7 พ.ย. 2020 เวลา 11:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“เงินบริจาค” อีกทางเลือกในการลดหย่อนภาษี
ช่วงนี้เริ่มเข้าปลายปี หลายคนวางแผนหาค่าลดหย่อนต่างๆ เพื่อมาลดหย่อนภาษี ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “เงินบริจาค” มาอ่านกันว่า เงินบริจาคที่เราให้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมนั้น สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ และต้องใช้หลักฐานอะไรในการยื่นให้พี่สรรพากรบ้าง มาอ่านกัน...
เงินบริจาค สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินบริจาคแล้ว จะเห็นว่า เรื่องเงินบริจาคจะคิดเป็น % จากรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนนะ ซึ่งจะต่างจากการคิดค่าลดหย่อนอื่นๆ
เช่น มานะเป็นมนุษย์เงินเดือน โสด มานะมีรายได้ 40(1) ทั้งปี 500,000 บ. หักค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้ 100,000 บ. ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บ. ค่าลดหย่อน PVD 60,000 บ. SSF 40,000 บ. รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ = 500,000 – 100,000 – 60,000 – 60,000 – 40,000 = 240,000 บ. ดังนั้นมานะจะสามารถนำเงินบริจาคไปลดหย่อนได้สูงสุด คือ 240,000 x 10% = 24,000 บ.
สำหรับเงินบริจาคทั่วไป ถ้าเราบริจาค 5,000 บ. ก็สามารถนำไปเป็นค่าลดหย่อนได้ 5,000 บ. แต่ถ้าเป็นเงินบริจาคพิเศษ จะสามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่บริจาคจริง เช่น ถ้าเราบริจาค 5,000 บ. เราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บ.
เงินบริจาคพิเศษที่ว่านี้คือ…
– เงินบริจาคให้โรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งการบริจาคที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลรัฐ ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าจากลิงค์นี้ได้นะ https://bit.ly/32jmRxx
– เงินบริจาคเพื่อการศึกษา ที่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่านั้น จะต้องบริจาคผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น ดังนั้นถ้าเราไม่ได้บริจาคผ่านระบบ e-donation จะลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง
– เงินบริจาคเพื่อการกีฬา และการพัฒนาสังคม
สามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อสถานที่ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า จากเว็บไซต์ของสรรพากรในส่วนของการบริการข้อมูล ตามลิงค์นี้นะ https://bit.ly/38h89uQ
เอกสารที่ใช้ในการลดหย่อนของเงินบริจาคคือ ใบเสร็จรับเงิน หรือใบอนุโมทนาบุญที่มีการระบุชื่อเราเป็นผู้บริจาค และในปัจจุบันนี้มีการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า ระบบ e-Donation ซึ่งสะดวกต่อผู้บริจาค และไม่ต้องยุ่งยากในการเก็บเอกสารไว้เพื่อลดหย่อนภาษีด้วย เพราะพี่สรรพากรจะสามารถเข้าไปตรวจสอบในระบบได้อยู่แล้ว
ถ้าบริจาคผ่าน e-donation และจำไม่ได้ว่าบริจาคไปเท่าไหร่แน่ ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบในระบบของสรรพากรได้จากลิงค์นี้ https://bit.ly/3p7Ofs0
โดยใช้ username และ password เดียวกันกับที่เรายื่นภาษีออนไลน์ พร้อมกับกรอกเลขหลังบัตรประชาชนของเรา(โดยไม่ต้องกรอกขีดนะ)
ทางคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลมีโครงการ “ช่วยด้วยใจ ให้ด้วยรัก” เพื่อร่วมสมทบทุนก่อสร้างอาคารและจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลก็เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลรัฐที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เช่น บริจาค 5,000 บ. ก็สามารถนำมาลดหย่อนได้ 10,000 บ. และสามารถบริจาคผ่าน e-Donation ได้ เพียงแค่ scan QR code ในรูปด้านล่าง ด้วย app ของธนาคาร โดยสามารถบริจาคได้ผ่านทุกธนาคารนะ (โดยกด save รูปด้านล่าง หลังจากนั้นเปิด app ธนาคาร เลือก scan แล้วดึงรูปที่ save ไว้ขึ้นมา กรอกจำนวนเงินที่ต้องการบริจาค แค่นี้ก็เรียบร้อย)
การบริจาคนอกจากได้ช่วยเหลือผู้อื่น ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้และถ้าเราบริจาคผ่าน e-Donation ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ง่าย ไม่ต้องคอยจดว่า บริจาคไปเท่าไหร่ และไม่ต้องใช้เอกสารในการยื่นภาษี เพียงแค่กรอกตัวเลขในแบบยื่นภาษีก็เรียบร้อย
#เงินบริจาค
#ลดหย่อนภาษี
#Vjrdonation
#ช่วยด้วยใจให้ด้วยรัก
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
โฆษณา