28 ต.ค. 2020 เวลา 09:27 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ธปท.ขาดทุนสะสมกว่า 1 ล้านล้าน เป็นเรื่องใหญ่แค่ไหน เราต้องกังวลหรือเปล่า?
ไขข้อข้องใจ เมื่อ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ขาดทุนสะสมกว่า 1 ล้านล้านบาท หนี้ที่เกิดขึ้นมาจากไหน? เราต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร?
1
ธปท.ขาดทุนสะสมกว่า 1 ล้านล้าน เป็นเรื่องใหญ่แค่ไหน เราต้องกังวลหรือเปล่า?
จากข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนเกี่ยวกับรายงาน "ฐานะการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย" ล่าสุด ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ซึ่งปรากฏผล ขาดทุนสะสมกว่า 1 ล้านล้านบาท หรือถ้าจะเอาตัวเลขแบบเป๊ะๆ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยขาดทุนสะสมอยู่ 1,069,366,246,596 บาท นั้น
เชื่อว่า หลายคนคงตกใจ เมื่อเห็นว่า "ธนาคารแห่งประเทศไทย" ซึ่งเป็น ธนาคารกลาง ของประเทศแสดงงบการเงินที่ขาดทุนมหาศาลขนาดนี้
..แต่อย่าเพิ่งตระหนกตกใจจนเกินไป จนกว่า คุณจะเข้าใจเรื่อง “งบการเงิน” และพันธกิจของหน่วยงานอย่าง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เสียก่อน
เรื่องหนึ่งที่ทุกๆ คนควรทราบ คือ งบการเงินของหน่วยงานอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากงบการเงินของบริษัทเอกชนทั่วไป โดยจากบทความหัวข้อ ​พันธกิจและงบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อธิบายไว้อย่างละเอียด และ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ขอสรุปเฉพาะใจความสำคัญมาให้อ่านกัน
4 ลักษณะพิเศษของ “งบการเงิน” ของธนาคารกลาง
เมื่อเข้าใจถึงพันธกิจหลักในการดำเนินงานซึ่งผูกพันส่งผลต่องบการเงินของ ธปท. แล้ว เรื่องถัดมาที่ควรทราบ ก็คือ งบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย มี "ลักษณะพิเศษ" ไม่เหมือนงบการเงินของบริษัทเอกชนทั่วไป ดังนี้
1) สินทรัพย์และหนี้สิน ไม่ใช่สกุลเงินเดียวกัน งบการเงินของธนาคารกลางมีลักษณะพิเศษที่สินทรัพย์และหนี้สิน “ต่างสกุลเงิน” กัน ทำให้ทุกสิ้นปีต้องมีการตีราคาสินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศให้อยู่ในรูปเงินบาท ซึ่ง “อัตราแลกเปลี่ยน” จะมีผลต่อตัวเลขในงบการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ ตัวเลขกำไรหรือขาดทุนที่ปรากฏในงบการเงินส่วนใหญ่จึงเป็น "กำไรหรือขาดทุนที่เป็นผลจากการตีราคา" หรือเรียกว่า "กำไรหรือขาดทุนทางบัญชี"
ดังนั้น ถ้าเห็นงบการเงินของธนาคารกลางปรากฏผลขาดทุนในบางช่วง อย่าเพิ่งกังวลใจ เพราะอาจเป็นผลจากการตีราคา
2) การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศมุ่งรักษามูลค่าในรูปเงินตราต่างประเทศใน “ระยะยาว” การดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจต้องมองไกลในระยะยาว ธนาคารกลางจึงลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าที่ดีในระยะยาว และกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ฉะนั้น ในระยะสั้นอาจเห็นความผันผวนได้บ้าง
3) หนี้สินของธนาคารกลางต่างจากหนี้สินของธุรกิจ ขณะที่หนี้สินของธุรกิจไม่ว่าเพื่อใช้จ่ายหรือลงทุนก็เพื่อประโยชน์ของธุรกิจนั้นๆ (private benefit) แต่สำหรับ “หนี้สินของธนาคารกลาง” เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศโดยรวม (public benefit)
หนี้สินของ ธปท. เกิดจาก (1) การพิมพ์ธนบัตรออกใช้ให้พอเพียงกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจ และ (2) การดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ รักษามูลค่าของเงินบาทและสินทรัพย์ของคนไทยไม่ให้ด้อยค่าลง ซึ่งถือเป็นประโยชน์สาธารณะ (public goods) ที่เอื้อให้ระบบเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี มีเสถียรภาพ
..แล้วหนี้ของธนาคารกลางที่สูงขึ้นโดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่าน เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ถ้าดูวัฏจักรเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 ธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ทั้งสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป และญี่ปุ่น ใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
1
ธนาคารกลางเหล่านี้อัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบการเงินโลก ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) รวมทั้งไทย ตลาดเงินตลาดทุนโลกเคลื่อนไหวผันผวน ขณะที่บริบทในประเทศก็ถูกท้าทายจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองและภัยธรรมชาติ
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยมีการลงทุนในระดับต่ำขณะที่การส่งออกมีพัฒนาการดี และการท่องเที่ยวเติบโตก้าวกระโดด ทำให้ 10 ปีที่ผ่านมา (2553 - 2562) ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเป็นประวัติการณ์รวมประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โฆษณา