8 พ.ย. 2020 เวลา 16:25 • สุขภาพ
ทำไมเราต้องกังวลถึงการกลายพันธุ์​ของโคโรนาไวรัสจากมิงค์สู่มนุษย์​
สถานการณ์​ในเดนมาร์ก​
2
รัฐบาลได้ล๊อค​ดาว​น์พื้นที่ใน​ 7 เทศบาลทางตอนเหนือของเดนมาร์ก​และซึ่งมีประชากรกว่า​ 280,000​ คน​ โดยห้ามไม่ให้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ​ ปิดระบบขนส่งสาธารณะ​และร้านอาหาร​ รวมถึงการห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่​ยกเว้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง​ หลังจากกพบการระบาดจากการกลายพันธุ์​ของโคโรนาไวรัสจากตัวมิงค์สู่มนุษย์​ ส่งผลให้มีผู้ติดโควิดจากไวรัสที่มีการกลายพันธุ์​กว่า​ 200 คน
จากภาพ มิงค์ในกรงเล็กๆ กำลังมองดูเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เดินทางมาที่ฟาร์ม/ ที่มาHenning Bagger/Ritzau Scanpix/via Reuters
ถึงแม้ว่ายังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าโคโรนาไวรัสที่มีการกลายพันธุ์​นี้จะส่งผลต่อความรุนแรงของโควิด​ในมนุษย์​มากน้อยเท่าใด แต่รัฐบาลเดนมาร์ก​ตัดสินใจ​ตัดไฟแต่ต้นลมโดยการฆ่าตัวมิงค์กว่า​ 17 ล้านตัวจากฟาร์มตัวมิงค์จากฟาร์มกว่า​ 1,139 แห่งเพื่อยังยั้งการระบาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
1
เจ้าหน้าที่ใส่ชุดป้องกันเดินทางมาที่ฟาร์มมิงค์ / ที่มาHenning Bagger/Ritzau Scanpix/via Reuters
โดยขนของมิงค์ทั้งหมดจะถูกทำลาย​ และมูลค่าความสูญเสียจากการฆ่ามิงค์ครั้งนี้มีมากถึง​ 785​ ล้านดอลลาร์​ และอาจจะทำให้เดนมาร์ก​สูญเสียตำแหน่งผู้ส่งออกขนมิงค์อันดับต้นๆ​ ของโลก​
ทำไมเราต้องกังวลกับการกลายพันธุ์​ของไวรัสจากมิงค์สู่มนุษย์​
นักวิทยาศาสตร์​ชาวเดนมาร์ก​มีความกังวลเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสที่มีการกลายพันธุ์​จากมิงค์ที่พบในผู้ป่วยจำนวน​ 12​ คน​ โดยพบว่าแอนตี้​บอดี้ในร่างกายของผู้ป่วยเหล่านี้มีการจัดการไวรัสได้ไม่ดีพอ​ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพ​ของวัคซีนที่กำลังคิดค้น
ส่วนทาง​เจ้าหน้าที่​ของ​ WHO กล่าวว่าการกลายพันธุ์​เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา​และขอให้ทางเดนมาร์ก​ประเมินอาการของผู้ที่ติดเชื้อทั้ง​ 12​ คนเพื่อศึกษาลักษณะของไวรัสว่าส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีอาการแปลกไปจากเดิมหรือไม่​ และขอไม่ให้ด่วนสรุปไปว่าการกลายพันธุ์​นี้จะส่งผลต่อการพัฒนา​วัคซีน
ทางด้านนักระบาดวิทยาจากสถาบันวิจัย​ Cired จากประเทศฝรั่งเศส​ให้ความเห็นว่า​ เมื่อใดก็ตามที่ไวรัสระบาดในสัตว์​จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม​ และหากมีการเปลี่ยน​แปลงนี้มากจนมีความแตกต่างจากสายพันธุ์​ที่มีการระบาดในมนุษย์​ในปัจจุบัน​ จะส่งผลให้ทั้งการรักษาและวัคซีน​ที่กำลังคิดค้นอยู่นั้นมีประสิทธิภาพ​น้อยลง
ทำไมมิงค์จึงติดโควิดจากมนุ​ษย์
มิงค์เป็นสัตว์ตระกูลเดียวกันกับพังพอนซึ่งเป็นสัตว์ที่สามารถติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้​และสามารถแสดงอาการจากโรคได้หลากหลายเช่นเดียวกันกับมนุษ​ย์​ โดยตัวมิงค์ที่ติดโควิดอาจจะไม่แสดงอาการเลยจนกระทั่ง​มีอาการปอดติดเชื้อ
ที่มา AP
นักวิทยาศาสตร์​คาดว่าไวรัสที่มีการแพร่ระบาดในฟาร์ม​มิงค์​นั้นอาจเกิดจากการสัมผัสละอองเสมหะหรือสารคัดหลั่ง​ที่มีการปนเปื้อนไวรัสจากคนงานในฟาร์ม​
1
โคโรนาไวรัสที่มีการกลายพันธุ์​จะส่งผลกับการพัฒนาวัคซีนอย่างไร
ย้อนกลับไปในเดือนสิงหาคม​และกันยายน​ ในขณะนั้นยังไม่มีรายงานการระบาดจากไวรัสสายพัน​ธุ์​ที่มีการกลายพันธุ์​นี้ในเดนมาร์ก​ แต่ไม่ได้หมายความว่าไวรัสเพิ่งจะเริ่มกลายพันธุ์​ในเดือนตุลาคม
จากการสันนิษฐาน​ไว้เบื้องต้นที่ว่ามิงค์อาจจะติดโควิดจากคนงานในฟาร์ม​ และไวรัสก็ได้แพร่กระจาย​กลับมาที่มนุษย์​อีกรอบโดยการเปลี่ยนแปลง​ของสายพันธุกรรม​ของไวรัส
การกลายพันธุ์​ของไวรัสจากมิงค์คาดว่าเกิดจากลำดับสารพันธุกรรมบริเวณสไปก์โปรตีน (spike protein) ซึ่งเป็นโครงสร้างชั้นนอกของไวรัส ที่ใช้จับกับตัวรับบนเยื่อหุ้มเซลล์ของมนุษย์และสัตว์ที่เป็นโฮสต์ และวัคซีน​ที่กำลังพัฒนานั้นจะเข้าไปจัดการกับสไปก์โปรตีนบางส่วน
หากการกลายพัน​ธุ์เกิดขึ้นที่สายโปรตีนที่วัคซีนจะเข้าไปกระตุ้นเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกัน​ตอบสนองต่อไวรัส​ เมื่อมนุษย์​ได้รับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์​ที่มีการกลายพันธุ์​จากมิงค์​ จะทำให้วัคซีน​ที่กำลังพัฒนา​อยู่อาจใช้ไม่ได้ผล
ขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้
นักระบาดวิทยากำลังเร่งค้นหาจุดที่ไวรัสมีการ​กลายพัน​ธุ์​และอาการที่แสดงออกมาหลังจากติดไวรัส​ รวมถึงสาเหตุที่ว่าไวรัสสามารถแพร่กระจายจากตัวมิงค์​สู่คนได้อย่างไร​ เพราะการเปลี่ยนแปลงของสายโปรตีนและความหลากหลายของโฮสต์​ยิ่งทำให้การจัดการไวรัสเป็นไปได้ยากขึ้น
1
นักวิทยาศาสตร์​ในเดนมาร์ก​กำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับการกลายพัน​ธุ์​และมีแผนที่จะแจกจ่ายงานวิจัยเพื่อให้กับประเทศต่างๆ​ เพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ทั้งนี้มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์​จากประเทศเดนมาร์ก​ จีน​ และมาเลเซียได้ทำการเรียกร้องให้เฝ้าระวัง​ ควบคุม​ และแบนอุตสาหกรรม​ขนมิงค์​โดยให้เหตุผลว่าฟาร์มมิงค์ทำให้การจัดการและรับมือกับโคโรนาไวรัสเป็นไปได้ยากขึ้น
มีการค้นพบโคโรนาไวรัสในฟาร์มมิงค์ประเทศ​อื่นๆ​ ด้วยหรือไม่
เดนมาร์ก​เป็นประเทศที่มีการส่งออกขนมิงค์กว่า​ 17​ ล้านชิ้นต่อปีจากกว่า​ 1,500​ ฟาร์ม​ทั่วประเทศ​ คิดเป็นสัดส่วนทั้งสิ้น​ 40% ของการผลิตขนมิงค์​ทั่วโลก​ โดยคู่ค้ารายใหญ่คือจีนและฮ่องกง
ที่มา AP
ในแต่ละปีทั่วโลก​มีมิงค์กว่า​ 50​ ล้านตัวถูกฆ่าเพื่ออุตสาหกรรม​ขนมิงค์​ โดยมีจีน​ เดนมาร์ก​ เนเธอร์แลนด์​ และโปแลนด์​เป็นผู้เพาะเลี้ยงรายใหญ่​ของโลก และการระบาดนี้ยังพบในฟาร์ม​มิงค์ในประเทศ​เนเธอร์แลนด์​ เดนมาร์ก​ สเปน​ สวีเดน​ อิตาลี​และสหรัฐ​อเมริกา​ สำนักข่าวรอยเตอร์​รายงานว่าสเปนได้ฆ่ามิงค์กว่า​ 90,000​ ตัวในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาหลังการพบว่าคนงานในฟาร์ม​มิงค์ติดเชื้อโควิด​ ในช่วงเดือนมิถุนายนเนเธอร์แลนด์​ได้ฆ่าแม่มิงค์​ 10,000​ ตัวและลูกมิงค์​กว่า​ 50,000 ตัวเพื่อยับยั้งกา​รระบาด
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา