29 ต.ค. 2020 เวลา 15:20 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
กลุ่มดาวคันชั่ง ที่มาของเดือนตุลาคม
1
“โน่นดาวคันชั่งช่วงดวงสว่าง
ที่พร่างพร่างพรายงามดาวหามผี
หน่อนรินทร์สินสมุทรกับบุตรี
เฝ้าเซ้าซี้ซักถามตามสงกา”
พระอภัยมณี โดย สุนทรภู่
ภาพกระต่ายยิงดวงอาทิตย์
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ดวงอาทิตย์ส่องแสงร้อนแรงมาก ฝนไม่ตกลงมาเลยเป็นเวลานาน ผืนดินแห้งแล้ง เกิดความอดอยากลำบากยากแค้นไปทั่ว
กระต่ายตัวหนึ่งอาสาเดินทางไปสุดขอบโลก เพื่อขอให้ดวงอาทิตย์ลดความร้อนลง แต่ดวงอาทิตย์ก็ไม่สนใจ กระต่ายจึงบอกว่าเมื่อดวงอาทิตย์ไม่ลดความร้อน จะเอาธนูยิงดวงอาทิตย์
ตอนเช้ามืดกระต่ายไปแอบซุ่มดักยิงดวงอาทิตย์ ส่วนดวงอาทิตย์เมื่อรู้ว่ากระต่ายคอยแอบยิงก็ย้ายตำแหน่งขึ้นทุกวัน
นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันนี้ ดวงอาทิตย์ก็ยังคงย้ายตำแหน่งขึ้นทุกวัน
ตัวอย่าง ปี 2564
1 มกราคม 2564 ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ วันถัดไปดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เขยิบขึ้นไปทางทิศเหนือเรื่อย ๆ ทุกวัน
20 มีนาคม 2564 ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงทิศตะวันออก ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานใกล้เคียงกัน (หรือประมาณว่าเท่ากัน) เรียกว่า “วันวสันตวิษุวัต (vernal equinox)”
“วสันต์ (vernal)” แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ (spring) “วิษุวัต (equinox)” หมายถึงตรงกลางหรือเท่ากัน บางครั้งเรียกว่า “ราตรีเสมอภาค” มาจาก “equi” แปลว่า เท่า และ “nox” แปลว่า กลางคืน
หลังจากวันวสันตวิษุวัต ดวงอาทิตย์ยังคงเขยิบขึ้นไปทางทิศเหนืออีก
21 มิถุนายน 2564 ดวงอาทิตย์ขึ้นไปทางทิศเหนือมากที่สุด (ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นช่วงที่เวลากลางวันยาวนานกว่ากลางคืนมากที่สุด เรียกว่า “วันครีษมายัน (summer solstice)” อ่านว่า “ครีดสะมายัน” แปลว่า มาจากคำว่า คฺรีษฺม แปลว่า ฤดูร้อน กับคำว่า อายัน แปลว่า มาถึง ดังนั้นครีษมายัน จึงแปลว่า มาถึงฤดูร้อน
solstice มาจากคำว่า “sol” แปลว่า ดวงอาทิตย์ และ “stice” แปลว่า ยืนนิ่ง (ภาษาละตินคือ sistere) solstice จึงแปลตรงตัวว่า ดวงอาทิตย์ยืนนิ่ง คือเหมือนดวงอาทิตย์หยุดนิ่งกับที่ช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะเปลี่ยนทิศทางย้อนกลับจากทิศเหนือลงทิศใต้
อีกชื่อหนึ่งของวันครีษมายันคือ “วันอุตตรายัน” คำว่า “อุตตรา” แปลว่า ทิศเหนือ อุตตรายันจึงแปลว่า มาถึงทิศเหนือ
หลังจากวันครีษมายัน ดวงอาทิตย์จะย้อนกลับลงทิศใต้
23 กันยายน 2564 ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงทิศตะวันออกอีกครั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานใกล้เคียงกัน (หรือประมาณว่าเท่ากัน) เรียกว่า “วันศารทวิษุวัต (autumnal equinox)” ออกเสียงว่า “สาระทะวิสุวัด” คำว่า “ศารท” แปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง (autumn)
หลังวันศารทวิษุวัต ดวงอาทิตย์ยังคงเขยิบลงทิศใต้ไปเรื่อย ๆ
21 ธันวาคม 2564 ดวงอาทิตย์ลงไปทางทิศใต้มากที่สุด (ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงใต้) เป็นช่วงที่เวลากลางคืนยาวนานกว่ากลางวันมากที่สุด เรียกว่า “วันเหมายัน (winter solstice)” อ่านว่า “เห-มา-ยัน” ไม่ใช่ “เหมา-ยัน” แปลว่า มาถึงฤดูหนาว
หรือเรียกอีกชื่อว่า “วันทักษิณายัน” แปลว่า มาถึงทิศใต้
หลังวันเหมายัน ดวงอาทิตย์จะย้อนกลับขึ้นทิศเหนืออีกครั้ง
ดวงอาทิตย์จะขึ้นเหนือลงใต้เช่นนี้เป็นประจำทุกปี
วันสำคัญที่เกี่ยวกับดวงอาทิตย์บางปีอาจแตกต่างกันเล็กน้อย เช่น วันศารทวิษุวัตปี 2564-2566 เป็นวันที่ 23 กันยายน แต่ปี 2567 จะเป็นวันที่ 22 กันยายน
ภาพกลุ่มดาวคันชั่ง (Libra) จากแอป SkyPortal
ย้อนกลับไปประมาณ 3,000 ปีก่อน วันศารทวิษุวัตจะอยู่ในเดือนตุลาคม (ไม่ใช่เดือนกันยายนเหมือนปัจจุบัน) ตอนหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกจะเห็นกลุ่มดาวคันชั่ง (Libra)
Libra ออกเสียงได้ 2 อย่างคือ ลีบรา หรือ ไลบรา
กลุ่มดาวคันชั่งเป็นที่มาของชื่อเดือนตุลาคม คำว่า ตุลาคม มาจากคำว่า “ตุล” แปลว่า คันชั่ง และ “อาคม” แปลว่า มาถึง ตุลาคมจึงแปลว่า มาถึงคันชั่ง หรือหมายถึงดวงอาทิตย์มาถึงราศีตุล
คันชั่งเป็นสัญลักษณ์ของความเท่ากันหรือความยุติธรรม ดังจะเห็นจะใช้เป็นสัญลักษณ์ของศาลยุติธรรม คันชั่งยังเป็นที่มาของคำว่า “ตุลาการ” ผู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี ผู้ถือคันชั่ง
กลุ่มดาวคันชั่งไม่มีดาวสว่างมาก มองเห็นได้ยากในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และเป็นกลุ่มดาวจักรราศี (กลุ่มดาวที่ดวงอาทิตย์ผ่าน) เพียงกลุ่มเดียวจาก 12 กลุ่ม ที่เป็นสิ่งของ ต่างจากกลุ่มดาวจักรราศีอื่น ๆ ที่เป็นคนหรือสัตว์
การที่ตั้งชื่อกลุ่มดาวนี้ว่ากลุ่มดาวคันชั่งก็อาจเนื่องจากเมื่อ 3,000 ปีก่อน วันศารทวิษุวัตซึ่งกลางวันและกลางคืนนานเท่ากันจะเห็นดวงอาทิตย์อยู่ใกล้กลุ่มดาวนี้ กลางวันและกลางคืนนานเท่ากันเปรียบเหมือนคันชั่งที่สมดุลเท่ากันทั้งสองข้าง
อ้างอิง
นิยายดาว โดย สิงโต ปุกหุต จัดพิมพ์โดย บริษัท สุวีริยาสาส์น จำกัด ปี 2554 นิทานอินเดียนแดงเรื่องกระต่ายยิงดวงอาทิตย์ หน้า 9-16
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 https://dictionary.apps.royin.go.th
เว็บไซต์ Wikipedia https://en.wikipedia.org
1
⚛ นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา