25 ต.ค. 2020 เวลา 16:35 • ความคิดเห็น
ซีรีส์ . . . เดินตามรอยเท้าพ่อ
ตอน ความทรงจำ (4)
เข้ากราบพระบรมศพ
🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏
“เทวดาเดินดิน” คำขนานนาม องค์พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ที่กล่าวกันเสมอ
ท่านทรงเสด็จกลับไปพักผ่อนยังทิพยวิมานอันไกลโพ้น ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 และพระราชพาหนะที่เป็นกายเนื้อได้ถูกอัญเชิญ กลับมาประทับที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 14 ตุลาคม 2559
หลังจากนั้นมา ทุก ๆ วันจะมีพสกนิกรที่จงรักภักดีในพระองค์ท่าน มากราบพระบรมศพกันมากมาย แม้ในระยะแรกจะได้กราบเพียงพระบรมฉายาลักษณ์ที่ศาลาสหทัยสมาคมเท่านั้น หลายคนกราบได้เพียงภายนอกรั้วพระบรมมหาราชวัง
ทั้งดอกไม้ พวงมาลัย ที่พสกนิกรนำมาถวายมากมายล้นหลาม จนต้องมีเจ้าหน้าที่มาจัดระเบียบเพื่อไม่ให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่งดงาม และขอความร่วมมือให้งดจุดเทียน ซึ่งก่อนหน้านั้นจะเห็นได้ว่า มีเทียนที่ประชาชนของพระองค์จุดถวายเป็นแนวยาว เกือบตลอดรั้วพระบรมมหาราชวังเลยทีเดียว
ฉันเป็นหนึ่งในคนที่ไปกราบพระองค์ เพียงแต่ฉันไปมือเปล่า กับหัวใจที่จงรักภักดีเท่านั้น ฉันรู้สึกมีความสุขที่ได้ไปกราบท่าน และนั่งพูดคนเดียวเหมือนกับว่ากำลังถวายรายงานกระนั้น
วัน เวลา ผ่านไป จนกระทั่งมีประกาศจากสำนักพระราชวังว่า มีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้ากราบพระบรมศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทได้นับจากวันที่ 29 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป
เหมือนฟ้ามาโปรด ฉันไม่รีรอที่จะวางแผนในใจว่า ฉันจะไปตั้งแต่วันแรก
วันที่ 28 ตุลาคม 2559
ฉันไปถึงท้องสนามหลวงประมาณเกือบสี่โมงเย็น เดินดูจุดที่ต้องเข้าคิวเพื่อจะเข้าไปกราบพระบรมศพในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่ปรากฎว่ายังไม่มีการเข้าคิว
จนเวลาประมาณเกือบห้าโมงเย็น เริ่มมีคนเดินมาดูจุดเข้าคิวกันมากขึ้น และท้ายสุดเราก็ยืนเข้าคิวกันตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา ช่วงประมาณหนึ่งทุ่มเศษเริ่มมีฝนตก และตกหนักขึ้นเรื่อย ๆ จุดที่เราเข้าคิวเริ่มมีน้ำไหลนอง ทำให้นั่งกับพื้นเหมือนเดิมไม่ได้ต้องยืนตากฝน แต่ไม่มีใครย่อท้อ
ช่วงเวลาอาจมีคลาดเคลื่อนบ้าง จำได้ว่าเกือบสามทุ่ม ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่มาดูแลงานที่ท้องสนามหลวง มาแจ้งว่าจะย้ายคนกลุ่มแรกที่มาเข้าคิวประมาณหนึ่งร้อยคนเข้าไปในเต้นท์ โดยให้เดินตามมากับเจ้าหน้าที่
ระหว่างที่เดินแถวตามกันมา มีคนเดินเข้ามาแทรกมากมาย จากเดิมที่เป็นคนที่สิบกว่า กลายเป็นคนที่ห้าสิบกว่า แต่โชคดีที่ยังได้เข้าไปนั่งในเต้นท์
คนที่นั่งรอในเต้นท์ เริ่มนั่งหลับด้วยความอ่อนเพลียเมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง จนกระทั่งตี 4 เศษ จึงมีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าให้เตรียมตัว ประชาชนชุดแรกจะได้เข้าไปกราบประมาณตีห้าครึ่ง จากเดิมที่กำหนดเวลาไว้ประมาณ 8 โมงเช้า ความดีใจทำให้หายง่วงเป็นปลิดทิ้ง ที่จะได้กราบพ่อหลวงตอนฟ้าสาง เป็นมงคลยิ่งนัก
พอเดินแถวเข้าเขตพระราชฐานชั้นใน น้ำตาก็เริ่มซึมออกมา ไม่อยากเชื่อว่าวันนี้ได้มาถึงแล้วจริง ๆ วันที่มีแต่ความว่างเปล่า เหลือเพียงถุงบรรจุข้าวเปลือก “พอเพียง” ที่เคยไปช่วยทำตอนเป็นจิตอาสา กับรูปของพ่อ 1 รูปเท่านั้น
หลังจากวันนั้นมา ฉันยังไปกราบพระบรมศพอีกหลายครั้ง บางครั้งไปตอนเย็น บางครั้งไปตอนเช้ามืด ซึ่งส่วนมากจะไปตอนเช้ามืด โดยเดินทางไปถึงท้องสนามหลวงประมาณตี 3
ครั้งที่จำได้ว่าต้องเข้าแถวยาวนานที่สุดนั้น เป็นวันที่เริ่มต่อคิวอยู่ด้านข้างวัดเทพธิดาราม ซึ่งถ้าวัดระยะทางจากกูเกิ้ลแมพ จะคิดเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 2.9 กม.
ผู้ที่เคยไปเข้าคิวคงพอจะนึกออกนะคะ เราใช้เวลานานนับหลายชั่วโมงที่ทั้งยืน ทั้งนั่ง ในคิวที่ค่อย ๆ ขยับไปอย่างเชื่องช้า แต่ทุกคนมีความยินดีและปลื้มปิติทุกครั้งที่จะได้เข้าไปกราบพ่อ
ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะร้อน ขนาดไหน ประชาชนของพระองค์ยังยืนหยัด
นับจากวันแรกที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้ากราบพระบรมศพ ในวันที่ 29 ตุลาคม 2559 จนถึงวันสุดท้าย 5 ตุลาคม 2560 รวมเวลาท้งหมด 337 วัน มีผู้เข้ากราบทั้งสิ้น 12,739,531 คน ประชาชนคนสุดท้ายได้เข้ากราบพระบรมศพขององค์พ่อหลวงในเวลา 02.18 ของวันที่ 6 ตุลาคม 2560
แน่นอนว่าในจำนวนผู้เข้ากราบพระบรมศพนั้น มีหลายคนที่ไปซ้ำแล้วซ้ำอีกเมื่อมีโอกาส และบางคนนั้นไปกราบพระองค์ท่านทุกวัน
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นล้วน เป็นความทรงจำที่น่าประทับใจและมีค่ายิ่งในชีวิต และเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั่นคือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ซึ่งจะนำมาบันทึกไว้ในโอกาสวันครบรอบอีกครั้งนะคะ
 
ด้วยหัวใจที่จงรักภักดีตราบชีวิตจะหาไม่
🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏
คนไทยตัวเล็กเล็ก
25 ตุลาคม 2563
💛💛💛💛💛💛💛💛💛
นำภาพบางส่วนและบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ประทับใจมิรู้ลืมมาฝากค่ะ
ขอบคุณเพื่อน ๆ ที่แวะมาอ่านบทความ และทักทายกันนะคะ
ขอบคุณภาพบางส่วนจากสำนักข่าวต่าง ๆ หลายสำนัก
ขอบคุณบทเพลงบรรเลงอันไพเราะโดย
บรรเลงไวโอลิน : ณัฐพร ผกาหลง
บรรเลงเปียโน : พิเชษฐ์ วรรณขาม
Audio Mixing Mastering : จิรศักดิ์ จันทรสันติกุล
บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา