29 ต.ค. 2020 เวลา 15:06 • สุขภาพ
“🎈บันทึกหมอเด็ก” 🎈
“หมอคะ โทร.จากตึกเด็กนะคะ”
หมอนภาเพ็ญได้ยินเสียงพยาบาลพูด เมื่อรับโทรศัพท์ขณะกำลังขับรถฝ่าการจราจรไปทำงานตอนเช้าวันหนึ่ง
“หมอใกล้ถึงโรงพยาบาลหรือยังคะ?” น้ำเสียงบ่งถึงความกังวล
“มีอะไรหรือ?” หมอเพ็ญใจเต้น หวั่นๆว่ามีอะไรเร่งด่วน ถึงกับต้องรีบโทรมาแต่เช้า
“เมื่อกี้หนูเข้าไปวัดความดันน้องฝ้าย แล้วคลำชีพจรได้ค่อนข้างเบา แทบจะคลำไม่ได้เลยค่ะ เลือดกำเดาก็ไหลมากขึ้น”
“เปลี่ยน IV fluid เป็น full strength normal saline
200 ซีซี ต่อชั่วโมง จองเกร็ดเลือด และ fresh whole blood ตามหมอ ENT และหมอเด็กคนอื่นที่อยู่ในโรงพยาบาลให้ไปดูคนไข้ก่อน สักพักหมอก็จะถึงโรงพยาบาลแล้ว “ สั่งการรักษาเรียงลำดับเป็นชุดๆด้วยน้ำเสียงมั่นคง แต่ภายในใจนั้นร้อนยิ่งกว่าไฟ
เพราะน้องฝ้ายเป็นคนไข้ที่ดูแลรักษากันมาตั้งแต่เล็ก...เด็กผู้หญิง อายุ12 ปีที่รูปร่างท้วม ค่อนข้างอ้วน ช่างพูดช่างคุย
ช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคมกลับไปอยู่กับญาติที่ภาคใต้เกือบเดือน 3วันก่อน ได้เวลากลับมากรุงเทพพอดีไข้เริ่มขึ้นสูง โดยไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูกไหล
บ่ายวานนี้แม่พามาหาเพราะไข้สูง ไม่ลดลงเลย และเริ่มปวดท้องกินอะไรไม่ได้ ตรวจร่างกาย ไข้สูง 39 องศา C ปากแห้งผาก แก้มแดง กดเจ็บที่บริเวณท้องด้านขวาบน
จากประวัติ กับตรวจร่างกาย ก็นึกถึง ไข้เลือดออก เป็นอันดับแรก จึงให้นอนโรงพยาบาล และเจาะเลือดดู ก็ยืนยันว่าเป็นไข้เลือดออก มีเกร็ดเลือดต่ำ 80,000 (ค่าปกติ 150,000-400,000)
🎈นี่คือสาเหตุที่ เช้านี้หมอเพ็ญได้รับโทรศัพท์เร่งด่วนที่ทำให้ใจสั่น...ฝ้ายไข้ลดและคลำชีพจรไม่ได้!🎈
ภาพจาก https://www.parentsone.com/dengue-danger-howto/
☀️คนไข้ที่เป็นไข้เลือดออก เมื่อเข้าระยะไข้ลด และเกร็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 มีโอกาสเกิดช็อคได้จากมีการรั่วของสารน้ำออกนอกเส้นเลือด☀️
🎈การช็อคชนิดนี้ ชีพจรจะเบา จนแทบจะคลำไม่ได้ แต่คนไข้จะยังรู้สึกตัวดี พูดจาโต้ตอบได้ ดูเหมือนไม่เป็นอะไร 🎈
 
การรักษาคือ ต้องรีบให้สารน้ำเข้าเส้นในอัตราที่เหมาะสมกับการรั่ว เพื่อไม่ให้การช็อคลากยาวนานเกินไปจนกู่ไม่กลับ
หมอเพ็ญขับรถแซงคันอื่นๆ จนไปถึงโรงพยาบาลได้อย่างไร ก็จำไม่ได้แล้ว รู้แต่ว่าใจไปถึงก่อนตัวนานแล้ว พอจอดรถได้ก็รีบถลาไปที่ตึกเด็กทันที
ฝ้ายนอนอยู่บนเตียง เลือดกำเดาไหลเกรอะจมูกที่มีสำลีอุดไว้ข้างหนึ่ง
“เป็นอย่างไรบ้าง?” มือคว้าจับชีพจรของฝ้ายก่อนอื่นเลย...ใจชื้นขึ้นเมื่อคลำได้ชัดเจน และความดันก็ดี
“คุณแม่คะ ฝ้ายเป็นไข้เลือดออก ที่เข้าระยะไข้ลด ที่เราจะต้องติดตามอาการชั่วโมงต่อชั่วโมงเลยค่ะ เพราะ มีการรั่วของน้ำออกนอกเส้นเลือด ร่วมกับเลือดออก ต้องให้สารน้ำ กับ ส่วนประกอบของเลือดให้ทันเวลาตามอาการค่ะ”
“อันตรายมากไหมคะ ...คุณหมอ ...ช่วยรักษาฝ้ายด้วย” คุณแม่เสียงสั่น หน้าตากังวลอย่างเห็นได้ชัด
“คิดว่าเอาเข้าไปดูอาการที่ ไอ ซี ยู ดีกว่าค่ะ จะได้มีพยาบาลดูอย่างใกล้ชิด เพราะต้องเช็คความดัน กับชีพจรตลอด และดูปริมาณน้ำที่ให้ กับปัสสาวะที่ออกมาด้วยค่ะ”
☀️ช่วง24-48 ชั่วโมง หลังจากไข้ลดลง เป็นระยะวิกฤตของไข้เลือดออก ☀️
ช่วงเช้าหมอเพ็ญติดตามดูชีพจรฝ้ายตลอด ร่วมกับดูผลความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง ถ้าเข้มข้นมากขึ้นแสดงว่า น้ำรั่วออกนอกเส้นเลือดมาก ต้องเพิ่มอัตราการให้น้ำเกลือ จนขึ้นไปถึงระดับสูงสุด
ช่วงเที่ยงแวะไปดูอีก คลำชีพจรเร็วขึ้นจาก 110 เป็น 140-150 และเริ่มเบาลงไปอีก ไม่เหมือนตอนเช้า ความดันเลือด ตัวล่างห่างจากตัวบนน้อยกว่า 20 มิลลิเมตรปรอท
ฝ้ายผุดลุกผุดนั่ง เรียกแม่ให้มาอยู่ใกล้ๆ
“แม่จ๋า...ฝ้ายหนาว...หนาวจริงๆ..หนาวข้างใน”ใบหน้ากลมแลดูหวาดกลัว เริ่มตาลอยๆ แม่เข้ามาจับมือฝ้ายไว้แน่น น้ำตาเริ่มปริ่ม
นี่คืออาการที่บ่งว่า เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง จึงดูเบลอๆ ร้องเรียกแบบเพ้อๆ
หมอเพ็ญเข้าไปจับปลายมือปลายเท้าฝ้าย รู้สึกว่าเย็นเฉียบ ชีพจรเบา ไม่แรงอย่างที่ควร นี่คืออาการที่จะเข้าภาวะช็อค !
ทั้งๆที่ให้น้ำเกลือในอัตราสูงสุดแล้วยังคงความดันเลือดไว้ไม่ได้...แสดงว่าต้องมีการรั่วของน้ำออกจากเส้นเลือดไปมากเกินกว่าที่น้ำเกลือธรรมดาจะดึงไว้ได้
☀️นี่คือวิกฤตความเป็นความตาย ถ้าตัดสินใจเดินทางผิด ชีวิตอาจไม่กลับคืนมา☀️
“เปลี่ยน IV เป็น Dextran 40 200 cc ต่อ ชั่วโมงเดี๋ยวนี้เลย” หมอเพ็ญสั่งเปลี่ยนสารน้ำทันที เป็นชนิดที่จะดึงน้ำให้อยู่ในเส้นเลือดได้ดีกว่า เพราะมีโมเลกุลใหญ่กว่า จึงมีoncotic pressure สูง
หมอเพ็ญรู้สึกดีใจที่ได้นำความรู้ใหม่ที่เพิ่งไปเข้ารับการอบรมในปีนั้นมาใช้กับคนไข้ที่มีอาการหนักได้พอดี
หลังจากเปลี่ยนเป็น Dextran 40 สัญญาณชีพต่างๆก็เริ่มคงที่ ฝ้ายนอนสงบลงไม่บ่นหนาว แต่ก็ยังต้องติดตามการรักษาตามผลเลือดอย่างใกล้ชิดตลอดทั้งคืน
คืนนั้นฝ้ายมีอาเจียนเป็นเลือด และเลือดกำเดาไหลอีก เกร็ดเลือดลดลงเหลือ 6,000 จึงต้องเอาเกร็ดเลือดมาให้
เช้ารุ่งขึ้นอีกวันเป็น 24 ชั่วโมงที่ 2 หลังไข้ลด อาการดูดีขึ้น และค่อยๆลดน้ำเกลือที่ให้ลงไปได้ตามลำดับโดยปรับจากผลความเข้มข้นของเลือด เพราะถ้าให้มากจนเพลิน ก็อาจจะมีน้ำเข้าสู่ช่องเยื่อหุ้มปอดได้
ฝ้ายอยู่โรงพยาบาล 3 วันเต็มๆ จึงกลับบ้านได้พร้อมกับรอยจ้ำเขียวที่แขนขวา จากการเจาะเลือดและแทงเส้นให้น้ำเกลือ
หมอนภาเพ็ญได้เห็นอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกที่กำลังจะเข้าภาวะช็อคอย่างใกล้ชิด และภาวนาว่า ขออย่าให้ต้องเจอเคสหนักแบบนี้อีก
ได้เรียนรู้ว่า คนไข้ที่น้ำหนักตัวเกิน หรืออ้วน จะมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของไข้เลือดออกได้มากกว่า
การสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถจับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว จึงให้การรักษาได้ทันท่วงที
❤️ข้อสรุป Take Home Messages สำหรับผู้อ่าน❤️
1. ถ้ามีอาการไข้สูง 3วัน โดยไม่มีอาการไอ น้ำมูกไหล ควรไปพบแพทย์ และคิดว่าเป็นไข้เลือดออกไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่
2. ถ้าหลังจากเป็นไข้3 วัน ไข้ลดลงแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น เช่นปวดท้อง อ่อนเพลีย กินอาหารไม่ได้ ให้กลับไปพบแพทย์อีกครั้ง เพราะ อาจเป็นอาการระยะวิกฤตของไข้เลือดออก (24-48 ชม. หลังไข้ลด)
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ “ไข้เลือดออก” ได้ที่ลิ้งค์นี้ค่ะ
“สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 ตุลาคม 2563 พบผู้ป่วย 63,843 ราย เสียชีวิต 45 ราย
กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี และแรกเกิด -4 ปี
ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน อ่างทอง ชัยนาท เชียงใหม่ และนครสวรรค์ ตามลำดับ”
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคติดต่อ https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=15224&deptcode=brc

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา