23 ต.ค. 2020 เวลา 03:34
#เรื่องเก่าเล่าสนุก
#การซึ่งจะรักษาประเทศมิให้มีอันตรายทั้งภายในภายนอก,
สวัสดีครับ เพื่อนๆ
เป็นที่ทราบกันดี ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงงานหนักเพียงใด เพื่อให้สยามสงบร่มเย็น ..รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษ กับฝรั่งเศส..
และในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง.. ภาพภายนอกคือการเสด็จไปพักรักษาตัว ที่บ่อน้ำสปา ในเยอรมัน
แต่จริงๆแล้ว.. กลับมีภารกิจลับที่สำคัญมากประการหนึ่ง..ซึ่งจะขอนำเกร็ดเรื่องเก่าเล่าสนุกมาเล่าให้ฟังกันนะครับ..
วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นวันที่คนไทยทั้งหลายน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์สืบต่อกันมาเป็นร้อยปี..
#ราชการลับของพระองค์ท่านกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระอนุชาผู้รู้พระทัยและผลสำเร็จนั้น,
จากความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพของทุกฝ่าย ที่เตรียมการตั้งแต่ก่อนการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2, สนธิสัญญาฉบับวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) จึงเกิดขึ้น รัฐบาลสยามยอมยกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้ แลกเปลี่ยนกับฝรั่งเศส ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสคืนดินแดนด่านซ้าย (เขตจังหวัดเลย) และตราดให้แก่สยาม พร้อมทั้งเกาะแก่งที่ตั้งอยู่ทางใต้แหลมสิงห์รวมทั้งเกาะกูด และยอมคืน
”สิทธิสภาพนอกอาณาเขต”ตามที่สยามต้องการให้อีกด้วย (สิทธิสภาพนอกอาณาเขต extraterritoriality หรือ extraterritorial right หมายถึงสิทธิพิเศษทางกฎหมาย ซึ่งประเทศหนึ่งสามารถบังคับใช้กฎหมายของประเทศตนต่อบุคคลในดินแดนของประเทศอื่นได้),
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพบและทรงวิสาสะกับบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วยพระองค์เอง เมื่อเสด็จฯ ถึงยุโรปแล้ว ทรงพบคณะรัฐมนตรีฝรั่งเศสในปารีสเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2450 ก่อนออกจากปารีส มีพระราชหัตถเลขามายังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้เตรียมการรับเสด็จที่เมืองตราดเป็นงานด่วน,
(การสะกดด้วยภาษาเดิมตามพระราชหัตถเลขา)
“ลงมือร่างโทรเลขแต่ปารีสจะมาส่งถึงเธอที่นี่ ฉันเห็นอยู่ว่าคงจะเปนความลำบากชิงกันกับการรับรองที่กรุง (รับเสด็จฯ ที่กรุงเทพฯ) ให้เธอพว้าพวัง แต่ไม่ควรจะให้เปนการประกาศ ให้เปนแวะเยี่ยม คือขึ้นไปมีคนมาประชุมรับพร้อมกัน และสปีชอะไรก็กลับเท่านั้น เห็นเปนเข้าทีนักหนา “เปนเราไปแลกเอาคืนมาได้ก็รีบแวะไปทีเดียว” ฝรั่งเศสจะเห็นเปนดิมอนสเตรชั่น (ประท้วง) อย่างไรก็ไม่ได้ เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนกันโดยดี” (27 กันยายน ร.ศ. 126 โรงแรม Grand Hotel, Lucerne)
เป็นที่น่าสังเกตตรงที่ตรัสว่า “เปนเราไปแลกเอาคืนมาได้ก็รีบแวะไปทีเดียว*”
เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีลาดเลาที่ผู้ใดจะรู้ได้ว่า ทรงตั้งพระทัยเป็นพิเศษถึงผลแต่แรกแล้วในการเสด็จประพาสในครั้งนี้ อันเป็นเหมือน “ราชการลับของพระองค์กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระอนุชาผู้รู้พระทัย”
#การซึ่งจะรักษาประเทศมิให้มีอันตรายทั้งภายในภายนอกได้มีหลัก3ประการ
-ดังปรากฏเรื่องนี้ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพความว่า
“การซึ่งจะรักษามิให้มีอันตรายทั้งภายในภายนอกได้มีอยู่ 3 ประการ คือ
1)พูดจากันทางไมตรีอย่างหนึ่ง,
2)มีกำลังพอจะรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้อย่างหนึ่ง
3)การปกครองให้เสมอกันอย่างหนึ่ง
วิธีการเพื่อให้เป็นไปตามหลัก 3 ประการ ใช้เวลา 14 ปี นับจากปีที่ฝรั่งเศสนำเรือปืนเข้ามาปิดล้อม ในเหตุการณ์ ร.ศ.112 ในปี พุทธศักราช 2436 .. จนเกิดผลสำเร็จในการได้ดินแดนคืน ในปี พุทธศักราช 2450
โดยพระองค์ทรงริเริ่มการปรับปรุงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการปกครอง การทหาร เศรษฐกิจ กฎหมายการศาล ขนบธรรมเนียมประเพณีบางประการ ตลอดจนการพัฒนาบ้านเมืองด้านสาธารณูปโภคความสะดวกสบายและความสวยงามของบ้านเมือง ทั้งนี้เพื่อมิให้ต่างชาติดูหมิ่นว่าสยามเป็นชาติป่าเถื่อนล้าหลัง ซึ่งจะมีผลทางการเจรจากันอย่างประเทศที่มีสัมพันธไมตรีอันดีและเสมอภาคกัน,
นอกจากการปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศดังกล่าวแล้ว พระราชวิเทโศบายสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือปฏิบัติในระยะเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับกระแสและอิทธิพลการคุกคามของอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างรุนแรง คือการที่จะต้องแสวงหามิตรประเทศ โดย”ทฤษฎีพันธมิตรซ้อนพันธมิตร”มีพระราชประสงค์สำคัญให้กษัตริย์ประเทศต่างๆ ในยุโรปรู้จักและเข้าใจถึงความเป็นพระมหากษัตริย์แห่งชาติ ที่ดำรงรักษาเอกราชมานานนับร้อยปี มีภาษาขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง อันจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้มีการเจรจากันอย่างประเทศที่มีความเสมอภาค
จึงได้เตรียมพระองค์ให้พร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อจะได้ปฏิบัติพระองค์อย่างสมพระเกียรติแห่งพระมหากษัตริย์สยามในสังคมชาวยุโรปที่เป็นแบบแผนก็ทรงวางพระองค์ได้อย่างภาคภูมิและงามสง่า แต่ก็ไม่ทรงทิ้งลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ นั่นคือความนุ่มนวลอ่อนโยน ทรงผสานลักษณะทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างพอเหมาะ
สยามจึงยังคงรักษาเอกราชของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้พ้นช่วงเวลาแห่งการล่าอาณานิคมของยุโรป และเป็นที่ภาคภูมิใจในเอกราชนั้นจนถึงวันนี้ได้, ประวัติศาสตร์ไทยจึงรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
ของมหาราชอันเป็นที่รัก
“สมเด็จพระปิยมหาราช”
ตลอดไป,
สวัสดีและขอจบเพียงเท่านี้
ขอบคุณครับ
ร้อยเรียงข้อมูล (T.Mon)
23/10/2020
ข้อมูลสนับสนุนส่วนหนึ่ง:พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน ในรัชกาลที่ ๕,พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในเวลาเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๐. พิมพ์ในงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร. กรุงเทพฯ, ๒๔๙๑.
โฆษณา