26 ต.ค. 2020 เวลา 06:08 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
คำถามที่มาพร้อมหน้าหนาว
ต้นตีนเป็ด สรุปจะเหม็น หรือจะ หอม
มาเป็นสัญญาณของความหนาวในทุกๆ ปี กับกลิ่นของ ต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ (Saptaparni) การออกดอกปีละ 1 ครั้ง ในช่วงปลายฝนต้นหนาวนั้น จะส่งกลิ่นฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ บ้างก็ว่าเหม็น บ้างก็ว่าหอม วันนี้เราจะมาคุยในส่วนของวิทยาศาสตร์กัน ซึ่งคำว่า พญาสัตบรรณ เป็นชื่อที่มาจากภาษาสันสกฤต คำว่า “Sapta” (แปลว่า 7) และ “Parni” (แปลว่า ใบไม้) เพราะว่าใบแต่ละช่อนั้นส่วนใหญ่จะมีใบย่อยถึง 7 ใบ (แต่อาจจะเห็นบางช่อมีจำนวน 5-7 ใบย่อยด้วย)
ในส่วนของวิทยาศาสตร์นั้น ดอกของต้นตีนเป็ด มีความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยมากกว่า 34 ชนิด โดยที่สารให้กลิ่นหลักนั้น จะเป็นสารประกอบ linalool (37.5%) และสารอื่นๆ เช่น cis-/ trans-linalool oxides (14.7%), α-terpineol (12.3%), 2-phenylethyl acetate (6.3%) และ terpinen-4-ol (5.3%) ผสมกันไปมาอย่างเป็นเอกลักษณ์ถ้าได้กลิ่นตอนเจือจางจะหอมหมวาน แต่จะตรงกันข้ามเมื่อกลิ่นนั้นรวมตัวกันอย่างเข้มข้ม จากหอมก็กลายเป็นเหม็นได้
สาเหตุของการที่ได้กลิ่นเหม็นนั้น ทางวิทยาศาสตร์ให้คำตอบไว้ว่า เกิดจากการที่สารในกลุ่ม linalool นั้นสามารถกระตุ้นระบบประสาทในสมองให้ทำงานหนักยิ่งขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดหัว และกระตุ้นความอยากอาเจียนของผู้ที่แพ้กลิ่นสารจำพวกนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากดอกตีนเป็ดแล้ว กลิ่นดอกราตรี ก็ยังมีลักษณะคล้ายกัน เนื่องจากว่าเป็นสารประกอบกลุ่มเดียวกัน
แต่ก็ใช่ว่าจะเหม็นเสียทุกคน บางคนก็สามารถรับกลิ่นดอกตีนเป็ดได้ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล
สรุปเราจะเหม็นหรือหอมดี?
ในตำนานของฝรั่ง ต้นพญาสัตบรรณ หรือ ตีนเป็ด มีชื่อว่า Indian Devil Tree ไม่เป็นที่นิยมปลูกในตะวันตก ส่วนที่อินเดียมีความเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณร้าย
ตำนานฝรั่งพื้นบ้านเล่าไว้ว่า นางยักษ์ซึ่งมักปลอมตัวเป็นสาวงามคอยสะกดชายหนุ่มที่ผ่านมาในยามวิกาล ให้ไปหลับนอนด้วยแล้วจับกิน และเมื่อนางยักษ์ปรากฏกายขึ้นจะมีกลิ่นหอมของดอกพญาสัตบรรณนี้ขจรขจายมาตามสายลม
กลิ่นของต้นตีนเป็ดมักมาพร้อมคำถามว่าเหม็นหรือหอมในทุกๆ หน้าหนาว และปีนี้ก็เช่นกัน คำตอบว่าเหม็นหรือหอม แม้คำตอบจะเป็นเช่นไรคงอยู่ในใจของทุกคน แต่ที่แน่ๆ กลิ่มต้นตีนเป็ดในปีนี้มาแล้ว แสดงว่าฤดูหนาวกำลังจะมาในอีกไม่ช้า รักษาสุขภาพกันด้วยนะทุกคน
โฆษณา