23 ต.ค. 2020 เวลา 00:00 • หนังสือ
❌ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
🦉ฮูกสรุปสั้นขอเสนอสรุปหนังสือ "ตามรอยอาทิตย์อุทัย แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร"
ที่เหล่าคณะราษฎรสามารถล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชได้สำเร็จ และได้สร้าง พัฒนาประเทศโดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ 🎏
เรามาเรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบันกันค่ะ
ด้วยบริบทของการเสื่อมสลายของระเบียบโลกในยุโรปภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
จากการท้าทายของเยอรมนี และอิตาลี พร้อมๆ กับการก้าวขึ้นมาเป็นจุดศูนย์กลางอำนาจใหม่ในเอเชียของญี่ปุ่นนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการปฏิวัติ 2475 ของเหล่าคณะราษฎร
พร้อมกับการเปลี่ยนโฉมกลุ่มผู้นำทางการเมืองใหม่จากเจ้านายชั้นสูง มาสู่สามัญชน ซึ่งการพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมา แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาหลัก
1. รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : เน้นการพัฒนาแบบตะวันตก (Westernization)
2. ยุคสงครามเย็น : เน้นการพัฒนาแบบอเมริกัน (Americanization)
*แต่ระหว่างข้อ 1และ 2: ยังมีช่องว่าง การพัฒนาช่วง 2475 หลังการปฎิวัติของคณะราษฎร สมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา และจอมพลป.พิบูลสงคราม ที่ใช้ญี่ปุ่นเป็นตัวแบบในการพัฒนา (Japanization)
"รัฐบาลใหม่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 คือผู้เริ่มต้นการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างแท้จริง"
อากิรา ซูอิฮิโร (Akira Suehiro)
โดยสิ่งที่พล.ท.หลวงกาจสงคราม สมาชิกคณะราษฎร กล่าวถึงสิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้า รวดเร็วเป็นต้นแบบของไทยช่วงหลังปฏิวัติ 2475 คือ
- การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีความเป็นตนเอง ผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เช่น บนฝาผนังสถานที่ต่างๆ แม้แต่สวนสนุก
- ความสามารถในการคิดนอกขนบธรรมเนียมตามการเปลี่ยนแปลงของโลก
"ฝาผนังในอุโบสถไทยมีแต่มนุษย์รบกับยักษ์ ยักษ์ลักพาตัวสาว มีแต่เรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งไม่มีประโยชน์ในการปลูกฝังความรักชาติเลย"
รต.ถัด รัตนพันธ์ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร)
คณะราษฎรได้ปฏิวัติ เมื่อพ.ศ. 2475 ด้วยเจตจำนงในการสร้างและพัฒนาประเทศขึ้นมาใหม่ โดยหลักการคณะราษฎร 6 ประการเพื่อการพัฒนาประเทศ คือ
1. การทำให้ประเทศมีเอกราชเสมอหน้าประเทศอารยะทั้งหลาย
2. การรักษาความปลอดภัยให้กับสังคม
3. การบำรุงความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจด้วยการจัดให้มีโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ
4. การให้ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน
5. การให้ประชาชนมีเสรีภาพ
6. การส่งเสริมการศึกษาให้ประชาชนอย่างเต็มที่
โดยหลักการทั้ง 6 นั้นมุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาประเทศในด้านการทหาร (Military Development), เศรษฐกิจ (Economics Development) และ สังคมและวัฒนธรรม (Social & Cultural Development)
ซึ่งคณะผู้แทนฯ คณะราษฎรเดินทางไปดูงานในประเทศญี่ปุ่น มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อพัฒนาประเทศไทย ดังนี้
- รัฐบาลควรมีนโยบายต่างประเทศที่เหมาะสมต่อญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นมหาอำนาจ
- ควรปรับปรุงวัฒนธรรม ก่อเกิดความรักชาติ
- ควรปรับปรุงการศึกษาและสุขอนามัยของคนไทย
- รัฐควรมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการบริการสาธารณะแก่ประชาชน
หลังจากนั้น ไทยได้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตามข้อเสนอแนะของคณะราษฎร อาทิเช่น
- รักษาความสัมพันธ์กับประเทศญี่ปุ่น
- พัฒนาหลักสูตรการเรียน เสริมบทเรียนกระบี่กระบองตามแบบกีฬาเคนโดและฟันดาบของญี่ปุ่น ที่ส่งเสริมทั้งความรักชาติและสุขอนามัยของคนไทย
- รัฐบาลคณะราษฎรจัดตั้งกรมศิลปากร กรมพลศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง กรมประมง กรมเกษตราธิการ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ
- ลัทธิชูชาติตามหลักบูชิโด หรือ การเคารพจารีต ประเพณี ชื่นชมในเกียรติยศของชาติ
- ปลูกฝังค่านิยม ตระหนักคุณค่าการทำงาน ความขยันขันแข็ง ความมีระเบียบวินัย
- ศึกษาด้านการทหาร การตำรวจจากกองทัพญี่ปุ่น
- วางรากฐานอุตสาหกรรมผ่านสาธารณูปโภคพื้นฐาน
- นโยบายส่งเสริมการค้าภายในประเทศ ดังคำขวัญ"ไทยต้องอุดหนุนไทย" ผลักดันอุตสาหกรรม
ฯลฯ
แม้ว่าโครงการพัฒนาประเทศในช่วงรัฐบาลคณะราษฎรเป็นการนำตัวแบบและประสบการณ์การพัฒนาของญี่ปุ่นมาเป็นแนวทางในการยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมตั้งแต่ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุติลงพร้อมกับการสิ้นสุดอำนาจของจอมพลป. และความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่มรดกทางสังคม วัฒนธรรม วิทยาการและบทบาทของรัฐในการประกอบการทางเศรษฐกิจยังคงดำรงอยู่ต่อไป
หลังจากนั้น ไทยเข้าสู่ยุคสงครามเย็นและยึดอเมริกาเป็นต้นแบบการพัฒนา (Americanization) มากยิ่งขึ้น
แต่ในครั้งนี้ เหล่าคณะราษฎรได้เปลี่ยนโฉม วันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยจะกลับมาสู่ประเทศไทยหรือไม่ คงมีแต่เราที่เป็นผู้ประพันธ์ประวัติศาสตร์หน้าถัดไปของประเทศไทย
โฆษณา