30 ต.ค. 2020 เวลา 03:30 • การเมือง
กลไกสภาง่อยเปลี้ย ไร้ทางออกประเทศ หวั่นโดนหลอกแก้รัฐธรรมนูญ ยื้อเวลา
สถานการณ์บ้านเมืองที่ร้อนระอุในขณะนี้ ต้องหาทางออกประเทศในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หลายฝ่ายคาดหวังที่ประชุมสภาฯ จะเป็นตัวช่วยทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายลง เป็นไปในทิศทางที่ดี แต่กลับเป็นว่าการประชุมสภาสมัยวิสามัญในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ไร้ความหมาย หาทางออกไม่ได้ หรือบ้านเมืองจะถึงทางตัน เกินเยียวยาไปแล้วจริงๆ
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า การประชุมสภาสมัยวิสามัญ ทั้ง 2 วัน สะท้อนภาพให้เห็นว่ากลไกสภาไม่สามารถช่วยแก้อะไรได้ เพราะสภาวะขณะนี้การเมืองนอกสภา มีความก้าวหน้า แต่การเมืองในสภา มีความล้าหลัง ซึ่งเป็นจุดบกพร่องจากการทำงานที่ยึดตามกฎหมาย มาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการหารือของคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ไม่สามารถนำกรอบข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมาหารือถึงปัญหาที่แท้จริง ยกเว้นการอาศัยอำนาจตามมาตรา 123 ของรัฐธรรมนูญ โดยต้องใช้เสียง ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ
“ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิพลในการทำงานของรัฐสภา ทั้งๆ ที่การทำงานของพรรคการเมืองต้องมีฐานมาจากประชาชน แต่กลับไม่เชื่อมต่อมวลชน ทำให้ปัญหาข้อเรียกร้องต่างๆ ของผู้ชุมนุม ไม่เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะมีการพูดคุยไม่กี่คนในสภา ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือตอบสนองได้ จนกลายเป็นพื้นที่วิวาทะ ไม่ต่างจากการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา”
นอกจากนี้ยังเกิดจากผลกระทบรัฐธรรมนูญปี 60 ทำให้ ส.ว. กลายเป็นสภาถ่วงดุล ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ และถ่วงดุล ส.ส. ในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนถึงโครงสร้างสภาที่บิดเบี้ยว เนื่องจาก ส.ว.เข้ามามีบทบาทถ่วงดุล ทำให้กลไกสภาไม่สามารถตอบสนองปัญหานอกสภาได้ ท้ายสุดต้องจบลงด้วยการตั้งกรรมาธิการ หรือจะมีการตั้งคณะกรรมการก็ตามแต่ ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย กลายเป็นกลไกที่เชย และกลายเป็นรายงานการศึกษา เหมือนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
รศ.ดร.ยุทธพร ยังมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นช่องว่างของระบบรัฐสภา และไม่มีความจริงจัง หรือมีความตั้งใจน้อยในการแก้ไขปัญหา จนไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทำให้ความไว้วางใจไม่เกิดขึ้น ในการที่จะให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แม้มีสภา หรือแม้แต่ฝ่ายค้านจะพยายามแสดงบทบาท มีการกรีดเลือด ซึ่งอาจไม่ถูกที่ถูกทาง และท้ายสุดยังเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกประเทศ ณ เวลานี้
“ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และไม่อยากให้เหมือนการประชุมสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. จนมีคนถามว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ จะมีการยื้อ หรือโดนหลอกอีกหรือไม่ อยากให้คุยกัน เพราะเมื่อออกมาพูดถอยทีละก้าวแล้ว ยังหาจุดร่วมกันได้ยาก ก็ต้องมีเวทีพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ ก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญ นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย เพราะการเมืองในสภาขณะนี้ล้าหลัง ทำให้รู้สึกผิดหวังที่การประชุมสมัยวิสามัญ 2 วัน ไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ควรอยู่บ้าน ลดโลกร้อน ประหยัดงบบ้านเมืองจะดีกว่า”.
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา