24 ต.ค. 2020 เวลา 05:50 • ประวัติศาสตร์
"กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" ความจงรักภักดีของ "ย่าเหล" สุนัขทรงเลี้ยง ที่เป็นดั่งมิตรแท้ ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6
ถ้าพูดถึงความกล้าหาญนั้น หลายคนอาจพูดถึงเพื่อนมนุษย์ แต่สำหรับ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 นั้น เคยได้ตรัสชม ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยง ที่ฉลาดแสนรู้ คอยถวายความจงรักภักดีพระเจ้าอยู่หัวเสมือนเป็นทหารรักษาพระองค์ ทั้งกล้า และเก่ง จนภัยมาสู่ตัว
วันหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ระหว่างประทับแรมที่พระตำหนักนันทอุทยาน จังหวัดนครปฐม ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเรือนจำมณฑลนครไชยศรี และมีผู้เห็นเหตุการณ์ได้เล่าไว้ว่า ในระหว่างเสด็จทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ ภายในเรือนจำนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นลูกสุนัขพันทาง ๒ ตัว ซึ่งเกิดจากแม่สุนัขพันธุ์ไทยที่เติบโตอยู่ในเรือนจำมณฑลนครไชยศรี ส่วนตัวพ่อนั้นเป็นสุนัขพันธุ์ต่างประเทศของ "เจ้าคุณเทศา" คือ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (ชม สุนทรารชุน) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรี ซึ่งจวนของท่านเจ้าคุณเทศาอยู่ติดกับเรือนจำนั้นเอง
"ย่าเหล" ลงเล่นน้ำตกร่วมกัน
ในเวลานั้นลูกสุนัขทั้งสองกำลังนอนดูดนมแม่อยู่ที่เชิงบันไดโรงครัวภายในเรือนจำ เมื่อทอดพระเนตรเห็นลูกสุนัขทั้งสองตัวนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงดีดพระหัตถ์เรียก ลูกสุนัขตัวที่ขนยาวปุยสีขาว มีด่างดำที่ใบหน้า ขนบนหลังเป็นสีดำเหมือนอานม้า หูตก หางเป็นพวง ได้วิ่งมาเฝ้าคลอเคลียแทบเบื้องพระยุคลบาท เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับที่ประทับแรมที่สวนนันทอุทยานแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารในพระองค์คนหนึ่งมาขอลูกสุนัขนั้นไปทรงเลี้ยง และโดยที่ลูกสุนัขทั้งสองยังไม่หย่านม หลวงไชยราษฎร์รักษา (โพธิ์ เคหะนันทน์) พธำมรงค์เรือนจำมณฑลนครไชยศรี จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายลูกสุนัขทั้งสองไปพร้อมกับแม่สุนัขนั้นย่าเหลเป็นสุนัขพันทาง ขนปุย หางเป็นพวง สีขาว มีแต้มดำ หูตก เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม เดิมเป็นสุนัขของหลวงไชยราษฎร์รักษา (โพ เคหะนันทน์) ตำแหน่งพะทำมะรงหรือผู้ควบคุมนักโทษ (ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพุทธเกษตรานุรักษ์) เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปตรวจเรือนจำจังหวัดนครปฐม และทอดพระเนตรเห็นสุนัขตัวนี้ และตรัสชมว่าน่าเอ็นดู หลวงชัยอาญาจึงน้อมเกล้าฯ ถวาย พระองค์จึงทรงรับมาเลี้ยง และพระราชทานนามว่า "ย่าเหล"
1
สำหรับชื่อย่าเหลนั้น พระองค์ทรงตั้งจากชื่อตัวละครเอก เอมิล ยาร์เลต์ (Emile Jarlet) จากบทละครฝรั่งเศสเรื่อง "My friend Jarlet" ซึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็นบทละครภาษาไทย ชื่อ "มิตรแท้" และยังทรงพระราชนิพนธ์ละครพูดเรื่อง "เพื่อนตาย" ตามเค้าโครงภาษาอังกฤษ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงแสดงละครเรื่อง My Friend Jarlet
ย่าเหลเป็นสุนัขที่ฉลาดแสนรู้ และช่างประจบ คอยถวายความจงรักภักดีพระเจ้าอยู่หัวเสมือนเป็นทหารรักษาพระองค์ ทำให้เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่ง และด้วยเหตุนี้จึงสร้างความอิจฉาและเกลียดในหมู่ข้าราชบริพารบางคน หากข้าราชบริพารคนใดแต่งกายไม่เรียบร้อย ก็จะถูกย่าเหลกัดต่อหน้าพระที่นั่ง สร้างความละอายและเจ็บแค้นแก่ผู้ที่ถูกกัดนั้นเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยลำพัง โดยมิได้นำย่าเหลไปด้วย จึงมีมหาดเล็กบางคนคอยทำร้ายเอาก็มี
ย่าเหลชอบหนีออกไปเที่ยว เป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงตามหาอยู่หลายครั้ง ในภายหลังโปรดฯ ให้ทำป้ายแขวนคอ เขียนบอกว่า สุนัขตัวนี้เป็นสุนัขของพระเจ้าอยู่หัว ผู้ใดพบนำคืน จะได้รับพระราชทานรางวัล
ภาพลงสี ย่าเหล
ในปีที่ 5 ที่ย่าเหลเข้ามาเป็นสุนัขหลวงในพระราชวัง วันหนึ่งมีผู้ไปพบย่าเหลนอนตายข้างกำแพงพระบรมมหาราชวัง ด้านวัดโพธิ์ ท่าเตียน มีรอยถูกปืนยิง ตามรูปการณ์เชื่อว่าคนที่ฆ่าย่าเหลต้องมิใช่มหาดเล็กธรรมดา เพราะผู้ที่มีปืนในสมัยนั้น จะต้องมียศฐาชั้นเจ้าคุณขึ้นไป หรืออาจเป็นชั้นเจ้านาย
ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโทมนัส (เศร้า) อย่างยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานศพแก่ย่าเหล มีหีบใส่ศพอย่างดี ปิดทองที่มุมโลง และโปรดฯ ให้แกะสลักรูปย่าเหลวางไว้บนโลงด้วย ทั้งยังให้มหาดเล็กแต่งตัวเป็นสัตว์นานาชนิดเข้าร่วมขบวนแห่ศพด้วย นอกจากนี้ยังมีของชำร่วยแจกในงานศพ เป็นผ้าเช็ดหน้าพิมพ์รูปย่าเหล และมีตราวชิระที่มุมด้านขวา พระราชทานเป็นของที่ระลึกแก่ทุกคนที่ไปร่วมงาน
หีบศพ ย่าเหล ปิดทองที่มุมโลง และโปรดฯ ให้แกะสลักรูปย่าเหลวางไว้บนโลง
รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างอนุสาวรีย์รูปปั้นย่าเหล ตั้งตระหง่านอยู่หน้า พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
โฆษณา