27 ต.ค. 2020 เวลา 11:01 • ประวัติศาสตร์
“อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)” นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20” ตอนที่ 2
ก้าวสู่ความสำเร็จ
การถูกไล่ออกจากโรงเรียน แม้จะเป็นโรงเรียนที่เขาเกลียด ก็เป็นสิ่งที่ทำให้อัลเบิร์ตรู้สึกเจ็บปวด
อัลเบิร์ตรู้สึกอับอายที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนที่ถูกไล่ออก เขารู้สึกโกรธอาจารย์ และผิดหวังในตัวเอง
แต่ถึงอย่างนั้น อัลเบิร์ตก็รู้สึกตื่นเต้นดีใจที่จะได้พบกับครอบครัว
อัลเบิร์ตได้ไปหาครอบครัวที่ภาคเหนือของอิตาลี และเขาก็ตกหลุมรักประเทศอิตาลีในทันที
อิตาลีนั้นต่างจากเยอรมนีมาก ผู้คนเป็นมิตร สุภาพ และใจกว้าง
ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในอิตาลี อัลเบิร์ตมักจะไปชมพิพิธภัณฑ์และคอนเสิร์ต และเขายังมีเวลาว่างในการอ่านและคิดอีกด้วย
อัลเบิร์ตได้ศึกษาชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์ในอดีต และทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์หลายๆ คนก็ทำให้อัลเบิร์ตยิ่งครุ่นคิด
อัลเบิร์ตได้จดบันทึกความคิดและคำถามต่างๆ ของตนลงในกระดาษ และบันทึกของเขาก็ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร ในขณะที่เขายังเป็นเพียงเด็กวัยรุ่น
บันทึกของอัลเบิร์ต
บทความที่ได้ตีพิมพ์ลงวารสารชิ้นแรกของอัลเบิร์ต คือเรื่องของไฟฟ้าและแม่เหล็ก
อัลเบิร์ตขึ้นต้นด้วยการคัดค้านทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ โดยนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ได้กล่าวว่า ส่วนที่ว่างเปล่าของอวกาศ บริเวณที่ไม่มีดวงดาว จะมีสิ่งที่เรียกว่า “อีเทอร์ (Ether)”
ไม่มีใครรู้ว่าอีเทอร์หน้าตาเป็นอย่างไร แต่ทุกคนก็คิดว่ามีอีเทอร์อยู่ในบริเวณที่ว่างเปล่า
แต่อัลเบิร์ตไม่เห็นด้วย เขากล่าวว่าบริเวณที่ว่างเปล่านั้นไม่มีอะไรเลย เป็นพื้นที่ว่างเปล่า
แน่นอนว่าไม่มีใครสนใจฟังอัลเบิร์ตมากนัก อัลเบิร์ตเป็นนักเรียนที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียน แถมยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ในขณะที่อีกฝ่ายคือนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่นับหน้าถือตา จึงไม่แปลกที่จะไม่มีใครสนใจเขา
หากแต่ในเวลาต่อมา นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นก็ต้องตามหาบทความชิ้นนี้เพื่อนำมาศึกษา เนื่องจากอัลเบิร์ตคิดถูก
ขณะที่อาศัยอยู่ในอิตาลี อัลเบิร์ตมักจะเดินเล่นในหุบเขาเพียงลำพัง คิดถึงเรื่องต่างๆ
ธุรกิจของครอบครัวเริ่มจะไปไม่รอด และอัลเบิร์ตก็คิดว่าบางทีตนอาจจะเป็นคนนำโชคร้ายมาสู่ครอบครัว
อัลเบิร์ตต้องวางแผนชีวิต และเขาก็ตัดสินใจจะเข้าเรียนฟิสิกส์ในมหาวิทยาลัย และเมื่อเรียนจบ ก็จะเป็นศาสตราจารย์สอนฟิสิกส์
อัลเบิร์ตตัดสินใจเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมที่สวิตเซอร์แลนด์ และเขาก็พบว่าโรงเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์นั้นแตกต่างจากโรงเรียนที่เยอรมนีอย่างสิ้นเชิง
โรงเรียนในสวิตเซอร์แลนด์สอนเด็กให้รู้จักคิดและตั้งคำถาม ซึ่งทำให้อัลเบิร์ตนั้นเพลิดเพลินกับการเรียน
ไม่เพียงแค่โรงเรียน แต่อัลเบิร์ตยังชอบผู้คนอีกด้วย
ชาวสวิสนั้นเป็นมิตรและไม่เอาเปรียบ อัลเบิร์ตจึงตัดสินใจจะเป็นพลเมืองสวิส
ภายหลังจากเรียนจบชั้นมัธยม อัลเบิร์ตก็ได้เข้าศึกษาในวิทยาลัยในเมืองซูริค หากแต่เขาก็ไม่มีเงิน อีกทั้งครอบครัวก็เริ่มจะมีปัญหาด้านการเงิน อัลเบิร์ตจึงต้องประหยัดสุดขีด กินอาหารน้อย พักอยู่ในห้องมืดๆ เล็กๆ และต้องใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ไปเรียน
แต่สิ่งที่ดีก็คือ เขามีเพื่อนใหม่ที่วิทยาลัย และหนึ่งในนั้นคือ “มิเลวา มาริค (Mileva Maric)”
อัลเบิร์ตและมิเลวา
มิเลวานั้นเป็นนักคิดที่ยอดเยี่ยม ทั้งอัลเบิร์ตและมิเลวาชอบอะไรคล้ายๆ กัน และทั้งคู่มักจะพูดคุยเรื่องฟิสิกส์และดนตรี
ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะแต่งงานกัน
ภายหลังจากเรียนจบในปีค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) อัลเบิร์ตก็หางานอาจารย์สอนฟิสิกส์ หากแต่ก็หาไม่ได้เลย เงินก็เริ่มจะใกล้หมด หากไม่มีงานทำ เขาก็ไม่สามารถแต่งงานกับมิเลวา ซึ่งสุดท้าย อัลเบิร์ตก็ได้งานที่สำนักงานสิทธิบัตร
ถึงแม้นี่จะไม่ใช่งานที่อัลเบิร์ตอยากจะทำ แต่เขาก็ไม่มีตัวเลือกมากนัก
ในช่วงเวลานี้เอง พ่อของอัลเบิร์ตได้เสียชีวิต ทำให้อัลเบิร์ตเสียใจมาก แต่ยังดีที่มีมิเลวาอยู่ข้างๆ
อัลเบิร์ตได้เข้าทำงานที่สำนักงานสิทธิบัตร โดยทำหน้าที่ตรวจสอบใบขอสิทธิบัตร ซึ่งอัลเบิร์ตก็ทำงานได้ดีมาก และทำงานเสร็จก่อนเวลาหลายชั่วโมง
เมื่อทำงานเสร็จเร็วและมีเวลาว่างยาว อัลเบิร์ตจึงใช้เวลาในการคิดและเขียนบทความทางวิทยาศาสตร์ได้อีกจำนวนมาก และบทความของเขาก็ได้ตีพิมพ์ลงวารสารวิทยาศาสต์เยอรมัน
ด้วยความที่มีงานทำและเริ่มมีรายได้มั่นคง อัลเบิร์ตจึงได้ขอมิเลวาแต่งงาน และทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกันในปีค.ศ.1903 (พ.ศ.2446)
ในปีต่อมา ค.ศ.1904 (พ.ศ.2447) “ฮันส์ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Hans Albert Einstein)” ลูกชายคนแรกของอัลเบิร์ตกับมิเลวา ก็ได้ลืมตาดูโลก
1
อัลเบิร์ตกับมิเลวาและฮันส์
งานที่สำนักงานสิทธิบัตรทำให้อัลเบิร์ตมีเวลาว่างเพื่อดูแลครอบครัวและเขียนบทความทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ในศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า ระเบิดปรมาณู หรือแม้แต่การสำรวจอวกาศ ก็ล้วนแต่มาจากแนวคิดของอัลเบิร์ตที่ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร
ค.ศ.1909 (พ.ศ.2452) มหาวิทยาลัยซูริคได้ชักชวนให้อัลเบิร์ตไปทำการสอน โดยให้เป็นศาสตราจารย์ ทำการสอนและศึกษาวิชาฟิสิกส์
ในเวลาไม่นาน อัลเบิร์ตก็กลายเป็นศาสตราจารย์ที่โด่งดัง
นักศึกษาต่างชื่นชอบที่อัลเบิร์ตสามารถสอนสิ่งยากๆ ด้วยการอธิบายเป็นภาพอย่างง่ายๆ และอัลเบิร์ตก็ชื่นชอบการบรรยาย
ในไม่ช้า อัลเบิร์ตก็กลายเป็นดาวรุ่ง เขาได้รับเชิญไปบรรยายทั่วยุโรป
ทฤษฎีของอัลเบิร์ตเริ่มจะเป็นที่พูดถึงไปทั่ว
อัลเบิร์ตกล่าวว่าแสงจะหักงอเมื่อเดินทางผ่านอวกาศ ซึ่งค้านกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ที่กล่าวว่าแสงจะเดินทางเป็นเส้นตรง
เมื่อความเห็นไม่ตรงกัน จึงต้องมีการพิสูจน์
การพิสูจน์นั้นจะพิสูจน์โดยการดูสุริยุปราคา ซึ่งต้องรออีกสี่ปี จึงจะเกิดสุริยุปราคาอีกครั้ง นั่นคือปีค.ศ.1914 (พ.ศ.2457)
ในปีค.ศ.1911 (พ.ศ.2454) ได้มีการวางแผนส่งนักวิทยาศาสตร์ไปยังรัสเซียเพื่อทดสอบทฤษฎีของอัลเบิร์ต และรัสเซียก็เป็นหนึ่งในจุดที่เหมาะในการถ่ายรูปดวงดาวในขณะที่เกิดสุริยุปราคา
ยังเป็นเวลาอีกนานกว่าจะถึงค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) อัลเบิร์ตจึงยังมีเวลาคิดและบรรยายอีกมาก
ถึงแม้จะเป็นคนเก่ง แต่อัลเบิร์ตก็ดูแตกต่างจากคนอื่นๆ เขามักจะไม่ค่อยหวีผมให้เรียบร้อย ติดกระดุมเสื้อแค่เม็ดแรก มักจะลืมกุญแจที่พัก ลืมกระเป๋า ลืมแม้กระทั่งทานอาหาร และเขายังชอบใช้เงินแทนที่คั่นหนังสือ
แต่ถึงอย่างนั้น อัลเบิร์ตก็ยิ่งโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่คนที่ไม่ได้สนใจในวิทยาศาสตร์ก็ยังให้ความสนใจ รูปภาพของเขาถูกตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ และบทความมากมายเกี่ยวกับอัลเบิร์ตก็ถูกตีพิมพ์ลงนิตยสาร
อัลเบิร์ตเริ่มจะก้าวขึ้นมายืนเป็นที่หนึ่ง แต่เรื่องราวชีวิตของเขายังอีกยาวไกล
เรื่องราวของเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้านะครับ
โฆษณา