13 ธ.ค. 2020 เวลา 06:37
Future is Now :
The Truman Show โลกของผม...คือ...โลกของคุณ
สวัสดีครับ ผมชื่อทรูแมน เบอร์แบงค์ครับ
ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมคิดมาผมเป็นคนที่โชคดีมาก มีชีวิตที่มีความสุข มีการงานที่มั่นคง มีบ้าน มีภรรยาที่แสนดี
กระทั่งวันหนึ่ง...ดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าก็ตกลงมากลายเป็นไฟสปอตไลท์ต่อหน้าของผม ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับคุณ คุณคิดว่ามันเป็นเรื่องมหัศจรรย์จากพระเจ้าหรือเป็นสิ่งผิดปกติที่ต้องหาทางรู้ว่าคืออะไร
สำหรับผมสิ่งแปลกประหลาดเหลือเชื่อนี้ทำให้ผมเริ่มสงสัยว่าโลกของผมมีอะไรกันแน่ จนผมได้รู้ความจริงว่าชีวิตของผมถูกกำหนดโดยคนกลุ่มหนึ่งตั้งแต่ผมเกิด สิ่งต่างๆ รอบตัวของผม วิถีชีวิตของผม เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผมดำเนินชีวิตไปตามที่เขากำหนด
Credit : The Truman Show
เมื่อผมทราบว่าโลกที่ผมเคยดำเนินชีวิตอยู่เป็นโลกสมมุติที่ถูกสร้างขึ้น ผมก็หาทางออกไปสู่โลกความจริง แม้ชีวิตของผมต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แต่ผมก็มีความสุขใจมากกว่าการต้องใช้ชีวิตที่มีคนกำหนดแบบนี้
เอาล่ะครับ...พวกคุณจะรู้จักผมแล้วนะครับ ผมก็อยากบอกพวกคุณบ้างครับว่า ผมก็รู้จักพวกคุณดีเช่นกันครับ......
คุณก็คือ ทรูแมน อีกคนและคุณอยู่ในโลกสมมุติคล้ายกับที่ผมเคยอยู่นั่นแหละครับ....
ใน Blockdit มีใครทันได้ดู The Truman Show ภาพยนตร์เรียลลิตี้โชว์ตลกดราม่า ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 1998 หรือเปล่าครับ สำหรับคนที่ไม่เคยดู ตัวเอกของเรื่องคือ ทรูแมน เบอร์แบงค์ มีชีวิตเป็นตัวละครตัวหนึ่งในรายการเรียลลิตี้ที่ชื่อ Truman Show ใครที่ชอบดูรายการเรียลลิตี้ที่สอดส่องชีวิตอย่าง AF หรือ The Star ในอดีต ก็เป็นทำนองเดียวกัน เพียงแต่ผู้เข้าร่วมรายการ AF และ The Star รู้ว่าตัวเองถูกสอดส่องผ่านรายการ ในขณะที่ทรูแมน ไม่รู้เลยว่าชีวิตของเขา คือตัวละครในโลกสมมุติที่มีผู้ชมมาตลอดเวลา และมีคนที่คอยกำกับชีวิตของเขาให้เป็นไปตามบทและโครงของละครชีวิตเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของรายการ
🔘 คุณคิดว่าชีวิตของเราใครเป็นคนกำหนด?
เคยสงสัยหรือเปล่าครับ ว่าทำไมเราต้องทำตามสิ่งนี้ สิ่งนั้นแทบจะตลอดเวลา ตอนเป็นเด็ก พออายุถึงเกณฑ์พ่อแม่ก็พาเราไปเข้าเรียน เราต้องเรียนจบตามเกณฑ์ขั้นต่ำเป็นอย่างน้อย จากนั้น..ถ้ายังอยากเรียนต่อก็ต้องแข่งกันเข้าโรงเรียนระดับมัธยม และต้องแข่งกันเข้ามหาวิทยาลัย
ช่วงที่เรียนก็ต้องแข่งกันเรียน..แข่งกันเอาเกรด บางคนถึงกับต้องไปเรียนกวดวิชา และพอเรียนจบออกมา..เรากลับพบว่าชีวิตการทำงานเปลี่ยนไปอีกแบบ การเก่งเรียนไม่ได้หมายความว่าจะเก่งในการทำงาน และถึงจะเก่งทำงานก็ไม่ได้หมายความถึงโอกาสด้านรายได้หรือความก้าวหน้าที่ดี และชีวิตการทำงานก็ถูกห่อหุ้มไปด้วยกรอบระเบียบและการประเมินต่างๆ
Credit : Unsplash.com
หลายวันที่ผ่านมาผมได้ฟังรายการวิทยุคนละรายการที่ให้บังเอิญว่าแขกรับเชิญที่เข้ามาสนทนาพูดในเรื่องคล้ายๆ กัน รายการแรกบอกว่าหากเรามีรายได้ไม่ถึงเดือนละ สามหมื่นบาท เราคงมีเงินไม่พอสำหรับการใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตปัจจุบัน เพราะรายจ่ายต่างๆ มีมากมาย ในขณะที่อีกรายการหนึ่งแขกรับเชิญเล่าถึงตัวเองว่าทำงานหนักมากแต่เงินก็ไม่พอใช้เพราะมีรายได้ในรูปเงินเดือนที่เป็นรายได้แบบจำกัด ทำให้ต้องหาอาชีพเสริมด้วยการเขียนหนังสือ ทำให้ต้องทำงานตลอดเวลาเพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายที่มี (ซึ่งรวมถึงรายจ่ายด้านหนี้สินด้วย)
แม้โลกยุคใหม่เป็นโลกที่เปิดทางเลือกให้กับชีวิตมากขึ้น โอกาสในการหารายได้จึงไม่ได้ยึดโยงกับการทำงานประจำหรือการทำธุรกิจเท่านั้น ทางเดินและทางเลือกของคนรุ่นใหม่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น อยู่ที่ใครจะพร้อมและเลือกเดินไปตามเส้นทางใหม่ๆ แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะมีเงินเหลือไว้เก็บ เพราะเราถูกสอนให้ใช้เงินเพื่อสนองความต้องการต่างๆ
ชีวิตของคนปัจจุบันถูกครอบด้วยแนวคิดของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (INDUSTRIAL REVOLUTION) ที่เปลี่ยนระบบการผลิตภายในครอบครัวหรือชุมชน เป็นการรับจ้างผลิต การผลิตเพื่อขาย การขายแรงงานเพื่อการผลิต จนเป็นการผลิตในระบบโรงงาน (FACTORY SYSTEM) เราถูกหล่อหลอมจากแม่แบบที่เป็นการขายแรงงานในรูปแบบต่างๆ และระบบเศรษฐกิจต้องขับเคลื่อนด้วยการบริโภคเพื่อเปลี่ยนกำลังซื้อสู่การผลิตและการจ้างงานวนเวียนห้ามหยุดหรือชะลอ เงินเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการใช้ชีวิต และเป็นตัวขับเคลื่อนวงจรเศรษฐกิจ
เมื่อวิถีชีวิตของคนถูกชะลอด้วยวิกฤติการไวรัสโควิด-19 ทำให้วงจรเศรษฐกิจหมุนช้าลง และระบบเศรษฐกิจต้องปรับตัวเพื่อหาความสมดุลย์ใหม่ หรือ New Normal ซึ่งอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บทบาทของพวกเราที่ถูกสร้างให้ใช้ชีวิตในระบบเศรษฐกิจแบบเดิม หากไม่ปรับตัวก็ต้องถูกทิ้งไปจากระบบกลายเป็นคนที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ
สมดุลย์ใหม่ทางเศรษฐกิจ เครื่องจักรเศรษฐกิจเดิมที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ อาจถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรเศรษฐกิจเครื่องใหม่ ภาพเศรษฐกิจเดิมที่เคยเติบโตอาจไม่ได้มีความสำคัญอีกต่อไป หากย้อนกลับไปดูเครื่องจักรเศรษฐกิจของเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราถูกขับเคลื่อนด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่เปลี่ยนยุคเศรษฐกิจการเกษตรในอดีต เป็นยุคเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม จนเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน
แต่ละยุคที่เปลี่ยนแปลงไป คนในฐานะของหน่วยเศรษฐกิจที่เล็กที่สุดคือผู้ที่ถูกกระตุ้นให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่หมุนเร็วขึ้นๆๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราจึงไม่เคยมีเงินเหลือ หรือมีหนี้สินมากมาย แม้แต่คนที่อยู่ในภาคการเกษตรที่กลายเป็นการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ก็ต้องมีต้นทุนจากค่าปุ๋ย เคมีภัณฑ์การเกษตร ที่เป็นรายจ่ายและภาระหนักจนที่ทำให้ไม่มีเงินเหลือเช่นกัน
Credit : Unsplash.com
ตอนท้ายของ The Truman Show ทรูแมนเลือกที่จะเดินออกจากโลกสมมุติที่เคยเป็น Comfort Zone ไปเผชิญกับโลกจริงภายนอก แล้วเราล่ะจะยังเลือกอยู่ใน Comfort Zone นี้ต่อไปหรือเปล่า?
หากคำตอบคือ เราเลือกที่จะอยู่ใน Comfort Zone ต่อไป ทางเลือกของเราก็คือ การหาเงินให้มากขึ้น เพื่อให้มีเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น อนาคตที่มองเห็นได้ก็คืออนาคตแบบที่พูดในรายการวิทยุทั้งสองรายการ
แต่หากคำตอบคือ เลือกที่จะออกจาก Comfort Zone ช่วงแรกเราก็ยังคงต้องหาเงินให้ได้มากขึ้นเช่นกัน แต่ Comfort Zone ส่วนที่เราก้าวออกมาก่อนก็คือ ส่วนของรายจ่าย รายจ่ายที่เคยสร้างความสะดวกสบาย สร้างความพึงพอใจ สร้างการเป็นที่ยอมรับ และรายจ่ายที่เกินตัวต่างๆ คือส่วนที่คุณต้องลดละเลิกเป็นสิ่งแรก ลองหยิบกระดาษมาเขียนรายจ่ายต่างๆ เหล่านี้และจำนวนเงินที่เราใช้จ่ายดูครับว่าเป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน และหากลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลง เราจะมีเงินเหลือเพิ่มขึ้นเท่าไหร่
แน่นอนครับว่า เราจะรู้สึกว่าเราไม่ได้ใช้ชีวิตดีๆ เหมือนหรือเท่าเทียมกับคนรอบตัว แต่การควบคุมค่าใช้จ่ายจะช่วยให้เรามีเงินเหลือที่แน่นอน วิธีการที่เรารู้จักกันดีคือ การออมก่อนใช้ ไม่ว่าเราจะออมได้มากหรือออมได้น้อย ขอให้เราออมไว้ก่อน ส่วนที่เหลือค่อนนำไปใช้ เมื่อเราคุ้นชินแล้ว ก็ค่อยๆ เพิ่มการออมจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและเงินที่เหลือมากขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งคุณจะมีสมดุลย์ระหว่างเงินที่มีให้ใช้กับเงินที่ใช้
Credit : The Truman Show
การก้าวออกจาก Comfort Zone หรือโลกสมมุติที่คุณคุ้นเคย คุณอาจยังไม่รู้ว่าอนาคตของคุณจะเป็นอย่างไรแต่คุณสามารถตั้งเป้าหมายของอนาคตได้
การเลือกอยู่หรือออกจาก Comfort Zone แผนการเงินสำหรับการเลือกอยู่หรือเลือกออกจาก Comfort Zone ด้านรายจ่าย สิ่งที่สำคัญกว่าแผนการใช้จ่ายก็คือการที่เราจะทำหรือไม่ทำตามแผนนั้น
โลกจริงในยุคต่อไปหลังจากนี้ เรารู้ดีว่าคือโลกแบบ New Normal ที่เราคงไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนเดิมอีกต่อไป ถือเป็นโอกาสดีสำหรับการตัดสินใจก้าวออกจาก Comfort Zone เพื่อสร้างอิสรภาพให้กับตัวเองในอนาคตของเรากันเถอะ
หากคุณอยากอยู่ใน Comfort Zone ก็เลือกให้อนาคตของคุณถูกกำหนดต่อไป
อนาคตของคุณ คุณควรเป็นผู้กำหนด หากคุณเลือกก้าวออกมา ขอให้คุณประสบความสำเร็จในการก้าวออกจากโลกที่คุณถูกกำหนดครับ
Credit : The Truman Show
ขอขอบคุณภาพยนตร์ The Truman Show ชีวิตมหัศจรรย์ ทรูแมน โชว์
โฆษณา