11 พ.ย. 2020 เวลา 03:51 • การศึกษา
ไม่ว่าใครก็ต้องการให้ตนเองเป็นที่รักด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะไปที่ไหนถ้าผู้คนรอบข้างรักและพอใจเรา เราก็รู้สึกสบายใจ เดิมทีเรามีคนรักขนาดไหน ปีใหม่ก็ปรับเปลี่ยนตนเองให้มีคนรักมากขึ้น คนไม่ชอบเราน้อยลง เราน่าจะอยู่เป็นสุขมากขึ้น แต่หัวใจคือแล้วเราจะทำอย่างไรให้มีคนรักมากขึ้นล่ะ
1
หลักเรื่องการทำตัวให้เป็นที่รักไม่มีอะไรเกิน “สังคหวัตถุ 4” ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้คือ (1) ทาน (2) ปิยวาจา (3) อัตถจริยา และ (4) สมานัตตตา ถ้าเราทำได้
แค่ 4 ข้อนี้ รับรองว่าเราจะต้องเป็นที่รักของทุกคนอย่างแน่นอน
หลัก “สังคหวัตถุ 4” มีดังนี้
1.ทาน
การที่เราเป็นคนมีน้ำใจไม่เห็นแก่ตัว ใคร ๆ ก็ชื่นชอบ ถ้าให้เราเลือกคบคน เราจะเลือกคบคนเห็นแก่ได้หรือคนมีนํ้าใจ ใคร ๆ ก็เลือกคบคนมีนํ้าใจทั้งนั้น แต่หลุมพรางที่มาพร้อม ๆ กับความมีนํ้าใจคือ “ความรู้สึกเป็นเจ้าบุญ นายคุณ” รู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าแล้วไปข่มเขา
“มนุษย์” แปลว่า “ผู้มีใจสูง” ไม่มีใครชอบโดนข่มให้ตํ่าลง ถ้าเขาช่วยเหลือเรา มีนํ้าใจเกื้อกูลเรา เราก็ดีใจ เราก็ชอบใจ แต่ถ้าเมื่อใดที่เขามีอาการข่มเราด้วย เมื่อนั้นเราจะรู้สึกไม่ชอบใจทันที สิ่งที่เขาได้ช่วยเหลือเราไว้ก็เหมือนจะหายไปหมดทันทีด้วย
เมื่อต้องการเป็นที่รัก นอกจากจะมีนํ้าใจช่วยเหลือคนอื่นแล้ว เราจะต้องไม่ไปข่มเขา รู้จักให้เกียรติคนอื่น เห็นคุณค่าของคนทุกคนเสมอกัน แม้เราจะช่วยเหลือเขา
เราก็ควรตระหนักคุณค่าในตัวเขาด้วย ทำได้อย่างนี้แล้วเราก็จะเป็นคนมีเสน่ห์ ไปไหนใคร ๆ ก็ชื่นชมแบบที่เราไม่ต้องพยายามยกตนข่มท่าน แต่คนรอบข้างจะยกย่องเราเองแล้วเราจะเป็นที่ยอมรับของทุกคน
การช่วยเหลือคนนั้นต้องมีศิลปะ ถ้าใครมาขอความช่วยเหลือแล้วเราช่วยเขาหมดทุกคนเราก็แย่ แล้วเราจะช่วยแบบไหนให้พอดีและดีพอโดยไม่ตกหลุมพราง ก็คือให้เราช่วยในสิ่งที่เขาต้องการ
ช่วยในสิ่งที่เขาร้องขอ ช่วยในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ช่วยแบบหว่านไปทั่ว ถ้าช่วยแบบหน้าใหญ่ใจโต ตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้าล่ะก็ มีเท่าไรก็หมด มีเท่าไรก็ไม่พอ ที่สำคัญประโยชน์ก็เกิดขึ้นน้อย
เพราะฉะนั้น การช่วยเหลือคนอื่นนั้นต้องรู้จักกำลังของตนเอง แล้วศึกษาวิธีการในการช่วยเหลือเขาให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย อย่างนี้ถึงจะไม่กระทบตนเองและไม่
กระทบคนอื่นคือ ไม่เดือดร้อนทั้งตนเองและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นจริง ๆ ด้วย
2. ปิยวาจา
ปิยวาจาคือ คำพูดที่ไพเราะ อย่างไรที่เรียกว่าพูดไพเราะ ก็ให้ดูง่าย ๆ ว่าพูดแล้วใจผู้ฟังสูงขึ้น ฟังแล้วสบายใจ ฟังแล้วมีความสุขใจนั่นเอง ไม่ใช่ว่าพูด “ครับผม ๆ” แต่กลับใช้วาจานั้นเชือดเฉือนให้เขาคับแค้นใจ ต้องเป็นวาจาที่ฟังแล้วรื่นหู สบายใจ ใจผู้ฟังยกสูงถึงจะเรียกว่า “ปิยวาจา”
สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอาจจะใช้สรรพนามเรียกกันกู ๆ มึง ๆ นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ประเด็นสำคัญคือ การให้เกียรติกัน เมื่อพูดสื่อสารไปแล้ว ผู้รับสารฟังแล้วรู้สึกสบายใจ ใจเขายกสูงขึ้นอย่างนี้ เป็นต้น
มีประเด็นสำคัญที่อยากฝากไว้คือ พอพูดถึงเรื่องปิยวาจา คนมักจะนึกถึงแต่เรื่องการพูด แต่ความจริงปิยวาจาคลุมถึงการสนทนาด้วยคือ พอเราพูดเราต้องฟังด้วย บางคนพูดเก่ง พูดไม่หยุดจนคนอื่นรำคาญ แต่ถ้าเรารู้จักฟังคือ พอคนอื่นพูดก็รับฟังด้วยความตั้งใจ เราก็จะกลายเป็นคนมีเสน่ห์
เท่าที่มีโอกาสพบกับผู้คนในแวดวงต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะในแวดวงธุรกิจ หรือแวดวงการเมืองก็ตามพบว่า ส่วนใหญ่เขาเป็นผู้ฟังที่ดี เวลาคนอื่น
พูดเขาจะตั้งใจฟัง และจับประเด็นเนื้อหาจริง ๆ ทำให้เขาได้สาระประโยชน์จากเรื่องนั้น ๆ ด้วย
เขาจะมองออกเลยว่าผู้พูดมีเจตนาอย่างไร ขณะที่ฟังก็มองสีหน้าและแววตาผู้พูด เขาจึงดูออกเลยว่าแต่ละคนที่มานั้นมีเจตนาอะไร จริงใจแค่ไหน สาระคำพูดมีประโยชน์
ควรแก่การรับฟัง ควรแก่การนำไปปฏิบัติมากน้อยขนาดไหน แล้วประเมินศักยภาพของผู้พูดออกทำให้ “มองคนออก” เพราะฉะนั้น การฟังอย่างตั้งใจให้ประโยชน์มากทีเดียว
เราเองพอพูดออกไปแล้วมีคนฟังอย่างตั้งใจ เราจะรู้สึกเลยว่าเขาน่ารักและมีเสน่ห์มาก เพราะฉะนั้น อานุภาพแห่งการฟังจริง ๆ แล้วไม่ได้น้อยไปกว่าการพูดเลย เราจะ
มีปิยวาจาได้ต้องสื่อสารเป็น พูดให้เป็นและฟังให้เป็นด้วย อย่างนี้เราก็จะเป็นที่รักได้ไม่ยากเลย
3. อัตถจริยา
โดยทั่วไป “อัตถจริยา” แปลความหมายว่า “ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น” แต่ก็มีนัยยะแฝงที่อยากให้เราทุกคนให้ความสำคัญคือ “เราจะทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ ตัวเราต้องเป็นคนมีประโยชน์ก่อน”
ตรงนี้ต้องนำหลัก “อิทธิบาท 4” มาเสริมด้วยคือ เราจะเป็นคนที่มีประโยชน์ มีศักยภาพ และมีความสามารถเราก็ต้องมีอิทธิบาท 4 คือ “ฉันทะ” มีความเต็มใจทำ “วิริยะ” มีความพากเพียรอุตสาหะ “จิตตะ” มีใจจดจ่อ ทำอะไรใจก็แน่วแน่ ไม่วอกแวกฟุ้งซ่าน และ “วิมังสา” มีความเข้าใจทำ เหล่านี้คือการพัฒนาศักยภาพของตัวเราโดยตรง
เพราะฉะนั้น ใครที่ต้องการเป็นคนมีเสน่ห์ ก็ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ อย่าว่าแต่อื่นไกล ยกตัวอย่าง สามีภรรยาจะครองชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน ถือว่าใกล้ชิดฝากชีวิตไว้แก่กัน จะมีเสน่ห์ผูกมัดใจอีกฝ่ายได้ดีก็ต้องมีความรู้ความสามารถ
ถ้าแม่บ้านเอาแต่แต่งตัวสวย ต่อให้หน้าตาดีแต่งานบ้านไม่ดูแล บ้านช่องห้องหอไม่ดูแล ทำกับข้าวไม่เป็น ไม่ดูแลครอบครัว ไม่ดูแลลูก ถามว่าถึงจะแต่งตัวสวย ๆ แล้ว
เสน่ห์ที่มีในตัวจะอยู่ได้นานไหม ตอบได้เลยว่า “ไม่ยั่งยืน”
เช่นเดียวกัน ถ้าพ่อบ้านแต่งตัวหล่อ ๆ พูดจาดี เอาใจเก่ง แต่เป็นคนไม่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ไม่มีความสามารถในการทำงาน หาเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ ฉาบฉวยเหมือนจะดี
แถมบางทีไปยุ่งกับอบายมุขด้วย เล่นการพนันด้วย กินเหล้าเที่ยวกลางคืนอีก ถามว่าพ่อบ้านอย่างนี้จะมีเสน่ห์ในตัวหลงเหลืออยู่นานไหม ก็ตอบได้เลยว่า “ไม่นาน” เขาจะไม่เป็นที่รักแม้แต่ของภรรยาตนเอง เพราะเขาทำให้ภรรยารู้สึกว่าพึ่งพาไม่ได้
เพราะฉะนั้น คนทุกคนจะอยู่ในสังคมใดก็แล้วแต่ เราจะเป็นที่รักได้ก็ต้องทำตนเองให้เป็นคนมีความรู้ความสามารถ ให้เป็นคนมีประโยชน์ การที่เราจะพัฒนาความรู้
ความสามารถให้เป็นคนที่มีประโยชน์ได้ ก็ต้องปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตของตนเอง
บางคนมีความรู้สึกว่าอยากจะพัฒนาตนเอง แต่ไม่ได้มุ่งหมายให้เป็นที่รักหรอก แค่อยากจะประสบความสำเร็จในชีวิตเท่านั้น เรื่องที่คนอื่นจะรักหรือไม่รักนั้นเป็นแค่ประเด็นรอง ตั้งใจเท่าไรก็ไม่ประสบความสำเร็จสักที เพราะยังไม่ได้ปรับรูปแบบชีวิตของตนเอง
“การปรับรูปแบบชีวิตคือ การปรับวิถีการดำเนินชีวิต” เริ่มต้นตั้งแต่ปรับสิ่งแวดล้อม ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราให้ดี เช่น ห้องที่เราอยู่ต้องสะอาด ปฏิรูปห้องใหม่ด้วยการจัดข้าวของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดสะอ้าน กวาดหยากไย่ถูพื้นให้สะอาดเอี่ยม ผ้าคลุมเตียงผ้าห่มซักให้สะอาดเรียบร้อย
ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราจัดเก็บให้เข้าที่เข้าทาง ปฏิรูปสิ่งแวดล้อมรอบตัวเริ่มจากห้องนอนของเรา ห้องนั่งเล่นในบ้านของเรา ไปจนถึงโต๊ะทำงานในที่ทำงานของเรา อะไรที่ไม่ใช้เก็บหมกไว้ 5 ปี 10 ปี จนกองพะเนินก็สะสางให้เรียบร้อย ชีวิตของเราจะได้เป็นระเบียบ
พอปรับสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้ว ก็ให้ปรับตารางเวลาที่เราทำในแต่ละวันให้ลงตัว ทั้งเวลาตื่น เวลาเข้านอน เวลาทำงาน เวลาออกกำลังกาย เวลาพักผ่อน แล้วกัดฟันทำให้ได้จริง ๆ ติดต่อกันอย่างน้อย 7 วันแรก
แล้วรูปแบบชีวิตเราจะค่อย ๆ เคลื่อนเข้าที่ ถ้าทำอย่างนี้ผ่านไป 21 วันแล้วล่ะก็ จะเริ่มเกิดเป็นการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ เกิดเป็นนิสัยใหม่ในการดำรงชีวิตของเราเอง ที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ผ่านการไตร่ตรองวางแผนอย่างดีแล้ว
ซึ่งจะทำให้เรากลายเป็นคนกระตือรือร้นในการทำงาน จากที่เคยเหงาหงอย เฉื่อยชา เซื่องซึม อาการเหล่านี้ก็จะหายไป เกิดความกระตือรือร้น เกิดไฟในการทำงาน แล้วเราก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเอง ศึกษาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดชีวิต กลายเป็นคนที่มีความสามารถและมีประโยชน์
แล้วสามารถทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้คนรอบข้างได้ เราก็จะกลายเป็นคนที่มี “อัตถจริยา” มีเสน่ห์ และเป็นที่รักของคนอื่น ๆ
4. สมานัตตตา
โดยทั่วไปแปลว่า “วางตนสม่ำเสมอ วางตนเหมาะสม” ในเชิงปฏิบัติคือ ต้องเป็นคนที่เข้าใกล้ได้ง่าย มีความเป็นมิตร เข้าหาคนอื่นอย่างนุ่มนวล อ่อนน้อมถ่อมตน
ใครเข้าใกล้ก็รู้สึกสบายใจ ผู้ใหญ่เมตตา ผู้น้อยเคารพรัก ใครที่ได้อยู่ใกล้ก็รู้สึกสบายใจ เพราะเป็นลักษณะสไตล์พบง่าย คุยง่าย แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ อารมณ์ไม่หวือหวา ไม่ใช่วันนี้พบง่าย พรุ่งนี้หน้ายักษ์ อะไรอย่างนี้ คนก็วางตัวไม่ถูก ปรับใจไม่ทันต้องคอยดูสีหน้า
คนรอบข้างก็อึดอัด เสน่ห์ก็ลดลง เราต้องเป็นมิตรอย่างสม่ำเสมอ วางตัวเหมาะสมกับฐานะบทบาทของตนเอง จึงจะถือว่าเป็นคนที่มีสมานัตตตา
ไปศึกษาดูเถอะหนังสือ How to ทั้งโลกนี้ ด้านการทำตนให้เป็นที่รักนั้น ไม่เกินหลักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 4 ข้อนี้หรอก ถ้าเราตั้งใจปรับชีวิตด้วยหลักของทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตาได้แล้ว เราก็จะเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่เป็นที่รักของทุกคนได้อย่างแน่นอน
เจริญพร
โฆษณา