามีโชคยังดีที่ไม่ติดคุก แต่กลับถึงบ้านคงจะจุกไปอีกนาน...
ที่มา :
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8739/2552
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173
#กฎหมายย่อยง่าย
ช่องทางติดตามอื่น ๆ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา