22 พ.ย. 2020 เวลา 09:28
เตรียมพร้อม สำหรับภาษีเงินได้ปี 2563
#1 เงินได้ประเภทต่างๆ
เหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งเดือนเศษ ก็จะสิ้นปี 2563 แล้ว ขอทำซีรีย์บทความเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อช่วยเป็นแนวทางการวางแผนภาษีเงินได้ปี 2563 ครับ
ก่อนที่จะพูดถึงภาษีเงินได้บุคคลฯ เรามาทำความรู้จักเงินรายได้ที่รัฐเก็บได้ในแต่ละปีกันก่อนครับ
Credit : Unsplash.com
ปี 2562 ที่ผ่านมารัฐมีรายได้สุทธิจาก"การเก็บภาษีทางตรงและทางอ้อม" รวมกับ"เงินที่หน่วยงานต่างๆ นำส่ง" เป็นเงิน 2.676 ล้านล้านบาท รายได้ของรัฐส่วนใหญ่กว่า 86% มาจากการเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ โดย 61% มาจากกรมสรรพากร 22% จาก กรมสรรพสามิต 3% จากกรมศุลกากร อีก 13% ที่เหลือเป็นเงินรายได้อื่นๆ เช่น จาก ปตท และรัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นต้น
ภาษีที่เราคุ้นเคยส่วนใหญ่ เป็นภาษีที่ถูกเรียกเก็บโดยกรมสรรพากร โดยภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินภาษีที่มีสัดส่วนมากสุด คิดเป็น 40% ของรายได้กรมสรรพากร ตามด้วยภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก 35% สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เป็นซีรีย์บทความนี้ มีสัดส่วน 17% ของภาษีที่กรมสรรพากรเก็บได้ หรือหากคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐจะเท่ากับ 10% เท่านั้น
ดังนั้นถ้าดูโดยรวมจะเห็นว่าภาษีที่รัฐได้ส่วนใหญ่เป็นภาษีทางอ้อมที่เก็บจากการบริโภค ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตต่างๆ ซึ่งเราเสียภาษีผ่านการซื้อหรือใช้สินค้าและบริการต่างๆ นั่นเอง
1
ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพนะครับ
สมมุติ นาย เอ มีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาท เท่ากับปีละ 360,000 บาท เงินได้พึงประเมินของนายเอเท่ากับ 200,000 บาท มีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่ากับ 2,500 บาท แต่ละเดือนนายเอใช้จ่ายเท่ากับ 50% ของรายได้ หรือ 15,000 บาท เท่ากับปีละ 180,000 บาท นายเอน่าจะเสียภาษีทางอ้อมเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 11,776 บาท รวมนายเอเสียภาษี 14,276 บาท คิดเป็น 4.0% นอกจากภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว นายเอ อาจเสียภาษีสรรพสามิต และภาษีอื่นๆ อีกด้วย
เปรียบเทียบกับนาย บี มีรายได้ต่อเดือน 60,000 บาท เท่ากับปีละ 720,000 บาท เงินได้พึงประเมินของนายบี เท่ากับ 560,000 บาท มีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่ากับ 36,500 บาท นายบีมีภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายเท่ากับ 50% ของรายได้ เท่ากับ 23,551 บาท นายบีจึงเสียภาษีรวมปีละ 60,051 บาท คือเป็น 8.3% ของรายได้
คงจะพอเห็นภาพแล้วนะครับว่ารัฐเก็บภาษีอะไรไปบ้างและได้เงินจากภาษีแต่ละประเภทมากน้อยแค่ไหนนะครับ
❔ Quiz : ลองคำนวณดูครับว่าเราจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาฯ ปีละเท่าไหร่ (แบบคำนวณเบื้องต้น เช่น https://www.kasikornasset.com/Pages/CalTax.html) และเราจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านการบริโภคเท่าไหร่ แล้วเปรียบเทียบว่าเราจ่ายภาษีแบบไหนมากกว่ากัน
เมื่อมีรายได้สูงขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะเสียภาษีเงินได้สูงขึ้น เพราะอัตราภาษีเป็นแบบก้าวหน้านั่นเอง
เงินได้พึงประเมินประเภทต่างๆ ตามประมวลรัษฎากร
Credit : Unsplash.com
ทีนี้มาทำความรู้จักกับเงินได้ประเภทต่างๆ หรือเงินได้พึงประเมินที่กรมสรรพากรใช้ในการเก็บภาษีเงินได้จากเราครับ เหตุผลหนึ่งที่กรมสรรพากรแยกประเภทเงินได้ก็คือค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันของเงินได้แต่ละประเภท เนื่องจาก ผู้มีเงินได้ประกอบอาชีพแตกต่างกัน มีความยากง่ายหรือต้นทุนที่แตกต่างกัน เพื่อความ เป็นธรรม ในกฎหมายจึงได้แบ่งลักษณะเงินได้(พึงประเมิน) ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสมเพื่อกำหนดวิธีคำนวณภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ดังนี้
1. เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และยังรวมถึง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินค่าเช่าบ้านที่นายจ้างจ่ายให้ เงินที่น่ายจ้างช่วยชำระหนี้แทนลูกจ้าง มูลค่าของการได้รับประทานอาหาร เป็นต้น
2. เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้จากการรับทำงานให้ เช่น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด (ข้อสังเกตุคือ เงินได้ประเภทนี้การรับเงินอยู่ในสถานะการรับจ้าง แต่ถ้าเป็นเงินได้ประเภทแรกการรับเงินอยู่ในสถานะลูกจ้าง)
3. เงินได้ประเภทที่ 3ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
4. เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ เป็นต้น เงินได้ประเภทนี้กฎหมายอาจให้สิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยวิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนการนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นตามหลักทั่วไปได้
5. เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
6. เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
7. เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ (เงินได้ประเภทนี้ต่างจากประเภทที่ 2 คือ เป็นการรับเหมาที่รวมการจัดหาสัมภาระ ในขณะที่ประเภทที่ 2 ไม่ได้มีการรวมการจัดหาสัมภาระ)
8. เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว
❔ Quiz : ลองดูนะครับว่าเรามีรายได้ในประเภทอะไรบ้าง บางคนอาจมีเงินได้ประเภทเดียว ในขณะที่บางคนมีเงินได้หลายประเภท เวลาคำนวณภาษีก็จะมีความซับซ้อนขึ้น แต่หากไม่ใช่เงินได้ที่ได้รับสิทธิเลือกยื่นรวมหรือไม่ยื่นรวม ก็ต้องนำเงินได้ทั้งหมดยื่นแบบแสดงรายได้นะครับ
คำชี้แจงจากกรมสรรพากร : ประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับประเภทเงินได้ที่คล้ายคลึงกัน
เกี่ยวกับเงินได้ที่คล้ายกันระหว่าง ประเภท 2 / 6 / 7 / 8
ความแตกต่างของเงินได้ประเภท 1 / 2 ที่กรมสรรพากรใช้เป็นหลักเกณฑ์กำหนด
ความแตกต่างของเงินได้ประเภทที่ 2 และประเภทที่ 8 ในบางลักษณะงาน
บทความตอนต่อไป มาดูกันครับว่าเกณฑ์ภาษี และอัตราภาษีเงินได้เป็นอย่างไร
สามารถอ่านบทความในซีรีย์นี้ ที่ https://www.blockdit.com/series/5fba2fa29115840cad27932
#1 เงินได้ประเภทต่างๆ
#2 เกณฑ์ยื่นแบบและเกณฑ์ภาษี
#3 ค่าลดหย่อนประจำปี 2563
#4 การวางแผนภาษี
#5 การเครดิตภาษี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา