7 พ.ย. 2020 เวลา 12:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
เรื่องเล่าชมรมศิลป์ Ep.10 : สุขสันต์วันมรณะ
[ Memento Mori – Remember you will die]
4
[ 3 ปีก่อน ]
สายตาของผมจับจ้องอยู่บนผืนผ้าใบสี่เหลี่ยมจัตุรัสติดฝาผนังในนิทรรศการแห่งหนึ่ง ภาพตัวการ์ตูนสีหวานคือหนึ่งในงานชิ้นโปรดของผมในบ่ายวันนั้น ดวงตาที่สะท้อนรูปหัวใจสีชมพู ลอยละล่องประหนึ่งกำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความรัก ด้านล่างคือข้อความที่เขียนด้วยตัวอักษรสีชมพู อ่านง่ายสบายตา แต่ชวนให้รู้สึกหนักอึ้ง
"we're all gonna die"
[ 3 สัปดาห์ก่อน ]
ผมรับโทรศัพท์จากน้องสาว หลังจากคุยกันไปสักพักก็มาถึงเรื่องเล่าบทสนทนาสั้น ๆ ของเธอกับลูกชาย
"เออเนี่ย อยู่ ๆ (ชื่อลูก) ก็ถามว่า เมื่อไหร่ปะป๊ากับหม่าม๊าจะไปสวรรค์"
ผมอึ้งปนขำไปกับคำถามหมัดน็อคของเด็กวัย 4 ขวบ
"แล้วตอบไปว่ายังไงอะ"
"ก็ตอบว่า ยังอีกนานนนนนนนนน่ะสิ"
[ 3 วันก่อน ]
แผ่นกระดาษขนาด A4 ที่อยู่ในมือผม เต็มไปด้วยตารางยาวเหยียดทั้งหน้าและหลัง บรรทัดบนสุดเขียนว่า 'รายการตรวจสุขภาพ'
ผมนึกถึงผลตรวจสุขภาพของปีที่ผ่านมา และปีก่อน ๆ หน้านั้น ก่อนจะถอนหายใจและเลือกรายการตรวจต่อไป
‘Memento Mori’ (เมเมนโต โมริ) คือวลีในภาษาละตินอันมีความหมายว่า...Remember you will die
พึงระลึกไว้ ไม่ช้าก็เร็ว…เราทุกคนต้องตาย
ที่มาของประโยคนี้ว่ากันว่ามีตั้งแต่สมัยยุคโรมันโบราณ ในพิธีกรรมเฉลิมฉลองอันทรงเกียรติถึงชัยชนะของชาวโรมัน ถนนหนทางเต็มไปด้วยผู้คนแน่นขนัดที่มารอชื่นชมวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่จากสงคราม
"The Triumph of Aemilus Paulus" by Carle Vernet, c.1789 (Fotopedia)
ทันทีที่อาชาองอาจสี่ตัวเทียมราชรถประดับทองคำและงาช้างแล่นเข้ามา เสียงโห่ร้องแสดงความยินดีก็ดังกึกก้อง ร่างของนายพลผู้สวมมงกุฏพวงหรีดลอเรลในเสื้อคลุมโทกาสีม่วงประดับทองบนราชรถนั้น สง่างามอาบไปด้วยรัศมีรุ่งโรจน์ราวกับเทพจูปิเตอร์
ท่ามกลางเสียงสดุดีของผู้คนในช่วงเวลาแห่งเกียรติยศ เสียงหนึ่งก็ดังขึ้นข้างหูของผู้มีชัย ซ้ำไปมา
“Respice post te!
Hominem te esse memento!
Memento mori!”
(Look behind you!
Remember that you are but a man!
Remember that you will die!)
ทาสผู้ซื่อสัตย์ที่อยู่เบื้องหลังทำหน้าที่สำคัญยิ่งในขบวนแห่นี้ ด้วยการส่งเสียงกระซิบเตือนผู้ที่มีสถานะดั่งเทพบนรถม้ามิให้หลงระเริงกับช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ ด้วยว่าตัวเขานั้นเป็นเพียงมนุษย์…และวันหนึ่งย่อมถึงกาลที่ต้องดับสูญ
[ ศิลปะ Vanitas….แด่ชีวิตที่แสนสั้น ]
"Allegory of Vanity" Vanitas by Antonio de Pereda, c.1632-1636
Memento Mori ยังเป็นคติที่เชื่อมโยงกับศาสนาและศิลปะมาอย่างยาวนาน โดยศิลปะที่มีรูปแบบสะท้อนถึงแนวคิดนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Vanitas’ อันมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินในความหมายถึงความว่างเปล่า ไร้คุณค่า
ในยุโรปยุคกลางที่เต็มไปด้วยโรคระบาด สงคราม และความอดหยาก ความตายนั้นอยู่ใกล้เพียงแค่คืบ ภาพของผู้คนรอบตัวที่ล้มตายและเสียงร่ำไห้ด้วยความอาลัยล้วนเป็นสิ่งสะท้อนให้ ตระหนักถึงช่วงเวลาแห่งการมีชีวิตอยู่
ด้วยสิ่งเหล่านี้ Memento Mori จึงผูกพันแน่นแฟ้นกับผู้คนในยุคนั้น และนัยยะของ Vanitas ถูกสื่อออกมาผ่านศิลปะที่เกี่ยวข้องกับความตาย เช่น งานแกะสลักแผ่นหินและภาพวาดตกแต่งหลุมศพที่ชวนให้รู้สึกพรั่นพรึง อย่าง ‘Danse Macabre’ (Dance of Death) เพื่อเตือนสติถึงชีวิตมนุษย์ที่แสนเปราะบาง และความเปล่าประโยชน์ในการไล่ตามความสุขทางโลก
ด้วยว่าจะเด็กหรือชรา รวยหรือจน…หรือมีฐานันดรสูงศักดิ์เพียงใด ย่อมไม่มีใครหนีพ้นความตาย
Danse Macabre in St. Nicholas’ Church, Tallinn, Estonia by Bernt Notke (1435-1509)
เช่นเดียวกับแนวคิดในแบบคริสเตียน ‘Ars moriendi’ (The Art of Dying) คู่มือ How To ในยุคคริสตศตวรรษที่ 15 ที่สอนถึงการเตรียมตัวอ้าแขนรับความตายอย่างดี ตั้งแต่การปลอบประโลมจิตใจ คำแนะนำสำหรับผู้ใกล้สิ้นใจ ญาติและมิตรสหาย ไปจนถึงการปฎิบัติตัวและบทสวดที่เหมาะสม
Ars Moriendi - The Art of Dying
ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 – 17 ซึ่งเป็นยุคเรอเนสซองส์ที่ศิลปะวิทยาการและศาสนามีความเฟื่องฟู ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการใช้ชีวิตบนโลกนี้เป็นเพียงช่วงเวลาสำหรับการเตรียมตัวสู่ชีวิตหลังความตาย แนวคิดของ Memento Mori และศิลปะแบบ Vanitas ถูกนำมาถ่ายทอดเพื่อเตือนใจถึงความไม่จีรังของชีวิต ความสุขสำราญที่เกิดขึ้นช่วงเวลาสั้น ๆ โดยสิ่งเดียวที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนคือความตาย
"Vanitas Still Life with Thinking Young Man" by Samuel Dirksz van Hoogstraten, c.1645 (WikiArt)
รูปแบบที่นิยมมากที่สุดคือภาพวาดหุ่นนิ่ง หรือ Still Life ซึ่งพบได้ทั่วไปในงานของศิลปินจากกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ (Low Countries) อย่างเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และมักสื่อด้วยสัญลักษณ์ที่แฝงความหมายมากกว่าภาพที่ตรงไปตรงมาแบบในยุคก่อน
นาฬิกา นาฬิกาทราย เปลวเทียนที่ริบหรี่ หรือเทียนไขที่ดับมอด คือสัญลักษณ์แทนชีวิตมนุษย์ที่ไม่ยั่งยืน
ในขณะที่ผลไม้ ดอกไม้ เครื่องดนตรี ไวน์ หรือหนังสือ ล้วนมีความหมายถึงความสุขทางโลกที่ฟุ้งเฟ้อ ไร้แก่นสาร
และที่ขาดไม่ได้คือกระโหลกศีรษะอันเป็นอื่นใดไม่ได้นอกจากความตายที่รออยู่เบื้องหน้า
“Still-Life with a Skull” by Philippe de Champaigne, c. 1671. (Photo: Public domain via Wikipedia)
“Vanitas Still Life” by Maria van Oosterwijck, 1668. (Photo: Public domain via Wikipedia)
“Skull with Burning Cigarette” by Vincent van Gogh, 1885. (Photo: Public domain Wikiart)
[ Memento Mori…ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ]
ในยุคคริสตศตวรรษที่ 21 ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแพทย์ ทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นกว่าในอดีตอย่างเทียบไม่ติด ความสุขสนุกสนานบันเทิงล้วนหาง่าย และความตายคือสิ่งสุดท้ายที่เราอยากนึกถึง
77.91 ปี…คือตัวเลขอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยในปัจจุบัน แม้ว่ากราฟตัวเลขนี้จะขยับเพิ่มขึ้นทุกปี แต่แน่นอนว่าเราไม่มีทางเอาชนะการหยุดของเส้นกราฟได้ วันหนึ่งการเดินทางของชีวิตย่อมมีวันสิ้นสุด และเมื่อวันนั้นมาถึง...มองย้อนกลับไปเราอยากเห็นอะไร?
Memento Mori...Remember you will die.
การระลึกถึงความตาย ไม่ใช่เพื่อความเศร้าโศกสิ้นหวัง แต่เพื่อให้เราใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ให้ความสำคัญกับสิ่งสำคัญ ดูแลร่างกายจิตใจ และมอบสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเอง คนรอบข้าง และโลกใบนี้
เพราะชีวิตที่ยืนยาวจะมีความหมายอะไร หากปราศจากคุณค่าที่แท้จริง
ภาพจากนิทรรศการ "Joan Cornella: Bangkok Solo Exhibition", ปี 2017
🎵 ฟังเพลง “Ashes to Ashes” (1980)
โดย David Bowie ได้ที่นี่ 👇
[ เบื้องหลังบทเพลง ]
“Ashes to Ashes” (1980) เพลงที่เสมือนเป็นภาคต่อของ “Space Oddity” (1969) เพลงฮิตที่ส่งให้ เดวิด โบวี่ และคาแรกเตอร์นักบินอวกาศ ‘Major Tom’ ของเขาพุ่งทะยานสู่ฟากฟ้า
50
ในอีก 11 ปีต่อมา Major Tom กลับมาอีกครั้ง เขายังคงล่องลอยอยู่ในอวกาศ และส่งข้อความกลับมายังภาคพื้นดิน เชื่อกันว่า Ashes to Ashes คือการมองย้อนกลับไปยังชีวิตในช่วงยุค 70s ของโบวี่ และการต่อสู้กับยาเสพติดในอดีตที่ผ่านมา
50
Space Oddity, David Bowie (1969)
ปล. ชมรมศิลปะนอกเวลาได้เดินทางมาถึง Ep.10 แล้ว ขอขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกท่านในความสนับสนุนและติดตามกันมาตลอด แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้าครับ :)
10

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา