8 พ.ย. 2020 เวลา 23:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มารู้จักวงจรเงินสดผ่านหุ้น CPALL กัน
วงจรเงินสด (Cash Cycle) เป็นการดูสภาพคล่องของกิจการอย่างหนึ่ง วันนี้จะมาสรุปให้เข้าใจง่ายๆ พร้อมตัวอย่างวงจรเงินสดของหุ้น CPALL กัน ที่ยกตัวอย่างหุ้นนี้ เพราะหลายคนมักจะคุ้นเคยกับร้าน 7-eleven การยกตัวอย่างหุ้นนี้ ก็จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ไม่ได้มีเจตนาในการชักชวนซื้อขายหุ้นนี้นะ
ก่อนไปอ่านกันต่อว่า วงจรเงินสดคืออะไร มาเข้าใจกันก่อนว่า “เจ้าหนี้การค้า” “ลูกหนี้การค้า และ “สินค้าคงเหลือ” คืออะไรกันก่อน
เจ้าหนี้การค้า คือ ยอดเงินที่เราไปเอาของเขามาก่อนแต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน เช่น ไปเอาวัตถุดิบมาผลิตสินค้าก่อน หรือ เราไปเอาของเขามาวางขายที่ร้านเราก่อนค่อยจ่ายเงินทีหลัง
ลูกหนี้การค้า คือ ยอดขายที่เรายังเก็บเงินไม่ได้ ลูกค้ามาเอาของเราไปก่อนค่อยจ่ายเงินทีหลัง
ส่วน สินค้าคงเหลือ คือ มูลค่าของๆ ที่ยังไม่ได้ขาย ที่กองอยู่ในร้าน เพื่อจะได้มีของพอขาย ก็คือสินค้าคงเหลือ สินค้าคงเหลือนั้นจะคิดทั้งวัตถุดิบต่างๆ งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูปที่รอขาย
ลองมาดูกิจการอย่างร้าน 7-eleven กัน
เราจะเห็นว่า เมื่อเราเข้าไปในร้าน 7-eleven นั้นก็มีของบริษัทต่างๆ ยี่ห้อต่างๆ มาวางขายที่ชั้นหรือในตู้เย็นของร้าน ซึ่งโดยทั่วไปบริษัทที่มียี่ห้อต่างๆ นั้น ก็ยอมให้ 7-eleven เอาของเขามาวางขายก่อน แล้วค่อยมาเก็บเงินกับ 7-eleven ทีหลัง เพราะเขาก็อยากขายของได้ ดังนั้นบริษัทต่างๆ ที่ยอมเอาของมาวางขายก่อนจะอยู่ในฐานะ “เจ้าหนี้การค้า” ของ 7-eleven ส่วนของที่วางอยู่ที่ร้านที่ยังไม่ได้ขายคือ “สินค้าคงเหลือ” เมื่อเราเข้าไปซื้อของในร้าน 7-eleven เราจะอยู่ในฐานะ “ลูกหนี้การค้า” ของร้าน แต่จะเห็นว่า เมื่อเราจะหยิบของออกจากร้าน เราต้องจ่ายเงินให้ 7-eleven เลย
ดังนั้น ถ้าเราพอเข้าใจตรงนี้ เราจะมองภาพออกแล้วว่า ร้าน 7-eleven นั้นรับเงินจากลูกค้าแทบทันทีที่ขายของได้ สินค้าที่วางอยู่ในร้านก็น่าจะหมุนได้ค่อนข้างเร็ว และมีเครดิตเทอมของเจ้าหนี้การค้าที่เอาของมาวางให้ 7-eleven ขายก่อนได้และค่อยมาเก็บเงินที่หลัง
ต่อมามาเข้าใจ “วงจรเงินสด” กัน วงจรเงินสดนั้น เป็นการดูเงินสดว่า ตั้งแต่เอาเงินไปซื้อวัตถุดิบมาทำของขายหรือไปซื้อของมาเพื่อมาวางขาย ขายของได้ จนเก็บเงินจากลูกค้าได้ ในวงจรนี้ใช้เวลานานเท่าไหร่ เราจะเห็นว่าวงจรเงินสดจะแบ่งเป็น 3 ช่วง
1. ช่วงระยะเวลาขายสินค้า
2. ช่วงระยะเวลาที่ได้รับเงินจากลูกหนี้การค้า คือ ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย
3. ช่วงระยะเวลาที่จ่ายเงินให้เจ้าหนี้ที่เราไปรับของเขามาขาย คือ ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า
วงจรเงินสดจะคิดจากระยะเวลาทั้ง 3 ช่วงนี้
วงจรเงินสด = ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย + ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย – ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า
วงจรเงินสดจะมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละลักษณะธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ดังนั้นเวลาเปรียบเทียบต้องเปรียบเทียบกับอดีตของกิจการ หรือเปรียบเทียบกับกิจการที่คล้ายกัน
ธุรกิจค้าปลีกที่แข็งแกร่ง เราจะเห็นวงจรเงินสดติดลบได้ เช่น CPALL เราลองนึกถึงร้าน 7-eleven ไว้นะ
ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ยสั้น: ขายของได้เร็ว ไม่มีของค้างนาน
ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย: เก็บเงินจากลูกค้าได้เร็ว เราไปซื้อก็ต้องจ่ายเงินเลย
ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า: ใครๆ ก็อยากเอาของไปขายใน 7-eleven ส่วนใหญ่ก็ยอมเอาของไปวางไปวางก่อน แล้วค่อยมาเก็บเงินทีหลัง
วงจรเงินสด CPALL เลยเป็นแบบนี้ ในงบ 6M/2563 (ในรูปด้านล่างของมีวงจรเงินสดจากงบจริงของ CPALL ให้ดูนะ ซึ่งเราสามารถหาดูได้จากเว็บไซต์ของ set ในส่วน “สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน”)
ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย 24.62 วัน
ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย 0.93 วัน
ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า 59.40 วัน
ดังนั้นวงจรเงินสด = ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย + ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย – ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า
วงจรเงินสด ก็จะเท่ากับ 24.62 + 0.93 – 59.40 = -33.85 วัน
จะเห็นว่า วงจรเงินสดที่ติดลบนั้นเป็นจากที่ขายของได้เร็ว เก็บเงินจากลูกค้าได้เร็ว และมีเครดิตเทอมจากเจ้าหนี้การค้านาน แสดงว่า 7-eleven มีเงินสดมากองที่ตัวเองถึง 33.85 วัน ซึ่งเงินตรงนี้เขาก็สามารถนำไปทำอย่างอื่นก่อนก็ได้
เมื่อลองดูเทียบกับวงจรเงินสดในอดีตของ CPALL เราจะเห็นว่า วงจรเงินสดนั้นติดลบน้อยลง แต่การที่เป็นลักษณะนี้ เราจะเห็นว่า ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย กับ ระยะเวลาเก็บเงินจากลูกหนี้ แทบไม่ต่างจากเดิม แต่ ระยะเวลาจ่ายเงินเจ้าหนี้การค้าเร็วขึ้นเป็นเหตุ ซึ่งตรงนี้อาจมองได้ 2 อย่าง คือ เจ้าหนี้ให้เครติดเทอมสั้นลง หรือ 7-eleven ใจดีจ่ายเงินเจ้าหนี้เหล่านี้เร็วขึ้น
ดังนั้นการเทียบวงจรเงินสด ก็ควรเทียบกับลักษณะธุรกิจที่คล้ายกัน และที่สำคัญคือเทียบกับอดีตที่ผ่านมาของตัวกิจการนั้นเองด้วยนะ
#วงจรเงินสด
#งบการเงิน
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
โฆษณา