25 ต.ค. 2020 เวลา 04:20 • ข่าว
อีกครั้งให้กระจ่าง..."อัษฎางค์"ขอเบิกเนตร"ม็อบรุ่นใหม่"ไม่หยุดมั่ววิจารณ์ ภาพถ่าย"ในหลวง ร.9"ทรงงาน
ถึงแม้จะมีความกระจ่างชัดในข้อเท็จจริงสำคัญ จากภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ตามคำอธิบายจากเพจเฟซบุ๊ก "Napan Sevikul" หรือ คุณนภันต์ เสวิกุล ช่างภาพที่ได้มีโอกาสติดตามการทรงงาน และเคยตามเสด็จฯตั้งแต่ปี 2519 – 2530 ได้โพสต์ตอบประเด็นเรื่อง "เด็กช่างสงสัย" ... เมื่อเช้านี้ ได้รับคำถามมาแบบนี้ ..​ อยากตอบ .. แต่พอลงนั่ง ก็นึกไม่ออกว่าจะตอบอะไร เพราะคำถามแค่สงสัย ว่าไปจอดรถกลางสะพานทำไม?​
หากแต่ประเด็นดังกล่าวยังคงมีการนำไปวิพากษ์วิจารณ์ ในลักษณะก้าวล่วงเบื้องสูง ทำให้ นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ต้องนำกรณีดังกล่าวมาโพสต์ย้ำในรายละเอียดอีกครั้ง ว่า...
“เบิกเนตร” ภาพทรงงานคือการจัดฉาก จริงหรือ? ม็อบปลดแอกต่อต้านสถาบันฯ อ้างว่า ตากล้อง (ประจำพระองค์) ตัวจริงมาเล่าความจริงเบิกเนตร ว่าภาพถ่ายในหลวงทรงงาน (โดนเพราะภาพที่ใส่เสื้อเชิ้ตสีแดง นั่งอยู่กับพื้น พิงรถ ที่ทรงจอดรถกลางสะพาน เป็นการจัดฉาก วันนี้ผมขอเบิกเนตรให้เด็กรุ่นใหม่ ได้รู้ความจริงจากปากของตากล้องประจำพระองค์ตัวจริง
"ปีแรกนี่เหนื่อยเลยเพราะว่าเราอยู่ประมาณรถคันที่ 13,14,15 เมื่อพระองค์ท่านจอด... คือระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน ถ้าพระองค์ท่านต้องพระประสงค์ พระองค์ท่านจะจอดก็จอด เพราะพระองค์ทรงขับรถเอง จอดปุ๊บเราก็วิ่งลงไป กว่าจะถึงเนี่ยบางทีพระองค์คุยจบแล้ว แล้วเราจะยืนคอยรถอยู่ก็ไม่ได้ ต้องวิ่งสุดชีวิตกลับมา
ช่วงแรกมีผมคนเดียว ช่วงปีที่สองที่สามต่อมา คุณหญิงคณิตา เลขะกุล บ.ก.อนุสาร อสท.ในเวลานั้นตามไปด้วย เพราะท่านก็เป็นอนุกรรมการด้วย อีกคนที่มาหลังผมหน่อยก็คือคุณดวงดาว สุวรรณรังษี ที่เป็น บ.ก. อนุสาร อสท. รุ่นหลังๆ นั่นก็วิ่งกับผมมาเหมือนกัน”
ทุกเส้นทางที่พระองค์เสด็จฯ ไปทรงงาน เรื่องความยากลำบากไม่ต้องพูดถึง บางพื้นที่ต้องเดินเท้านานนับชั่วโมง “สมัยนั้นสำนักพระราชวังค่อนข้างเข้มงวดในการถ่ายภาพพระราชอิริยาบถของเจ้านายทุกพระองค์ เช่น ก้าวเดินไม่ได้ ต้องให้พระองค์หยุดแล้วถึงถ่ายรูป ทำให้บางทีเราในฐานะคนทำสารคดีก็จะถูกเอ็ดประจำว่ารูปที่นำมาเผยแพร่เนี่ยพระองค์ไม่สวยในสายตาของผู้ใหญ่ แต่ผมคิดว่าการที่พระองค์ทรงมีพระเสโท(เหงื่อ)เต็มพระพักตร์ ต่างๆ นานา สามารถถ่ายทอดสื่อความหมายได้ รุ่นผมก็จะกลายเป็นรุ่นหัวแข็ง ผู้ใหญ่ก็อาจจะโกรธ แต่ว่าเราก็ทำงานของเรา”
เหตุผลไม่ใช่เพราะพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ แต่ทรงเป็นยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ “มีหลายครั้งที่ผมไปถ่ายภาพพระองค์ท่านแล้วเห็นพระองค์ประทับราบอยู่กับพื้น หัวเข่าเปื้อนทรายเต็มไปหมด ผมเคยยกกล้องขึ้นถ่ายรูปเมื่อพระองค์ประทับบนบัลลังก์ในวันฉัตรมงคล
พอเห็นภาพอย่างนี้เมื่อไหร่ผมก็น้ำตาไหล คือทำไมพระองค์ต้องมาทำอย่างนี้ ทรงงานทุกวัน ตีสามตีสี่ พระองค์ก็ยังทรงงาน พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทุกวัน 11 โมงเช้า กลับมาได้เสวยพระกระยาหารค่ำตอนสี่ทุ่ม เป็นเราก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีทาง แต่พระองค์ทรงทำได้ด้วยความเต็มพระราชหฤทัย
โครงการของพระองค์สี่พันกว่าโครงการ ทรงติดตามความคืบหน้าทุกโครงการด้วยพระองค์เอง แล้วโครงการเหล่านั้นก็ได้เดินทางไปสู่ความสำเร็จทุกโครงการด้วยพระองค์เอง ทรงคิดได้อย่างไร ทรงทำได้อย่างไร คนธรรมดาทำไม่ได้ ไม่มีวัน
ในฐานะช่างภาพบางครั้งก็สงสัยว่าพระองค์ท่านทรงถ่ายอะไร บางทีแอบ แอบเลยล่ะ แอบไปยืนข้างหลังว่าพระองค์ทรงถ่ายอะไร คือพระองค์ท่านทรงยกกล้องมาแต่ละครั้งทรงถ่ายของไม่ดีทั้งนั้น
ดินแดงแห้งผาก รากไม้ ต้นไม้ล้ม พระองค์ทรงถ่ายภาพเหล่านี้ แต่อีกสิบปีกลับไปดูสิ ตรงนั้นจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำใหญ่ พระองค์ท่านทรงถ่ายไปต้องคิดไปด้วยแน่ๆ ว่าจะเอาไปทำอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้มาจากรูปของพระองค์ก็คือชีวิต”
นภันต์ เสวิกุล
ช่างภาพประจำพระองค์
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, มติชน
อัษฎางค์ ยมนาค : รวบรวม
โฆษณา