25 ต.ค. 2020 เวลา 08:08 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา “สงครามราคา” ในตลาดส่งพัสดุ
เคยสังเกตบ้างไหมเวลานี้ เรากำลังใช้บริการส่งพัสดุ ถูกกว่าเดิมหากเทียบกับอดีต
เพราะผู้ให้บริการทั้งหลาย ต่างมีเป้าหมายเพื่อแย่งชิงลูกค้า มาอยู่ในมือตัวเองให้มากที่สุด
จนมีการตั้งคำถามว่า หากมีลูกค้าอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก จะมีประโยชน์อะไร
หากยังเชือดเฉือน “ราคา” อยู่ร่ำไป
สุดท้ายอาจทำให้ทุกรายต้องบาดเจ็บ ขาดทุน ไปในที่สุด..
แต่.. หากเรามองโมเดลธุรกิจนี้อย่างลึกซึ้ง ก็จะรู้ว่า
ทำไมบริษัทส่งพัสดุถึงยังใช้ “เกมราคา” นี้ได้อย่างรุนแรง
เราลองมาดูตัวเลขรายได้ของบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ปี 2561 มีรายได้ 13,668 ล้านบาท กำไร 1,185 ล้านบาท อัตรากำไร 8.7%
ปี 2562 มีรายได้ 19,895 ล้านบาท กำไร 1,329 ล้านบาท อัตรากำไร 6.7%
จะเห็นว่ารายได้ Kerry Express โตระเบิด แต่กลับมีอัตรากำไรที่ลดน้อยลง
นั่นแปลว่า กำไรต่อพัสดุ 1 ชิ้น กำลังลดลง
แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ จำนวนการส่งพัสดุที่มากขึ้นกว่าเดิม
ส่วนบริษัทที่เพิ่งเข้ามาในตลาดนี้อย่าง Flash Express และ BEST Express
ก็มีรายได้เติบโตก้าวกระโดดเช่นกัน ถึงแม้ตอนนี้จะขาดทุน
แต่ก็อย่าลืมว่าในช่วงเริ่มต้นธุรกิจจะต้องลงทุนรถขนส่ง, ศูนย์กระจายพัสดุในพื้นที่ต่างๆ ไปจนถึงระบบจัดการอื่นๆ
 
แล้วหากระบบทุกอย่างลงตัว การใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อให้มีลูกค้าจำนวนมาก ก็น่าจะมีกำไรมากขึ้น
1
เพราะบริษัททุกรายรู้ดีว่า ธุรกิจนี้มีต้นทุนคงที่ หรือ Fixed Cost
อธิบายก็คือ ไม่ว่าใน 1 วัน จะมีจำนวนส่งพัสดุจะมากเท่าไร
ต้นทุนทางธุรกิจส่วนหนึ่ง เช่น จำนวนรถขนส่ง และจำนวนพนักงานก็ยังเท่าเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) หรือต้นทุนต่อการส่งพัสดุ 1 ชิ้นลดต่ำลง จนธุรกิจสามารถทำกำไรได้
การเพิ่มจำนวนการส่งพัสดุให้มากขึ้น จึงเป็นคำตอบ
และนี่ก็คือเหตุผลที่ทุกแบรนด์ในตลาดขนส่งพัสดุ ยอมลดราคา เพื่อแย่งชิงลูกค้า
ถึงจะมีต้นทุนคงที่ แต่ทุกรายก็เลือกที่จะทำตัวเองให้ “ตัวเบา” มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ด้วยการลดต้นทุนธุรกิจ
รู้หรือไม่ เวลานี้บริษัทขนส่งพัสดุเกือบทุกรายเลือกลงทุนขยายสาขาด้วยตัวเองน้อยลง
พร้อมกับหันมาให้น้ำหนักกับโมเดลธุรกิจ “แฟรนไชซี” มากขึ้นกว่าเดิม
ทำให้เวลานี้ ทุกตรอกซอกซอยจะมี จุดบริการขนส่งพัสดุ เกิดขึ้นมากมาย
ผลดีของโมเดลนี้คือ ถึงจะมีรายได้น้อยกว่า หากเทียบกับการลงทุนขยายสาขาด้วยตัวเอง
แต่ก็ไม่ต้องแบกรับค่าเช่าพื้นที่, ค่าพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
อีกทั้งอนาคต เราอาจเห็นหลายบริษัทนำระบบ AI และหุ่นยนต์ มาช่วยคัดแยกพัสดุในการส่งตามศูนย์กระจายพัสดุต่างๆ เหมือนอย่างในประเทศจีนที่กำลังใช้อย่างแพร่หลายในเวลานี้
อย่างไรก็ตาม ทุกบริษัทก็รู้ดีว่า “ราคา” อาจไม่ใช่ ไม้ตาย
ที่ทำให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จ แต่ต้องทำให้ Branding เป็นที่รู้จักและยอมรับ
ก็เลยทำให้เราได้เห็นหลายแบรนด์เลือกใช้ Presenter ชื่อดังของเมืองไทย
1
Kerry Express มี “เวียร์ ศุกลวัฒน์”
Flash Express มี “เจษฎาภรณ์ ผลดี”
BEST Express มี “ณเดชน์ คูกิมิยะ”
จนถึงการพยายามพัฒนาบริการต่างๆ เพื่อลดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด
สุดท้าย.. แม้ธุรกิจขนส่งพัสดุจะมีข้อดีคือ “ต้นทุนคงที่”
แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีค่าใช้จ่ายอื่น
เมื่อทุกราย ยังคงต้องลงทุนอีกสารพัดอย่างเกี่ยวกับ Branding
จนถึงยังต้องเผชิญกับแรงกดดันค่าบริการ จากการแข่งขันในธุรกิจนี้อีก
1
และด้วยการแข่งขันที่รุนแรง ที่ส่งผลให้กำไรเหลือน้อยลงเรื่อยๆ
1
ก็ต้องมาดูกันว่า จำนวนส่งพัสดุและตลาดโลจิสติกส์ ที่เติบโตต่อเนื่องในทุกๆ ปี
ตามเค้กตลาด E-Commerce ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
1
ในอนาคต เค้กมันจะใหญ่พอ จนทำให้ทุกบริษัทอยู่รอดได้หรือไม่ ?
อ้างอิง :
-ข่าวประชาสัมพันธ์ best express
โฆษณา