28 ต.ค. 2020 เวลา 04:02 • ประวัติศาสตร์
*** การปฏิวัติฝรั่งเศส ฉบับเข้าใจง่าย ***
3
การปฏิวัติฝรั่งเศสกินระยะเวลาเพียงสิบปี (1789-1799) แต่อัดแน่นด้วยความพลิกผันมากมาย เป็นเหตุการณ์ที่ทรงอิทธิพลเป็นอย่างยิ่งซึ่งจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลกไปตลอดกาล
มันเป็นจุดเปลี่ยนเทรนด์แนวคิดของชาวโลกจาก "อำนาจอยู่ที่คนวรรณะสูง" ไปสู่ "อำนาจอยู่ที่มวลชน" แม้เป็นอุดมการณ์ที่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ห่างไกลจากการโรยด้วยกลีบกุหลาบ
...เรื่องที่ท่านอ่านต่อไปนี้ จะแสดงภาพลักษณ์สองอย่าง ซึ่งขัดแย้งกัน...
...เรื่องที่ท่านอ่านต่อไปนี้ จะแสดงภาพอันสวยงาม...
มันมีการโค้นล้มอำนาจศักดินาอันฟอนเฟะ การเลิกทาส การให้สิทธิคนผิวสี การสร้างสังคมในอุดมคติซึ่งเปี่ยมด้วยเหตุผล และมนุษยธรรม
...เรื่องที่ท่านอ่านต่อไปนี้ จะเป็นเรื่องราวที่น่าทุเรศ
...นี่เป็นยุคที่ความดีถูกหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกับความบ้าคลั่ง
...ท่านจะได้เห็นคนดีเปลี่ยนเป็นคนเลว
...ท่านจะได้เห็นยุคสมัยแห่งความชั่วช้า
...เราจะได้เห็นทั้งการตกต่ำที่สุด และการรุ่งเรืองที่สุดของฝรั่งเศส ก่อนจะส่งไม้ผลัดไปยังยุคถัดไป
2
ขอเชิญทุกท่านเป็นประจักษ์พยานในเหตุสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เราต้องผ่านพ้นอะไรบ้าง กว่าจะได้สิทธิ ความเสมอภาค และระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน
5
การปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นหลังฝรั่งเศสบรรลุถึงยุคพีคเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (1643-1715) แต่ต่อมาพอถึงสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (1715-1774) นั้นเขาบริหารผิดพลาด ทั้งรบแพ้สงครามเจ็ดปีกับอังกฤษ ทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียอาณานิคมอเมริกา และอ่อนแอลง
หลุยส์ที่ 15 จากไปโดยทิ้งประเทศที่บอบช้ำจากสงครามให้หลานของเขาหรือพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 บัดนั้นฝรั่งเศสไม่ได้ร่ำรวยยิ่งใหญ่เหมือนเก่า แต่ชนชั้นสูงก็ยังติดความหรูหราฟูฟ่าจากยุครุ่งเรืองที่ผ่านมาไม่นาน
ภาพแนบ: หลุยส์ที่ 15
หลุยส์ที่ 15 จะมากน้อยยังหล่อเหล่าสง่างาม แต่หลุยส์ที่ 16 นั้นถูกญาติตัวเองนินทาว่า "อ้วน น่าเกลียด เป็นเชื้อพันธุ์ไม่ดี" แม้นิสัยส่วนตัวเขามิได้โหดร้าย แต่ความติ๋ม ขี้อาย เอ้อระเหย โลเล ชอบเล่นไม่เอาราชการ ล้วนเป็นลักษณะโทษของผู้เป็นกษัตริย์
ภาพแนบ: หลุยที่ 16
หลุยส์ที่ 16 แต่งงานกับพระนางมารี อังตัวเนต เจ้าหญิงจากออสเตรียซึ่งขณะนั้นเป็นชาติมหาอำนาจเช่นกัน มารี อังตัวเนตเยาว์วัย สดใส น่ารัก คนนินทาว่าแต่งกับหลุยส์แล้วเหมือนเอาดอกไม้งามไปปักบนมูลโค เพราะหลุยส์เองมีโรคทางเพศ (องคชาติหากถอกจะเจ็บมาก) ทำให้ไม่โปรดร่วมเตียงกับภรรยาเป็นเวลาหลายปี เขาหวาดกลัวหลีกหนีการผ่าตัด ต่อมาถูกกดดันให้มีบุตรจนยอมผ่าตัดแล้วจึงหาย
1
ภาพแนบ: มารี อังตัวเนต
แต่ถ้าท่านคิดว่าความแบ๊วน่ารัก ในยุคศตวรรษที่ 18 เป็นประมาณการ์ตูนกุหลาบแวร์ซายแล้วล่ะก็ขอบอกเลยว่าท่านคิดผิด
มารี อังตัวเนตของจริงเป็นประมาณนี้ คือ เอ้อ... ชอบไว้ผมทรงประหลาด... ให้คิดถึงเธอเป็นเจ้าหญิงจากแดนไกลที่ต้องมาแต่งงานกับราชสำนักที่ยิ่งใหญ่ ชีวิตตลอดวันผ่านพ้นไปกับพิธีรีตองหยุมหยิม เช่นพิธีตื่นนอน พิธีกินข้าว พิธีเดินเล่น พิธีส่งเข้านอน ทุกขั้นตอนล้วนมีคนมากมายห้อมล้อม เธอจึงคลายเครียดโดยการเป็นผู้นำแฟร์ชัน ทำทรงผมอลังการ เช่นภาพนี้เป็นทรงผมรูปเรือ
1
ราชสำนักฝรั่งเศสฟู่ฟ่ามีงานเลี้ยงทุกวัน ใช้จ่ายสิ้นเปลืองเป็นอย่างยิ่ง ภาพการแต่งกายหรูหราของมารี อังตัวเนต ย่อมขัดกับภาพราษฎร (ที่เธอแทบไม่เคยเห็น) โดยขณะนั้นประเทศกำลังยากจนจากภัยสงคราม บวกกับภัยธรรมชาติ ชาวนาจำนวนมากกำลังจะอดตาย...
ถามว่าหลุยส์ที่ 16 แก้ปัญหาอย่างไรน่ะเหรอ? คำตอบคือตอนนั้นเขาเห็นประชาชนอเมริกากำลังพยายามปฏิวัติอังกฤษ จึง "สนับสนุนการปฏิวัติอเมริกา!" เพื่อล้างอายให้พระเจ้าปู่ ชำระแค้นที่เคยพ่ายแพ้ในสงครามเจ็ดปี ...โฮะ โฮะ พระเจ้าปู่เคยบอกว่าเราอ้วนๆ โง่ๆ เราจะทำให้พระเจ้าปู่ภูมิใจ
ภาพแนบ: นายพลจอร์จ วอร์ชิงตัน นำการทำสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา
ความสำเร็จของสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา เป็นการตบหน้าอังกฤษอย่างรุนแรง ...แต่นอกจากสะใจที่ได้ตบหน้าแล้ว หลุยที่ 16 ก็ไม่ได้อะไรมากกว่านั้นเท่าใด ...เพราะชาติเกิดใหม่อย่างอเมริกาย่อมไม่มีเงินมาใช้หนี้สงครามฝรั่งเศส
และที่น่ากลัวคือการปฏิวัติอเมริกาได้เป็นตัวอย่างแรงบันดาลใจให้คนฝรั่งเศสเห็นว่า ประเทศนั้นปกครองโดยประชาชนก็ได้นี่หน่า ไม่เห็นต้องมีกษัตริย์เลย
สงครามอเมริกาแม้รบชนะ แต่ทำให้เศรษฐกิจฝรั่งเศสย่อยยับคนอดอยากล้มตายมากกว่าเดิม หลุยส์จึงแก้ปัญหาโดยการ "เก็บภาษีคนจนหนักขึ้นอีก!"
2
ตอนนั้นฝรั่งเศสมีคนอยู่สามกลุ่ม คือนักบวช, ขุนนาง, และชาวบ้านอื่นๆ ที่เหลือ ชาวบ้านอื่นๆ ที่เหลือนั้นมีจำนวน 98% ของประชากรในประเทศ (ขุนนางมี 1.5% นักบวชมี 0.5%) แต่ทรัพย์สินส่วนใหญ่กลับตกอยู่กับคนสองพวกแรก อีกทั้งสองพวกแรกยังแทบจะไม่ต้องเสียภาษีเลยอีกด้วย!
ภาพแนบ: ฝรั่งเศสสามฐานันดร
ผู้คนเริ่มไม่พอใจ อยากให้หลุยส์เก็บภาษีนักบวชกับขุนนาง แต่หลุยส์ก็ไม่กล้าทำ เพราะราชวงศ์ฝรั่งเศสอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของนักบวชกับขุนนางนี่แหละ เนื่องจากเขาติ๋มเกินกว่าจะสั่งการอย่างไรไปเด็ดขาด จึงหาทางออกโดยการตั้ง "สภาฐานันดร" ขึ้น เพื่อโยนการตัดสินใจให้คนอื่น
สภาฐานันดรเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดในฝรั่งเศสมานับร้อยปีแล้ว มันคือการอนุญาตให้ประชาชนมากำหนดแนวทางของประเทศ ดูผิวเผินเหมือนช่วยเรื่องกระจายอำนาจ แต่ในความจริงคือหลุยส์ให้ฐานันดรนักบวช, ขุนนาง, และประชาชนมีจำนวนเสียงโหวตเท่ากัน
ในลักษณะนี้ไม่ว่าตัวแทนประชาชนจะโหวตอะไร จะถูกนักบวชกับขุนนางโหวตชนะในอัตรา 2 ต่อ 1 เสมอ ทำให้เสียง 98% ของประเทศไม่มีความหมาย
การตั้งสภาฐานันดรจึงทำให้ประชาชนซึ่งเมื่อก่อนยังเบลอๆ ได้เห็นชัดขึ้นไปอีกว่าประเทศนี้อยุติธรรมแค่ไหน
ในที่สุดฝ่ายประชาชนไม่พอใจ เห็นว่าเรามี 98% ไม่ต้องฟัง 2% ก็ได้มั้ง จึงจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ ประชุมบริหารกันเอง ไม่ต้องมีขุนนางนักบวช หลุยส์ไม่ชอบ แต่ติ๋มเกินกว่าจะห้ามตรงๆ อีกนั่นแหละ จึงใช้วิธีไปล็อคห้องประชุมไม่ให้พวกนี้เข้าได้ ฝ่ายประชาชนเห็นห้องถูกล็อคจึงไปจัดประชุมใหม่ที่สนามเทนนิสข้างๆ
เดือนมิถุนายน 1789 พวกเขาออกปฏิญญาสนามเทนนิส ปฏิญานว่า “ประชาชนจะช่วยกันต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ จะปฏิรูปประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาให้จงได้!”
สมัชชาแห่งชาติได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ผู้นำที่โดดเด่นขึ้นมาคือ มักซีมีเลียง โรแบสปีแยร์ เขามีพื้นฐานเป็นทนายเนิร์ดๆ แต่มีจิตใจรักความเป็นธรรมเป็นอย่างมาก คอยต่อสู้เพื่อประโยชน์สุขของมวลชน ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างมาตลอด จนผู้คนขนานนามเขาว่าเปาบุ้นจิ้น ...เอ้ย "The Incorruptible" ท่านผู้ซื่อตรงเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่อความอยุติธรรม
ภาพแนบ: มักซีมีเลียง โรแบสปีแยร์
ประชาชนในปารีสอินกับการสมัชชาแห่งชาติเป็นอันมาก พอมีข่าวว่าหลุยส์ส่งทหารตำรวจมาล้อมปารีส ก็เกรงว่าจะมาทำลายสมัชชา จึงพากันช่วยปกป้อง
กรกฎาคม 1789 หลุยส์ถูกพวกขุนนางกดดันให้ไล่รัฐมนตรีคลังชื่อ ฌัก แนแกร์ ออก ประชาชนเห็นว่าแนแกร์นี้เป็นขุนนางดีไม่กี่คนที่ต้องการช่วยคนยากจนจริงๆ จึงพากันโกรธแค้นมาก
ตอนนั้นประชาชนทราบว่าในคุกบาสตีย์ มีกระสุนดินดำอยู่ จึงกรูกันถล่มคุกเพื่อเอากระสุนดินดำมาใช้สู้รัฐบาล
นัยสำคัญอีกอย่างคุกบาสตีย์นั้นยังเป็นที่กักขังนักโทษการเมือง (จริงๆ ตอนนั้นเหลือไม่กี่คน) เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจมืดของรัฐบาล การถล่มคุกจึงเป็นการท้าทายรัฐบาลโดยตรง
ภาพแนบ: การถล่มคุกบาสตีย์
...แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่การถล่มคุก ...จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องนี้คือประชาชนที่บ้าคลั่งได้ตัดหัวผู้คุมคุกเอามาเสียบไม้ ชูประจานไปตามท้องถนนด้วยความสนุกสนาน
...และเมื่อสมัชชาแห่งชาติได้ยินเรื่องราวพฤติกรรมที่ป่าเถื่อนนี้พวกเขาก็ตัดสินใจเออออ เป็นการสร้างมาตรฐานว่าความป่าเถื่อนสามารถใช้ได้ในการกำจัดความอยุติธรรม
...เป็นมาตรฐานที่จะได้ย้อนกลับมาทำร้ายทุกๆ คน รวมถึงตัวคนทำ ตัวสมัชชาแห่งชาติ ...จะทำร้ายทุกคนจริงๆ ดังจะกล่าวในตอนต่อๆ ไป
และในวันที่คุกบาสตีย์แตกนั้น หลุยส์อยู่ในวังแวร์ซายที่ห่างจากปารีส 20 กิโลเมตร เขาพึ่งกลับมาจากการท่องเที่ยวล่าสัตว์ บรรยากาศสงบสุขสวยงาม เขาลงไดอารี่วันนั้นว่า "ไม่มีอะไร (หมายถึงจับสัตว์อะไรไม่ได้)" แสดงถึงความเอ้อระเหย เหมือนที่ผ่านมา
สิงหาคม 1789 สมัชชาแห่งชาติได้ออกประกาศ "สิทธิของมนุษย์" พูดถึงมนุษย์ทุกคนควรจะมีสิทธิเสรีภาพ เสมอภาคกัน กลายเป็นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตยเรื่อยมาจนปัจจุบัน (สัญลักษณ์ปีรามิดมีตาข้างบนสุดเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ในหมู่ชาวยุโรป หมายถึงดวงตาของพระเจ้าที่เฝ้ามองคุ้มครองชาวโลก ในที่นี้ไม่ใช่สัญลักษณ์ของอิลลูมินาตินะครับ)
ตอนนั้นความนิยมของกษัตริย์ในหมู่ประชาชนตกต่ำถึงขีดสุด มีภาพล้อหลุยส์ และมารี อังตัวเนตออกมาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะล้อว่ามารีมีชู้เยอะ ส่วนหลุยโง่เง่า ไร้ความสามารถ มีคนมาเข้าด้วยฝ่ายประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งทหารแปรพักตร์
ตุลาคม 1789 เกิดเหตุกลุ่มแม่ค้าตลาดปลาซึ่งปกติไม่ค่อยยุ่งการเมือง อยู่ๆ ก็ตระหนักขึ้นเองว่าพวกตนขาดขนมปังจะเลี้ยงลูกแล้ว จึงบิ้วๆ กัน จนลุกฮือกลายเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ พอกันถือปังตอหั่นปลาเดินขบวน 20 กิโล ไปยังวังแวร์ซายด้วยความโกรธแค้น มีประชาชนและทหารแปรพักตร์ตามไปด้วยมากมาย
นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่มารี อังตัวเนตได้สัมผัสกับประชาชนของตัวเองอย่างใกล้ชิดจริงๆ ตอนนี้คือตอนที่มีเรื่องเล่าว่าเธอกล่าวว่า "มาประท้วงเพราะไม่มีขนมปังกินเหรอ ...ก็กินเค้กสิ" ซึ่งจริงๆ ในประวัติศาสตร์เธอไม่ได้พูดนะครับ
ภาพแนบ: ภาพล้อเลียน มารี อังตัวเนต ซ่อนอาหารในผม
กองทัพมดของบรรดาป้าๆ ขายปลาได้กรูกันเอาปังตอเข้าหั่นทหารเฝ้าวังเป็นสามารถ กดดันจนหลุยส์ต้องขอยอมแพ้ และยอมตอบสนองต่อคำเรียกร้องข้อเดียวของพวกเธอคือ "ไม่อยากให้กษัตริย์อยู่แต่ในแวร์ซาย ให้กลับไปปารีส ไปดูว่าประชาชนเดือดร้อนอย่างไร"
วันนั้นขบวนป้าๆ ได้ล็อคตัวหลุยส์และครอบครัวขึ้นรถม้าไปปารีสอย่างผู้ชนะ พวกเธอชูศีรษะของทหารยามที่พึ่งตัดมา โห่ร้องด้วยความสนุกสนาน เป็นการกดดันกลุ่มราชวงศ์อย่างโหดร้ายที่สุด ...ซึ่งก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะตอนนี้มาตรฐานความเถื่อนถูกเลื่อนขึ้นแล้ว
เหตุการณ์ป้าขายปลานี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส เพราะนับแต่นั้นหลุยส์ก็ไม่ได้กลับแวร์ซายอีก เขาถูกคุมขังในปารีสอย่างนักโทษ ทุกๆ วันจะถูกม๊อบบุกมารังแก บังคับให้เซ็นยินยอมสละสิทธิ์อะไรบางอย่าง อำนาจตกอยู่แก่สมัชชาแห่งชาติแทบจะสมบูรณ์
ภาพแนบ: พระราชวังแวร์ซาย
อนึ่งเรื่องราวต่อจากนี้จะไม่ได้ มีความ "ผู้ดี" อยู่บ้างอย่างนี้อีกแล้ว... จากนี้ปารีสจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นแดนแห่งนรกมิคสัญญี เมื่อผู้คนเริ่มตระหนักว่าพวกเขาสามารถทำอะไรก็ได้ มันจะป่าเถื่อนบ้าคลั่ง น่าหวาดกลัว น่าสะอิดสะเอียนยิ่งกว่านี้อีกหลายเท่า
ภาพแนบ: ครอบครัวราชวงศ์ฝรั่งเศส
แต่ก่อนอื่นจะว่าต่อไปผมขอแนะนำให้ท่านรู้จักกับอุปกรณ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของยุคนี้หรือเครื่องกิโยตินเสียก่อน
เครื่องกิโยตินมีสัณฐานเป็นใบมีดใหญ่สำหรับหั่นศีรษะมนุษย์ มันถูกตั้งชื่อตาม ดร.โฌเซฟ-อินแนซ กิโยแตง ซึ่งแนะนำให้ใช้ เพราะสะดวกรวดเร็ว ไม่ทำให้นักโทษทรมานนัก ต่อมามีการใช้กันบ่อย จนคนเรียกมันว่า "ใบมีดแห่งชาติ" (National Razor) ส่วนใหญ่ใช้ฆ่าพวกเจ้านายและนักบวช ซึ่งเป็นตัวแทนของระบบเก่า
ประเด็นคือชาวปารีสพบแทบจะในทันทีว่ากิโยตินนั้นรวดเร็วเฉียบขาดเกินไป กระทั่งศีรษะที่ถูกตัดนั้นยังไม่ตายสนิท บ่อยครั้งเมื่อเพชรฆาตชูมันขึ้นแสดงแก่ฝูงชน หลายศีรษะกลับยังสามารถแสดงอารมณ์ได้ ...บางศีรษะก็ทำหน้างงงวย ...บางศีรษะก็ทำหน้าเจ็บอาย
...บางศีรษะกรีดร้อง ...โดยที่ไม่มีเสียงหลุดจากปาก เพราะไม่มีกล่องเสียงอีกต่อไปแล้ว...
มีเรื่องเล่าว่ามีการนับเวลาที่ศีรษะสามารถแสดงอารมณ์ก่อนหมดสติ ...ก็นับได้ประมาณ 10 วินาทีเศษ ...ชาวปารีสตอนแรกก็กลัว แต่ต่อมาเริ่มเห็นของเหล่านี้เป็นสิ่งบันเทิง จึงผลัดกันมาดูมาเชียร์มิได้ขาด
แม้จะมีความป่าเถื่อนบ้าง หากในช่วงแรกของการปฏิวัตินั้น มีบรรยากาศแห่งการปรับปรุงสิทธิเสรีภาพเป็นที่น่าชื่นชม โรแบสปีแยร์ผู้นำฝ่ายประชาชนที่มีแบคกราวน์เป็นทนายซึ่งเกลียดชังความอยุติธรรม ได้ผลักดันให้เกิดความดีงามหลายอย่าง เช่นยกเลิกการกดขี่ชาวยิว, เลิกการกดขี่คนดำ, และเลิกทาส สำหรับพวกราชวงศ์นั้นเขาเห็นว่าควรปลดจากอำนาจ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษอย่างโหดร้าย
ภาพแนบ: โรแบสปีแยร์
ตอนนั้นแม้ฝ่ายประชาชนยึดอำนาจได้แล้ว แต่ไม่สมบูรณ์หมด บางจังหวัดที่พวกขุนนางยังมีอำนาจก็พากันกระด้างกระเดื่อง ประชาชนมีความเครียดกังวลจากสถานการณ์ กษัตริย์หลุยที่ 16 และครอบครัวที่ถูกขังในปารีสนั้นถูกม๊อบบุกมารังแกเนืองๆ มีความเดือดร้อนเป็นอันมาก
มีครั้งหนึ่งม๊อบบุกมาบังคับให้หลุยส์ใส่หมวกของฝ่ายปฏิวัติเพื่อล้อเลียน หลุยส์ก็ต้องยอมใส่ด้วยความติ๋ม แต่ในใจนั้นเขาและภรรยาพยายามหาทางเอาตัวรอดอยู่ตลอด
มิถุนายน 1791 หลุยส์จึงตัดสินใจหลบหนีจากปารีสไปขอพึ่งอำนาจฝ่ายนิยมกษัตริย์ที่เหลืออยู่ และกองกำลังต่างชาติให้กลับมากู้ฐานะ
แต่ด้วยความที่เขาโง่เง่าไม่เอาถ่านมาชั่วชีวิต ก็ประเมินผิดว่ามีเฉพาะชาวปารีสที่เกลียดเขา แต่คนต่างจังหวัดยังรักเขาอยู่
พอถึงเวลาต้องเอาจริงหลุยส์ก็ดำเนินแผนต่างๆ ล่าช้า ผิดพลาด มีแอบไปทักทายราษฎรทิ้งร่องรอยไว้มากมาย ในที่สุดเขาและครอบครัวจึงถูกจับได้ที่เมืองวาแรน เพราะมีคนจำได้ว่าหน้าเหมือนภาพในพันธบัตร
ภาพแนบ: หลุยส์ถูกจับ
เหล่าราชวงศ์ถูกคุมตัวกลับมาปารีสอย่างนักโทษ ผู้คนต่างเงียบงันด้วยความตื่นตระหนก ก่อนหน้านั้นหลุยส์ยังถูกมองเป็นแค่คนโง่ที่พอจะเห็นใจประชาชนบ้าง แต่การหลบหนีครั้งนี้ คือการไปขอกำลังต่างชาติมาทำร้ายชาวฝรั่งเศส "...มันคือการทรยศต่อประชาชน ไอ้เลวเอ้ย!"
ตอนนั้นมีอดีตนักวิทยาศาสตร์ชื่อ ฌ็อง-ปอล มารา เจ็บป่วยเป็นโรคผิวหนังต้องนอนแช่อ่างน้ำเป็นประจำ แต่มีความคิดรุนแรงทางการเมือง จึงออกหนังสือพิมพ์ชื่อ "เพื่อนประชาชน (L'Ami du peuple)" ทุกเล่มจะต่อว่าพวกศักดินาอย่างกราดเกรี้ยว ด่าแม้กระทั่งอดีตรัฐมนตรีคลัง ฌัก แนแกร์ ที่จริงๆ แล้วดีกับประชาชน
เขาตั้งข้อสงสัยว่าคนโน้นคนนี้แอบวางแผนร้าย จะฆ่าหมู่ประชาชน ดังนั้นจึงเชียร์ให้ประชาชนออกมาฆ่าล้างพวกมันก่อนเพื่อเป็นการป้องกันตัว
ในสมัยที่เทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่ดี วาจาอันดุเดือดอันร้อนผสมความกาวชวนสะใจนี้ ได้ทำให้มีคนอินตามเป็นจำนวนมาก ผู้คนเริ่มคิดว่าต้องฆ่าล้างโคตรพวกเจ้านายเก่าให้หมดสิ้นเพื่อป้องกันตัวจริงๆ!
ภาพแนบ: ฌ็อง-ปอล มารา
ขณะเดียวกันเหล่าราชวงศ์ในยุโรปเริ่มเห็นว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นภัยคุกคาม เพราะกลัวคนจะเลียนแบบมาปฏิวัติพวกตนด้วย ฝ่ายประชาชนฝรั่งเศสก็หวาดกลัวถูกโค่นล้มการปฏิวัติเช่นกัน จึงประกาศสงครามสู้กับออสเตรีย และปรัสเซีย
ในช่วงแรกนั้นทัพฝรั่งเศสเพลี่ยงพล้ำบ้าง แม่ทัพปรัสเซียชื่อ ชาร์ล วิลเลียม เฟอร์ดินาน ประกาศว่า "หากพวกปฏิวัติทำอันตรายพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะเผาปารีสให้ราบเป็นหน้ากลอง"
ภาพแนบ: สงครามแวร์เดิง ทัพปรัสเซียเป็นฝ่ายชนะยึดได้เมืองชายแดนฝรั่งเศส
ชาวปารีสฟังคำขู่นั้นก็โกรธเป็นอย่างมาก เอาคำประกาศมาเช็ดก้นด้วยความกราดเกรี้ยว!
ภาพแนบ: ภาพล้อเลียน ชาวปารีสเอาคำขู่มาเช็ดก้น
กันยายน 1792 มาราซึ่งเป็นตัวจี๊ดของการปฏิวัติได้ออกมาประกาศให้ผู้คน "ฆ่าล้างศัตรูของประชาชนให้หมด!" เกิดม๊อบบุกเข้าสังหารหมู่ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูกับประชาชน ซึ่งจริงๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก และคนธรรมดาที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง
2
พวกม๊อบกระทำการชั่วช้าป่าเถื่อนมากมาย จับบาทหลวงมาผ่าท้องลากไส้ ข่มขืนผู้หญิงแล้วตัดหัว นำอวัยวะของเหยื่อกว่าพันคนมาแห่ประจาน ร้องรำทำเพลงด้วยความสะใจประดุจสัตว์
ความนี้โด่งดังไปทั่วยุโรป ประชาชนต่างชาติจากที่เคยอึนๆ ว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสดีไหม ก็ตั้งข้อสงสัยว่า "...นี่หรือการตื่นรู้ของประชาชน? ...นี่หรือสิทธิความเท่าเทียมกันของมนุษย์อย่างที่เขากล่าวอ้าง?" ปรากฏภาพลักษณ์ของการปฏิวัติแย่ลงมาก
4
ภาพแนบ: ภาพล้อเลียนฝ่ายปฏิวัติฝรั่งเศส
เดือนเดียวกันรัฐบาลฝ่ายปฏิวัติได้โหวตให้ล้มล้างราชวงศ์ ต่อไปพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะไม่ใช่กษัตริย์อีกต่อไปแล้ว แต่จะเป็น ซีโตย็อง หลุยส์ กาเป (Citizen Louis Capet)
ฝรั่งเศสเปลี่ยนจากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐซึ่งประชาชนปกครองตนเองเป็นครั้งแรก มีการก่อตั้งสภากงว็องซียงแห่งชาติ (Convention nationale) เป็นคณะปกครอง
ภาพแนบ: ซีโตย็อง หลุยส์ กาเป
ต่อมาใน มกราคม 1793 พวกรัฐบาลก็ตัดสินประหารหลุยส์เสีย เขารักษาขัตติยะมานะเป็นครั้งสุดท้ายโดยร่ำลาลูกเมียอย่างเข้มแข็ง ก่อนจะเดินทางสู่แท่นประหารด้วยความสงบ รัฐบาลจัดรถม้าปิดพาหลุยส์ไปลานประหารโดยมิให้ต้องรับผลกระทบจากม๊อบที่คอยก่นด่าตลอดทางเกินไป
ณ ตะแลงแกง หลุยส์ได้พยายามกล่าวสุนทรพจน์ เขาพูดประมาณว่า "ข้าพเจ้าตายอย่างผู้บริสุทธิ์ ข้าพเจ้ายกโทษให้ผู้สังหารตัวข้า และยินดีตายเพื่อความสุขของประชาชน อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าขอสวดมนต์อ้อนวอนไม่ให้ประเทศฝรั่งเศสถูกพระเจ้าลงโทษจากสิ่งนี้"
สุนทรพจน์ดังกล่าวมีคนฟังออกมาได้หลายเวอร์ชัน ทุกคนฟังไม่ชัด เพราะมันถูกเหล่าทหารตีกลองกลบเพื่อป้องกันไม่ให้คนได้ยิน
1
จากนั้นเพชรฆาตจึงจับหลุยส์ไปตัดหัว
ตอนนั้นฝรั่งเศสเกิดความวุ่นวาย พวกกลุ่มนิยมเจ้าก่อการขึ้นทั่วไป ภาวะข้าวยากหมากแพงก็ทำให้ชาวบ้านธรรมดาออกมาประท้วงเพราะอดอยาก สำหรับคณะรัฐบาลนั้นเคยแบ่งเป็นกลุ่มจิรองแดงซึ่งเป็นกลางซ้าย กับกลุ่มมองตาญซึ่งเป็นซ้ายจัด
ปรากฏว่ากลุ่มจิรองแดงถูกมองว่าหัวรุนแรงไม่มากพอ ถือว่าน่าสงสัย อาจเป็นการผู้ทรยศต่อประชาชน จึงถูกกำจัดไปด้วย ทำให้คณะรัฐบาลเหลือแต่พวกพีคๆ
กรกฎาคม 1793 มีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ ชาร์ล็อต กอร์แด เป็นประชาชนที่สนับสนุนการปฏิวัติ และชอบกลุ่มจิรองแดง ต่อมาเธอเกิดตระหนักว่าความวุ่นวายทั้งหมดมาจากมาราจอมกาวค่อยปั่นหัวประชาชนนั่นแหละ เธอจึงมาหาเขา อ้างว่านำข้อมูลของพวกจิรองแดงหลบหนีมาให้ จากนั้นเอามีดทำครัวแทงเขาตาย
กอร์แดเดินเข้าสู่เครื่องกิโยตินด้วยความกล้าหาญ เธอคิดว่าความรุนแรงในฝรั่งเศสจะจบไปพร้อมกับวีรกรรมของเธอ
ภาพแนบ: ชาร์ล็อต กอร์แด
หารู้ไม่ว่าประชาชนมากมายซึ่งเป็นแฟนหนังสือผู้บ้าคลั่งของมาราได้ถือเหตุการณ์นี้เปรียบมาราเสมือนนักบุญ ...เหมือนมรณสักขี ...เหมือน "การเสียสละของพระเยซู" ที่พลีชีพเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์
ตอนนั้นศาสนาคริสต์ในฝรั่งเศสถูกกำจัดไปมาก ผู้คนจึงสร้าง "ลัทธิบูชามารา" ขึ้นมายึดเหนี่ยวจิตใจแทน มีการเอารูปเขานอนในอ่างน้ำไปตั้งบนแท่นบูชาแทนกางเขนพระเยซู มีการวาดรูปเขานอนตายในลักษณะคล้ายรูปปิเอตา (รูปพระแม่มารีกอดศพพระเยซูที่มีชื่อเสียง แกะโดยไมเคิลแองเจลโล) พวกที่บูชามาราก็จะใช้ความรุนแรงตามแนวทางศาสดานั่นเอง
ภาพแนบ: มาราตาย
จริงๆ หลังรัฐบาลทำลายอำนาจของศาสนาคริสต์ ได้มีคนตั้งลัทธิใหม่ขึ้นหลายลัทธิ ส่วนใหญ่จะบูชานามธรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ เช่นมีลัทธิบูชาเสรีภาพ, ลัทธิบูชาธรรมชาติ, แต่ที่นิยมมากที่สุดคือ “ลัทธิบูชาเหตุผล” (Cult of Reason)
ชาวลัทธิดังกล่าวได้ไล่ทำลายแท่นสักการะพระเยซูในโบสถ์ทั่วประเทศ แล้วแทนที่ด้วย “แท่นบูชาแห่งเหตุผล”, เปลี่ยนโบสถ์คริสต์เป็น “วิหารแห่งเหตุผล”, ถอนกางเขนออกจากสุสาน อนุญาตให้เขียนป้ายสุสานแค่ว่า “ความตายคือการนอนหลับตลอดกาล”, และมีคำขวัญว่า “พระเจ้ามีองค์เดียว นั่นคือประชาชน”
1
ลัทธิบูชาเหตุผลได้สร้างพิธีกรรมของตนขึ้น ให้ผู้หญิงสวยงามมาแต่งตัวแบบโรมัน ยกเป็นตัวแทน “เทพีแห่งเหตุผล” แล้วให้มีหมู่ผู้หญิงสวมผ้าสามสีคอยบูชา (ผ้าสามสีมาจากธงสามสีแดงขาวน้ำเงินของฝรั่งเศสที่ฝ่ายปฏิวัติสร้างขึ้นตอนนั้นและถูกใช้มาจนปัจจุบัน) ทั้งหมดจะช่วยกันจุดไฟแห่งเหตุผลขึ้นให้ประจักษ์
เทศกาลแห่งเหตุผลที่มีชื่อเสียงนั้นถูกจัดในโบสถ์นอเทรอดามของปารีสนั่นเอง
ภาพแนบ: พิธีกรรมของลัทธิบูชาเหตุผล
เพื่อกำจัดของโบราณให้สิ้น รัฐบาลยังได้เปลี่ยนปฏิทิน โดยให้เริ่มศักราชใหม่ของตัวเอง นับการปฏิวัติสำเร็จเป็นปีเริ่มศักราช
พวกเขาเปลี่ยนชื่อเดือนทั้งสิบสองไปตามเหตุธรรมชาติ เช่นเดือนแห่งหมอก เดือนแห่งฝน เดือนแห่งหิมะ เดือนแห่งดอกไม้ เดือนแห่งการเก็บเกี่ยว
นอกจากนั้นยังให้เดือนหนึ่งมีสามอาทิตย์ อาทิตย์ละสิบวัน เพื่อให้ไม่มีวันอาทิตย์เข้าโบสถ์สำหรับคนที่ยังอินกับศาสนาคริสต์อีก
พวกเขาปรับให้วันหนึ่งมี 10 ชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงมี 100 นาที และ 1 นาทีมี 100 วินาที นี่ทำให้ชั่วโมงใหม่ยาวราว 144 นาทีเก่า
ปฏิทินใหม่นี้ทำให้ชาวฝรั่งเศสงงพอควร
ภาพแนบ: ปฏิทินสาธารณรัฐ
มีคนต่อต้านกฎระเบียบแปลกๆ พวกนี้เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีกลุ่มโปรการปฏิวัติเรียกตัวเองว่ากลุ่มซานคูลอต หรือพวกไม่สวมกางเกงคูลอตเข้าทำลายพวกต่อต้านเช่นกัน (กางเกงคูลอตประมาณกางเกงขี่ม้าทุกวันนี้ เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง)
ตอนนั้นเกิดม๊อบชนม๊อบ เกิดความวุ่นวายทั้งภายนอกภายใน มีการสังหารหมู่อยู่เสมอ
ภาพแนบ: กองกำลังซานคูลอต จะออกนักเลงๆ หน่อย
เหตุการณ์รุนแรงขึ้น ทำให้โรแบสปีแยร์ "ผู้ซื่อตรง" ตัดสินใจว่าจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อรักษาการปฏิวัติของเขา ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจใช้ “ความกลัว” ขึ้นสร้างระเบียบในสังคม
ระบบ “ความกลัว” ของโรแบสปีแยร์จะออกมาประมาณการล่าแม่มด คือกดขี่ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติให้กลัวตายกันที่สุด เปิดให้สามารถตั้งข้อสงสัยคนเป็นฝ่ายต่อต้านด้วยข้อหาเล็กน้อยที่สุด เช่น สมมุติผมไม่ชอบเพื่อนบ้าน ผมเห็นเพื่อนบ้านเรียกเพื่อนว่าเมอร์ซิเออร์สมชาย >> ผมถือคำว่าเมอร์ซิเออร์ (หรือมิสเตอร์ในภาษาอังกฤษ) เป็นคำนำหน้าชื่อที่เอ้าท์แล้ว ยุคปฏิวัติต้องเรียกคำนำหน้ากันว่า ซีโตย็อง (Citizen) เท่านั้น ผมก็แจ้งจับเพื่อนบ้านข้อหาสงสัยว่าสมคบคิดได้
มีคนที่ถูกจับโดยข้อสงสัยง่ายๆ ประมาณบ่นว่าขนมปังแพง (แปลว่าบ่นรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี) ถูกจับมารวมราวๆ สามแสนคน รัฐบาลก็ตัดสินง่ายๆ จนมีคนถูกจับเข้ากิโยตินนับหมื่น ตายในคุกอีกนับหมื่น ไม่รวมที่ถูกม๊อบฆ่ากันเอง
การประหารเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ผู้คนเห็นมันเป็นงานรื่นเริง พากันมาชุมนุมร้องเพลงดูคนถูกตัดหัวด้วยความสนุกสนาน
เหตุใดโรแบสปีแยร์ “ผู้ซื่อตรง” ซึ่งพยายามปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมถึงต่อต้านโทษประหารมาก่อนถึงค่อยๆ เปลี่ยนไปโหดร้ายเช่นนี้ได้? นั่นคงเพราะเขาเคร่งเครียดจากการปกป้องการปฏิวัติมิให้สิ้นสูญ จึงยอมเป็นคนโหด จัดระเบียบสังคมอย่างเด็ดขาด
และแล้วเวลาก็ผ่านไปจน ตุลาคม 1793 หรือวันพิจารณาคดีของอดีตราชินีมารี อังตัวเนต มารีในตอนนั้นไม่มีทรงผมประหลาดอีกต่อไปแล้ว เธอซูบผอมอย่างยิ่ง ทั้งเจ็บช้ำหวาดกลัวจนผมหงอกขาวทั้งศีรษะ สภาพซีดเซียวเหมือนซากศพเดินได้ พอเธอปรากฏตัวในที่สาธารณะอีกครั้ง ทุกคนต่างก็ตกตะลึงในสภาพอันน่ากลัวดังกล่าว
สิ่งที่มารีกลัวที่สุดคือการพรากจากลูกของเธอ เพราะเธอกลัวว่าพวกเด็กๆ จะถูกรังแกด้วยฐานะเก่า แต่พวกปฏิวัติก็เอาลูกน้อยของเธอไป และทำให้สิ่งที่เธอกลัวเกิดขึ้นในภายหลังจริงๆ เมื่ออดีตเจ้าชายหลุยส์ชาร์ลส์ถูกกักขังทำร้ายเหมือนสัตว์ และตายเมื่ออายุสิบขวบ
ภาพแนบ: หลุยส์ ชาร์ลส์
วันนั้นมารี อังตัวเนตนั่งฟังข้อกล่าวหามากมายอย่างสงบ คล้ายยอมรับชะตากรรม กระทั่งฝ่ายปฏิวัติได้กล่าวหาเธอว่า “มีความผิดสมสู่กับลูกตนเอง” จุดนั้นแหละทำให้มารีทนไม่ได้ เธอลุกขึ้นมาร้องว่า “พวกท่านคิดข้อหาแบบนี้มาได้อย่างไร? เราขอประท้วงต่อมารดาทุกคนที่นั่งในห้องนี้... พวกท่านยังมีความเป็นคนอีกหรือไม่?” ทุกคนฟังแล้วก็นั่งอึ้ง พวกเขาพอตระหนักว่าได้บีบคั้นรังแกผู้หญิงคนหนึ่งมากเกินไปแล้ว
กระนั้นการประหารมารีก็ต้องดำเนินต่อไป รัฐบาลจัดเกวียนเปิดให้มารีนั่งไปตะแลงแกง สิ่งนี้เลวร้ายกว่ารถม้าปิดที่พระเจ้าหลุยส์สามีของเธอใช้ เพราะมันทำให้เธอต้องทนกับเสียงโห่เยาะเย้ยของผู้คนไปตลอดทาง
คำพูดสุดท้ายของมารีคือ “ขอโทษ ฉันไม่ได้ตั้งใจ” เกิดเมื่อเธอเผลอเหยียบเท้าเพชรฆาต จากนั้นมารีที่ตัวซีดขาวหมดอาลัยตายอยากก็ถูกตัดหัวตายไปอย่างเรียบๆ
...นอกจากที่เราทราบว่าเธอขึ้นเป็นราชินีตั้งแต่ยังเด็กมาก และเป็นคนชอบแต่งตัวหรูหราแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานอะไรบอกว่าเธอเป็นคนชั่วร้ายอย่างที่ถูกกล่าวหาอีก...
กระนั้นสถานการณ์โดยรวมของฝรั่งเศสก็ไม่ได้แย่เกินไป ตรงข้ามมันกลับดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะในกองทัพปฏิวัติได้เกิดนายพลหนุ่มรูปงามชื่อ นโปเลียน โบนาบาร์ต เขามีอัจฉริยะภาพทางทหารอย่างมาก รบกับใครก็มักชนะอย่างสวยงาม สามารถขึ้นเป็นนายพลตั้งแต่อายุเพียง 24 ปี ทำการสยบม๊อบภายใน พิชิตภัยคุกคามภายนอกจนแผ่นดินมั่นคง กลายเป็นวีรบุรุษที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ภาพแนบ: นโปเลียน โบนาบาร์ต
มีเพื่อนร่วมก่อการถามโรแบสปีแยร์ว่าตอนนี้ประเทศก็มั่นคงขึ้นเยอะแล้ว สมควรยุติการปกครองด้วยความหวาดกลัว แล้วปล่อยให้ผู้คนมีอิสระมากขึ้นได้หรือยัง
โรแบสปีแยร์ซึ่งตอนนั้นถูกสิ่งต่างๆ บีบคั้นจนเปลี่ยนไปอย่างมากกลับเชื่อว่าเพื่อนเขาอาจคิดทรยศ จึงจับกลุ่มเพื่อนที่ร่วมปฏิวัติมาด้วยกันสังหารอย่างเลือดเย็น ข้อหาเสนอให้ยกเลิกการปกครองด้วยความกลัว
จากนั้นโรแบสปีแยร์ก็ประกาศตั้งศาสนาใหม่ชื่อว่า “ลัทธิแห่งสิ่งมีชีวิตสูงสุด” (cult of supreme being) ให้ขึ้นมาแทนลัทธิบูชาเหตุผล เขาเชื่อว่าอย่างไรคนเราต้องการพระเจ้าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ ดังนั้นเมื่อล้มพระเจ้าของคริสต์ลงแล้วก็ชอบที่จะสร้างพระเจ้าขึ้นมาอีกเวอร์ชันหนึ่งไว้ควบคุมคน
สัญลักษณ์ของสิ่งสูงสุดเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ประมาณนี้ครับ
ตอนนั้นโรแบสปีแยร์เกณฑ์คนมาที่ภูเขาจำลองนอกเมือง ตัวเขายืนบนภูเขาประกาศหลักเกณฑ์ของลัทธิสิ่งมีชีวิตสูงสุด และประกาศตัวเป็นผู้นำลัทธิ คนบอกว่าเขาทำตนเหมือนพระเจ้ามากขึ้นทุกที
นับวันโรแบสปีแยร์ยิ่งบ้าอำนาจประสาทกิน วันหนึ่งเขาถือใบรายชื่อแผ่นหนึ่งมาประชุมสภา บอกว่านี่คือลิสต์ชื่อผู้ทรยศ ซึ่งหลายๆ คนก็นั่งอยู่ในสภานี่แหละ ...พวกแกเตรียมตัวตายได้ ...จากนั้นการประชุมก็ยุติโดยเขาไม่ยอมเอาใบนี้ให้ใครดู
ชาวสภาเห็นว่าโรแบสปีแยร์อยากฆ่าใครก็ยัดข้อหาง่ายๆ เคยฆ่าเพื่อนฆ่าฝูงมามากแล้ว มีจิตใจบ้าบอเกินไป จึงรวมกันโหวตไล่เขาแล้วจะจับฆ่า โรแบสปีแยร์พยายามหลบหนี จนตอนใกล้ๆ ถูกจับนั้นเขาได้เอาปืนยิงตัวเองเป็นความพยายามฆ่าตัวตาย
1
เสียดายเหตุการณ์ฉุกละหุก ทำให้โรแบสปีแยร์ยิงไม่แม่น เขายิงโดนกรามตัวเองแหลกเหลวแต่ยังไม่ตาย ถูกจับมัดทั้งเลือดโชก ต้องถูกผู้คนหัวเราะล้อเลียนขณะที่เขาไม่มีปากจะตอบโต้อีกแล้ว
1
ภาพแนบ: ภาพวาดโรแบสปีแยร์บาดเจ็บ
กรกฎาคม 1794 โรแบสปีแยร์ถูกตัดสินประหารขณะกำลังเจ็บปวดทรมานจากกรามแหลก วันประหารนั้นเขาถูกจัดให้นั่งบนเกวียนเปิด ต้องทนฟังฝูงชนโห่ร้องเยาะเย้ยจนถึงตะแลงแกงในลักษณะเดียวกับมารี อังตัวเนตทุกประการ
...การตายของเขาเป็นการยุติยุคแห่งความหวาดกลัว
นักประวัติศาสตร์หลายคนให้การปฏิวัติฝรั่งเศสจบที่การตายของโรแบสปิแยร์
แต่นักประวัติศาสตร์กระแสหลักยังนับเหตุการณ์ต่อจากนั้นอีก คือหลังจากนั้นชาวฝรั่งเศสยังต่อสู้กันต่อไป มีการเข่นฆ่าชิงอำนาจหลายครั้ง กระทั่งปี 1799 นโปเลียนซึ่งเป็นวีรบุรุษของชาติก็มายึดอำนาจตั้งตัวเป็นใหญ่ เป็นการยุติการปฏิวัติฝรั่งเศสตามกระแสหลัก
ในที่สุดนโปเลียนกลับตั้งตัวเป็นสิ่งที่เหนือกว่ากษัตริย์ คือเป็นจักรพรรดิ
2
เขาตั้งราชวงศ์ใหม่ของตนเอง ให้คนกลับมานับถือคริสต์ ใช้ปฏิทินแบบเดิม หลังจากนั้นฝรั่งเศสยังมีการเปลี่ยนไปมาระหว่างระบบกษัตริย์กับระบบสาธารณรัฐอีกหลายครั้ง กระทั่งประเทศกลายเป็นสาธารณรัฐโดยสมบูรณ์ในปัจจุบัน
การปฏิวัติฝรั่งเศสแม้มีความบิดเบี้ยวมากมาย แต่ก็เป็นหลักชัยสำคัญของมนุษย์ในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น
...พวกเราทุกคนล้วนได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ ควรที่จะเรียนรู้การพัฒนาสู่ความเท่าเทียม พร้อมทั้งเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุเลวร้ายขึ้นอีกจนทำให้เป้าหมายอันบริสุทธิ์นั้นเสื่อมไป
1
ภาพแนบ: จักรพรรดินโปเลียน
:: ::: :::
สนใจอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตาม เพจ The Wild Chronicles ได้เลยนะครับ https://facebook.com/pongsorn.bhumiwat
กรุ๊ปประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ https://www.facebook.com/groups/thewildchronicles/
กรุ๊ปท่องเที่ยว เที่ยวโหดเหมือนโกรธบ้าน https://www.facebook.com/groups/wildchroniclestravel/

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา