26 ต.ค. 2020 เวลา 23:00 • สุขภาพ
สารพันคำถามกับอาหารผู้เป็นเบาหวาน
Cr. Sriphat Medical Center
โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
จากการที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ตามปกติ
ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานาน จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
ดังนั้น ผู้เป็นเบาหวาน คือ ผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
จากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือฮอร์โมนอินซูลินออกฤทธิ์ไม่เต็มที่
ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินมีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์
เพื่อเผาผลาญให้เกิดเป็นพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ ของร่างกาย
หากเกิดความบกพร่องดังกล่าว ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือด
ไปใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
✽ อาหารกับเบาหวาน เกี่ยวกันอย่างไร
อ.พญ.พิธพร วัฒนาวิทวัส อธิบายว่า จากข้อสงสัยที่ว่า
“ทำไมผู้เป็นเบาหวาน ต้องควบคุมอาหาร”
เนื่องจากอาหารที่รับประทานเข้าไปส่วนใหญ่
จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือด
ดังนั้น การควบคุมอาหารจึงเป็นวิธีที่สำคัญอีกวิธีหนึ่ง
ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
• สารพันคำถามกับอาหารผู้เป็นเบาหวาน •
✽ โรคเบาหวาน ทำไมต้องจำกัดการกินข้าว-แป้ง-น้ำตาล ?
เพราะกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (ข้าว-แป้ง-น้ำตาล) เมื่อถูกย่อยแล้ว
จะเพิ่มระดับน้ำตาลในกระแสเลือดทันที (ซึ่งเร็วกว่ากลุ่มโปรตีนและไขมัน)
ดังนั้น หากสามารถคุมคาร์โบไฮเดรตได้ดี ก็จะสามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
✽ ข้าว-แป้ง-น้ำตาล งดทานเลยจะดีไหม ?
ไม่ควรงด แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะกลุ่มคาร์โบไฮเดรต
ถูกใช้เป็นพลังงานหลักของร่างกาย อีกทั้งสมองจะทำงานได้ดี
เมื่อมีน้ำตาลกลูโคส ดังนั้น การงดอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ (Hypoglycemia)
หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ฉุนเฉียวง่าย กังวล สายตาพร่า
เหงื่อออกมาก หิวบ่อย อ่อนเพลีย ตัวสั่น และชักได้
✽ อยากเพิ่มรสหวานในอาหารทำอย่างไรดี ?
การเลิกกินหวาน อาจเป็นความทรมานของหลายๆ คน
ทางเลือกที่อาจช่วยได้ คือ ใช้สารทดแทนความหวาน (Sweetener) น้ำตาลเทียม
หรือหญ้าหวาน (Stevia) ในการปรุงประกอบอาหารและเครื่องดื่ม
และควรปรับพฤติกรรม โดยค่อยๆ ลดการทานรสหวาน เพื่อให้ต่อมรับรสเคยชินรสหวานน้อยลง
✽ งดอาหาร หรือทานไม่ครบ 3 มื้อ ทำได้ไหม ?
ไม่ควรงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ (Hypoglycemia)
โดยเฉพาะในผู้ที่ทานยาเบาหวาน เพราะยาจะมีผลต่อการดูดเก็บน้ำตาล
และนำไปใช้เป็นพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง
✽ ไม่หิวข้าว เลือกรับประทานอะไรดี ?
หากรู้สึกไม่หิวข้าว สามารถเลือกรับประทานกลุ่มคาร์โบไฮเดรตอื่นๆ แทน
ได้แก่ นมจืด ขนมปัง เผือก มันเทศ ข้าวโพด ผลไม้ กล้วยน้ำว้า ส้ม สาลี่ ขนมเบเกอรี่ เป็นต้น
✽ หากเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ควรทำอย่างไร ?
เลือกรับประทานอาหารที่ให้น้ำตาลได้เร็วที่สุด
ได้แก่ น้ำหวาน น้ำตาล น้ำเชื่อม ลูกอม น้ำผลไม้ ในปริมาณที่พอเหมาะ 100 – 150 มิลลิลิตร
✽ การออกกำลังช่วยลดระดับน้ำตาลได้ไหม ?
การเคลื่อนไหวร่างกายหรือการออกกำลังกาย
สัปดาห์ละ 4-5 วัน วันละ 30 นาทีขึ้นไป
ช่วยให้ร่างกายเพิ่มการเผาผลาญสารอาหารและทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น
✽ โรคที่ตามมาหากไม่คุมน้ำตาลในเลือด ?
การคุมอาหารเป็นวิธีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ซึ่งหากละเลย อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน
เช่น เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy)
เบาหวานลงไต (Diabetic Nephropathy)
เบาหวานลงเส้นประสาท (Diabetic Neuropathy)
โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง :
- พญ.พิธพร วัฒนาวิทวัส. โรคเบาหวาน. https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-269 ค้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563
- ผศ.พญ.นิพาวรรณ ไวศยะนันท์. อาหารกับผู้เป็นเบาหวาน. https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-68 ค้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563
- นายณัฏฐากรรธ์ ลอยเลิศ. อาหารกับโรคเบาหวาน. คู่มืออาหารและโภชนาการ (Food and Nutrition Guidebook)
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
โฆษณา