5 พ.ย. 2020 เวลา 01:06 • การศึกษา

ปลาชะโอน… เลี้ยงไม่ยากอย่างที่คิด

ปลาชะโอนนับเป็นปลาที่เพาะพันธุ์ยากกว่าจะได้ไซส์ที่กินอาหารเม็ดเก่ง แต่ถ้ากินอาหารเม็ดได้แล้ว การเลี้ยงกลับไม่ได้ยุ่งยากอะไร
ใครยังไม่รู้จักปลาชะโอน อ่านได้จากโพสต์นี้ค่ะ
1) บ่อที่ใช้เลี้ยง
🔸บ่อซีเมนต์ ปลาชะโอนเป็นปลาที่ต้องการออกซิเจนสูง จึงต้องให้ออกซิเจนและใช้ระบบน้ำไหลเวียนเข้าช่วยเผื่อกรณีไฟดับ
ข้อดี คือ ดูแลได้ทั่วถึง จัดการง่าย และนิสัยปลาชะโอนเป็นปลากินเนื้อ ปลาตัวใหญ่ชอบกินปลาเล็ก เมื่อเลี้ยงไประยะหนึ่งถ้าปลาไซส์ต่างกันมากตัวใหญ่จะกินตัวเล็กทันที ตัวเล็กก็ยิ่งเล็กเพราะไม่กล้าขึ้นมากินอาหาร
ปลาชะโอนกินปลาตัวเล็กเข้าไป
การใส่บ่อซีเมนต์ทำให้เราสามารถนำมาคัดแยกไซส์ปลาเป็นระยะ ๆ ได้ และถ้าบ่อมีหลังคาจะช่วยให้ปลากินอาหารกลางวันได้ดีขึ้น เพราะปลาชะโอนเป็นปลาที่ออกหากินกลางคืน การมีหลังคาบังแดดเป็นการหลอกปลาให้ดูเหมือนกลางคืน
ข้อเสีย คือ ถ้าไฟดับ ไม่มีระบบให้อากาศ หรือระบบน้ำมีปัญหาจะทำให้ปลาขาดอากาศและตายได้ โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่ออกซิเจนในน้ำต่ำกว่าตอนกลางวัน ฉะนั้นต้องมั่นใจว่าระบบให้อากาศจะไม่มีปัญหา
ปลาตัวเล็กที่ปลาชะโอนตัวใหญ่คายออกมา
🔸บ่อดิน ปลาชะโอนชอบน้ำสะอาด บ่อกว้าง ๆ ถ้าน้ำเป็นสีเขียวแปลว่ามีแพลงก์ตอนพืชมาก ทำให้กลางคืนออกซิเจนในน้ำต่ำ ปลาอาจขาดอากาศและตายได้
ข้อดี คือ ดูแลไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องคอยเปลี่ยนน้ำ ไม่ต้องมีระบบอากาศ นอกจากว่าใส่ปลาแน่นไป ทำให้อากาศไม่เพียงพอ ต้องให้อออกซิเจนเพิ่ม และการที่ปลาได้อยู่ในสภาพตามธรรมชาติ ปลาจะแข็งแรง โตไว
ข้อเสีย คือ ไม่สามารถจับขึ้นมาคัดไซส์เป็นระยะได้ ถ้าเลี้ยงไปแล้วปลามีขนาดต่างกัน ตัวใหญ่อาจไล่กินตัวเล็กได้ วิธีแก้ คือ ควรลงลูกพันธุ์ปลาไซส์ใหญ่ ให้ปลาเอาตัวรอดได้แล้ว ยิ่งลงปลาไซส์ใหญ่อัตรารอดก็ยิ่งสูง
นอกจากนี้การเลี้ยงปลาในบ่อดินจะยุ่งยากเวลาจับปลา และนกอาจบินลงไปกินลูกปลาในบ่อ ต้องกั้นตาข่ายไนล่อนไว้ดักนก
คลุมตาข่ายไนล่อนไว้ดักนก
🔸กระชัง เป็นการผสมกันของบ่อดินและบ่อซีเมนต์ ถ้ากระชังอยู่ในบ่อดินที่น้ำนิ่งก็จะมีปัญหาเรื่องขาดอากาศเหมือนบ่อซีเมนต์ ต้องให้ออกซิเจนเพิ่ม
ถ้ากระชังแขวนในแหล่งน้ำไหลผ่าน น้ำจะมีออกซิเจนสูง ง่ายต่อการเลี้ยง
ข้อดี คือ จัดการง่ายเหมือนบ่อซีเมนต์ สามารถนำขึ้นมาคัดแยกไซส์ได้เป็นระยะ แต่ไม่ต้องคอยเปลี่ยนถ่ายน้ำเหมือนบ่อซีเมนต์
ข้อเสีย คือ นกสามารถบินลงกินลูกปลาเหมือนบ่อดิน ควรใช้ตาข่ายคลุมกระชังไว้เหมือนกัน และถ้าเป็นกระชังใหม่ควรแขวนกระชังไว้ในบ่อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ให้กลิ่นสารเคมีหายไปและตะไคร่เกาะกระชังก่อน
แต่ถ้ารูกระชังตันเนื่องจากตะไคร่เกาะมาก ๆ ทำให้มีสภาพไม่ต่างจากการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ต้องมีระบบให้อากาศด้วย ทางที่ดีเมื่อปลาตัวใหญ่ควรใช้กระชังเนื้ออวนที่ตาห่างมากขึ้น ให้น้ำไหลเวียนผ่านรูกระชังได้
และที่สำคัญ คือ ต้องเช็คกระชังให้ดีก่อนลงปลาแต่ละครั้ง เพราะถ้าเกิดมีรูรั่ว ปลาสามารถหลุดออกไปได้ หรือถ้าเนื้อกระชังเก่าชำรุดนิดหน่อยก็ง่ายที่ปลาจะดันกระชังให้ขาด หรือบางแหล่งมีปลาอื่น ๆ อยู่นอกกระชังจะมาคอยดันกระชังเพื่อจะแย่งกินอาหาร ทำให้กระชังมีรูรั่วได้
กระชังในบ่อดิน
2) อัตราการปล่อย
ขึ้นอยู่กับสภาพน้ำ สภาพบ่อ ขนาดความกว้าง ลึกของบ่อ ถ้ามีระบบอากาศสามารถเลี้ยงได้ประมาณ 50-80 ตัวต่อตารางเมตร ความลึกของน้ำควรลึกอย่างน้อย 1 เมตร ถ้าลึก 1.5-2 เมตรได้จะดี จากที่ลูกค้าเลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์และกระชังขนาด 3*4 เมตร ให้ออกซิเจนเต็มที่ จะเลี้ยงอยู่ที่กระชังละ 1,000 ตัว
ลูกพันธุ์ปลาชะโอน
3) อาหาร
ปลาชะโอนเป็นปลากินเนื้อ ต้องให้อาหารที่โปรตีนสูง ช่วง 1-2 สัปดาห์แรกที่ซื้อลูกพันธุ์ไปควรให้อาหารลูกอ็อดเพราะมีโปรตีนสูง ประมาณ 42% ราคาจะอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 70 บาท โดยเริ่มให้อาหารในวันถัดไป
จากนั้นค่อยลดเป็นอาหารกบเล็กหรือปลาดุกเล็กโปรตีนประมาณ 35% ราคาประมาณกิโลกรัมละ 35 บาท
ให้วันละ 2 มื้อ กลางวันและเย็น ถ้าทำได้ควรให้ช่วงกลางคืน เพราะปลาชะโอนเป็นปลาหากินกลางคืน ปลาจะกินอาหารได้ดีขึ้น
การเลือกซื้ออาหาร ให้ดูจากโปรตีนข้างกระสอบซึ่งจะระบุว่ามีโปรตีนกี่เปอร์เซ็นต์ ยิ่งสูงยิ่งดี มีสีเข้ม กลิ่นแรง ปลาจะชอบ
อาหารปลาดุกเล็ก
4) ระยะเวลาเลี้ยง
ประมาณ 6 เดือนก็เริ่มจับขายได้แล้ว ตัวผู้จะได้ไซส์ประมาณ 10 ตัว/กก. ตัวเมียประมาณ 4 ตัว/กก.
ปลาชะโอนอายุ 6 เดือน
6) โรค
โรคที่เจอส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคตัวเปื่อย ตรงหลังและหางจะเปื่อยเนื่องบอบช้ำจากการขนย้ายหรือจัดการ ต้องจับแยกมาแช่ยา แต่ถ้าปล่อยลงบ่อดินมักจะหายได้เอง หลังจากนั้นจะไม่ค่อยพบปลาเป็นโรค สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ อย่าให้ปลาขาดอากาศ
7) ราคาขาย
กิโลกรัมละ 300-400 บาท
หวังว่าคงมีประโยชน์กับผู้สนใจเลี้ยงปลาชะโอนนะคะ 🌿🌿
ขอบคุณทุกกำลังใจที่แวะมาทักทายนะคะ ❤️
โฆษณา